สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีไทย หรือไทย ดับเบิลยู พีจีเอ (THAI WPGA) พร้อมจัดการแข่งขันกอล์ฟอาชีพสตรีรายการ “เอสเอที-ไทยวีเมนส์ทัวร์ โอเพ่น” หรือ “SAT-TWT OPEN” ROAD TO WORLD RANKING สนามที่ 8 ชิงเงินรางวัลรวม 2.5 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2565 ณ สนามระยอง กรีนวัลเล่ย์ คันทรีคลับ พาร์ 72(37-35) ระยะ 6,378 หลา จ.ระยอง
รายการนี้เป็นการแข่งขันแมตช์ที่ 8 และเป็นหนึ่งในสิบรายการแข่งขันประจำปี 2021-2022 และยังเป็นแมตช์ที่จะนำไปสู่การคิดคะแนนสะสมอันดับโลกในอนาคต มีเงินรางวัลรวม 10 รายการในการจัดแข่งขันฤดูกาลแรกทั้งสิ้น 25 ล้านบาท เป็นการแข่งขันแบบสโตรกเพลย์ 3 วัน 54 หลุม โดยหลังจบ 36 หลุมจะตัดตัวที่อันดับ 60 และเสมอเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 367,500 บาท
สนามนี้จะมีนักกอล์ฟชั้นนำที่ตอบรับร่วมลงแข่งอาทิ โปรปลาย-พัชรจุฑา คงกระพันธ์ มือทำเงินอันดับ 1 จากขอนแก่น เจ้าของแชมป์สนาม 4, 5 และ 7, โปรเปียโน-อาภิชญา ยุบล จากสระบุรี รองแชมป์ร่วมสนามที่ 7, โปรบิว-กันยลักษณ์ ปรีดาสุทธิจิตต์ จากชลบุรี เจ้าของแชมป์เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยน ไทยแลนด์ แชมเปียนชิพ ปี 2018 และสองโปรหน้าใหม่อย่างโปรสตางค์-กรกมล ศุขอารีย์ และโปรอาโป-ชลชีวา วงษรัศม์ เป็นต้น
“เอสเอที-ไทยวีเมนส์ทัวร์ โอเพ่น” (SAT-TWT OPEN) จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัท พี โอเวอร์ ซี สตีล จำกัด (มหาชน) กอล์ฟไพรด์ และสนามกอล์ฟระยอง กรีนวัลเล่ย์ คันทรี คลับ ทั้งนี้แฟนกอล์ฟสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวการแข่งขันได้ทาง เฟซบุ๊ก THAI WPGA และเว็บไซต์ http://www.thaiwpga.com และติดตามชมถ่ายทอดสดการแข่งขัน (Live Streaming) ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก THAI WPGA ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. จนจบการแข่งขัน
………………………………………..
เกี่ยวกับ THAI WPGA
สมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรีไทย (THAI WPGA) ก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมและพัฒนานักกอล์ฟอาชีพสตรีไทยโดยผ่านการแข่งขันของทางสมาคม ที่จะต่อยอดให้มีคะแนนสะสมอันดับโลก (World Rankings) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้นักกอล์ฟอาชีพสตรีไทยมีโอกาสก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนา ส่งเสริม นักกอล์ฟอาชีพสตรีไทย ให้มีความสามารถทัดเทียมนานาชาติ โดยการสร้างทัวร์นาเมนต์เก็บคะแนนสะสมโลก Rolex World Ranking และพัฒนา ส่งเสริม นักกอล์ฟอาชีพสตรีไทยที่ความสามารถไม่ถึงระดับสูง ได้มีโอกาสหาประสบการณ์ โดยสร้างทัวร์นาเมนต์รอง และเป็นการสร้างนักกอล์ฟสตรีหน้าใหม่ และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.