‘ไตรยฤทธิ์’แบ่งงาน 3 รองอธิบดีดีเอสไอ – ‘ปิยะ รักสกุล’คุมคดีบุกรุกทรัพยากรฯ

เขียนวันที่

วันพุธ ที่ 05 ตุลาคม 2565 เวลา 17:04 น.

051022 dsi 

อธิบดี DSI ออกคำสั่งแบ่งงาน 3 รองอธิบดี ยึดนโยบาย 5 ข้อใหญ่ เน้นยึดทรัพย์ เยียวยาผู้เสียหาย รวดเร็ว ‘ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล’ ลูกหม้อ กำกับดูแล กม. ทรัพยากรธรรมชาติฯ ป่าไม้ ที่ดิน มีคดีสำคัญในมืออื้อ ลั่นรักษาประโยชน์ของรัฐ ประชาชน


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกคำสั่งแบ่งหน้าที่รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำกับดูแลกองคดีต่างๆในกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย มอบหมายให้ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนใหม่ กำกับดูแลกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทน พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ ที่เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกำกับดูแลกองคดีต่างๆตามความเหมาะสมและความถนัดของแต่ละคนและได้ให้นโยบายกับรองอธิบดีทั้ง 3 ยึดถือปฎิบัติตามวิสัยทัศน์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีดังนี้

1. เน้นการยึดทรัพย์ตัดวงจรการกระทำผิด และนำทรัพย์ที่ได้จากการ กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อเยียวยาผู้เสียหาย หรือให้ตกเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ในคดีที่มีมูลฐานความผิดของ พระราชบัญญัติ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามแนวทางท่านรัฐมนตรี ที่สร้าง ต้นแบบไว้ มูลฐานความผิดคดีฟอกเงิน เช่น การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ผู้หญิงและเด็ก ฉ้อโกงประชาชน การพนัน หลบหนีศุลกากร ความผิด เกี่ยวกับหลบเลี่ยงภาษี ความผิดเกี่ยวกับการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ทรัพยากรธรรมชาติลักษณะเป็นการค้า เป็นต้น

2. ลดระยะเวลาการสืบสวนสอบสวน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ในทุกกระบวนการของการปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ และบูรณาการความร่วมมือ กับทุกหน่วยงาน เพื่อให้ได้มาถึงข้อมูล และพยานหลักฐานเชิงรุก

3. ยกระดับมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน และการบังคับใช้กฎหมาย ให้ทัดเทียม FBI โดยจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับ FBI และจะพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมกับ FBI เชิงรุก

4. ใช้ soft power ในการอำนวยความยุติธรรม และรักษาผลประโยชน์ ของประเทศและประชาชน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน soft power หมายถึง ความสามารถในการดึงดูด และสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับ หรือให้เงิน ในปัจจุบันใช้ในกรณีของการเปลี่ยนแปลง และสร้างอิทธิพลต่อความคิด ของสังคมและประชาชนในประเทศ โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบาย ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เช่น กรณี ทวงคืนผืนดินชายฝั่งทะเลหาดเลพัง ลายัน ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท (ห้าหมื่นล้านบาท) การช่วยแก้ไขข้อพิพาท 2 ตำบล และช่วยจัดสรรพื้นที่ทำกิน เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่บ้านปางยาง อ.ปัว จ.น่าน เป็นต้น

5. ผลักดันให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Super กรม) ภายใต้นโยบายหลัก แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านที่ 12 ซึ่ง ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 มีการกำหนดในเรื่องการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ ประการหนึ่งคือ “การพัฒนาประสิทธิภาพ ระบบการสืบสวนสอบสวน ด้านการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ” ซึ่งภารกิจสำคัญ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษคือ การป้องกัน การปราบปราม การสืบสวน และการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นคดีอาญาสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อประเทศ มิติต่างๆ ดังนั้น การปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีความสำคัญ และมีผลสะท้อนโดยตรงต่อการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาล ที่แถลงต่อ รัฐสภา

ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่ทุกนายได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และได้รับความ ไว้วางใจจากรัฐบาล ให้รับผิดชอบภารกิจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ การดำเนินคดีพิเศษ อีก 6 คดีความผิด ได้แก่

(1) คดีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะปราบปราม จับกุมยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดให้ได้ 1๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งแสนล้านบาท) ในปีงบประมาณ พ.ศ 2566นี้

(2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือพวกแก๊งเงินกู้นอกระบบ

ขณะที่ ร.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินมามากจึงจะเน้นการบริหารให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำคดีด้วยความรวดเร็ว รักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยจะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายังคงมีคดีค้างอยู่อีกจำนวนหลายคดีซึ่งจะเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคลีคลายคดีให้เร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ร.ต.อ.ปิยะ ถือว่า เป็นลูกหม้อของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องโอนมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ชุดแรกๆที่ตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินคดีสำคัญๆจำนวนมาก อาทิ คดีรุกป่ากะปง รุกเกาะยาว จ.พังงา คดีแก๊งแบนดิโดด รุกเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คดีรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เป็นต้น ถือว่า เป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญคดีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่ดินมากและขยับไปทำหน้าที่บริหารกองบริหารคดีพิเศษ ซึ่งทำให้รู้งานคดีทั้งหมดของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนที่จะไปบริหารสำนักคดีธุรกิจการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ก่อนที่นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จะมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 นี้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงมีคดีดังที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฏหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้ที่ดิน ให้ ร.ต.อ.ปิยะ กำกับดูแลอยู่จำนวนมาก อาทิ คดีบุกรุกสนามกอล์ฟ ชื่อดังในจังหวัด ภูเก็ต พังงา คดีบุกรุกวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จังหวัดภูเก็ต คดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต คดีบุกรุก 108 ไร่ป่าเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต บุกรุกป่าอ่าวนาง-หางนาถ จ.กระบี่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคดีทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่จอเป็นคดีพิเศษอีกเป็นจำนวนมากรวมทั้งคดีพิเศษของกองคดีในกำกับดูแลตามคำสั่งข้างต้น ประกอบด้วย คดีเทคโนโลยีสารสนเทศ คดีค้ามนุษย์ คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีอาญาพิเศษ