ร้อนนี้…สดชื่นดับกระหายด้วยน้ำเก๊กฮวย ดีต่อผู้ป่วยหัวใจและมะเร็ง / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ
เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
วันนี้ เป็นวันที่ร้อนอบอ้าวที่สุดกว่าทุกวัน คุณชูสง่าจึงชวนลูกก๊วนแวะร้านกาแฟของน้องจีจี้ อดีตแคนดี้ที่ออกมาหารายได้เป็นกระเป๋าที่สองที่ตอนนี้โตกว่ากระเป๋าแรก ทิ้งน้องมายด์ลูกพี่ลูกน้องให้ดูแลคุณชูสง่าแทน และฝากมาเชิญชวนให้มาใช้บริการที่ร้าน “โอยั้วโอเลี้ยงไม่มีนะเฮีย มีแต่ม๊อคค่า คาปู” เจ้าเก่งเริ่มกวน ปลุกอารมณ์เฮียชู “น้ำผลไม้ก็มีจ้าเฮีย” น้องจีจี้นำเสนอเสียงอ้อนเหมือนเคย “มีทั้งสตอร์เบอร์รี่ แอปเปิ้ล สัปปะรส ปั่น น้ำเก๊กฮวย ชาเขียว กระเจี๊ยบ น้ำพั้นซ์ ก็มีนะคะเฮียขา เอาอะไรดีคะ?” เฮียชูอมยิ้มหันหน้าไปทางพี่หมอเชิงปรึกษา ร้อนๆอย่างนี้ดื่มอะไรดับร้อนดี พี่หมอเห็นหัวแม่มือเฮียก็เข้าใจดี “เอาน้ำเก๊กฮวย 2 แก้วจ้า…ไอ้เก่ง มึงสั่งของมึงเองนะ”
เก๊กฮวย เครื่องดื่มสุดโปรดของใครหลายคนด้วยความหอมหวานสดชื่นกินแล้วเย็น จึงเหมาะกับหน้าร้อนเป็นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่าเก๊กฮวยมีดีกว่านั้นอีกทั้งบำรุงหัวใจ ลดการอักเสบจากการรักษาของผู้ป่วยมะเร็ง
เก๊กฮวย (Chrysanthemum)มีอีกชื่อที่เป็นไทยๆ คือ เบญจมาศสวน หรือ เบญจมาศหนู อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ ดอกทานตะวันและดอกดาวเรือง นิยมน้ำมาต้มกินเป็นชาสมุนไพรรสชาติละมุนลิ้น กลิ่นเฉพาะตัวที่สดชื่นไม่ว่าใครก็ติดใจ ซึ่งนอกจากความอร่อยลงตัวแล้วยังเต็มไปด้วยประโยชน์จากกรดคลอโรจีนิก รวมทั้งน้ำมันหอมระเหยอีกหลายชนิดที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
สรรพคุณของเก๊กฮวย
– เป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ
– ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดื่มขณะร้อน
– มีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิต
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
– ช่วยบำรุง ปอด ตับ ไต ด้วย
– ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
– ลดการบวมอักเสบจากการรักษาโดยการฉายแสงหรือเคมีบำบัดได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับในการทำน้ำเก๊กฮวยกินเองเพื่อความสดชื่นรับหน้าร้อน
– ล้างดอกเก๊กฮวยแห้งให้สะอาด ใส่น้ำให้ท่วม แล้วตั้งไฟให้เดือด
– สามารถใส่สมุนไพรจีนตัวอื่นๆเสริมได้ เช่น ลูกพุทราจีน หล่อฮั่งก๊วย เป็นต้น
– กรองดอกเก๊กฮวยและสมุนไพรอื่นๆออกโดยใช้ตะแกรงหรือผ้าขาวบาง
– เติมน้ำตาล เพื่อเพิ่มรสชาติได้พอเหมาะอย่าให้หวานมาก ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น
มีข้อควรระวัง คือ
– การกรองดอกเก๊กฮวยออก ห้ามบี้เด็ดขาด เพราะจะขม ถ้าดื่มน้ำเก๊กฮวยแล้วออกรสเปรี้ยว สาเหตุอาจเกิดจากใส่ดอกเก๊กฮวยมากเกินไปหรือใช้เวลาต้มนานเกินไป
– การเลือกซื้อน้ำเก๊กฮวยพร้อมดื่มบรรจุขวด ควรอ่านฉลากเพื่อพิจารณาถึงพลังงานและน้ำตาลที่จะได้รับด้วย
– ผู้ที่มีอาการ ท้องร่วง ถ่ายบ่อย ควรรับประทานแต่น้อย
หวังว่าน้ำเก๊กฮวยจะเป็นเครื่องดื่มรับหน้าร้อนที่ดีมีประโยชน์มากกว่าโทษต่อร่างกายเพราะใส่น้ำตาลมากเกินไปและอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าตามที่ร่างกายต้องการด้วยนะครับ
(ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งและมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย)