เพชฌฆาตเงียบ “หยุดหายใจตอนหลับ” ใครๆ ก็เป็นได้ ไม่รักษาเสี่ยงตาย-ชีวิตสั้นลง 8 ปี



นอนกรนต้องระวัง!! หลัง กอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่” หยุดหายใจ 109 ครั้งต่อชั่วโมง เหตุเพราะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์ชี้ รีบรักษา-ภัยเงียบเสี่ยงตายโดยไม่รู้ตัว

พบผู้ชายอัตราเกิดโรคสูง!!



“ผมรู้ตัวดีว่า เป็นคนนอนไม่พอมานับสิบปี ตั้งแต่หลังวัย 25 ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้ผมนอนกรนดัง และภรรยามักบอกว่า ผมชอบหยุดหายใจไปนานๆ ระหว่างนอน คือ ชอบตื่นมาเฮือกดังๆ เหมือนจมน้ำไปนาน การนอนของผมจึงเป็นการวนระหว่างหลับ กรน หยุดหายใจ ตื่นมาหายใจ วนแบบนี้ตามการให้ปากคำของภรรยา…”



กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เมื่อแร็ปเปอร์ชื่อดัง กอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่” ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังลองทำ Sleep Test (การตรวจสุขภาพการนอนหลับที่ใช้วิเคราะห์ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายระหว่างที่กำลังนอนหลับ)



โดยผลตรวจพบว่าระหว่างนอนหลับไป เขาหยุดหายใจ 109 ครั้งต่อชั่วโมง ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เขาเกิดภาวะใหลตาย และเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคร้ายอีกมาก

เรียกได้ว่า เป็นอาการยอดฮิตของคนบันเทิงอีกอย่าง สำหรับปัญหาการนอนหลับถึงขั้นหยุดหายใจ ไม่ว่าจะเป็น “โดม-ปกรณ์ ลัม” หรือ “น้องโปรด” ลูกชายของ “เป้ย-ปาดวาด เหมมณี” ที่ต่างรักษาด้วยการทำ Sleep Test จนทราบปัญหาที่เกิดขึ้น

[กอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่]

เพื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทางทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ พทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ หลังจากสังคมต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับภาวะการหยุดหายใจขณะหลับเป็นอย่างมาก ต่างมองว่าภาวะที่เกิดขึ้นกับนักร้องดังนั้น อันตรายต่อชีวิต

“แสดงว่าเขาเป็นเยอะ คือ มากกว่า 30 ครั้ง ถือว่าเป็นมาก เขา 109 ครั้ง ก็เป็นเยอะ แสดงว่าตอนกลางคืนที่เขาหยุดหายใจ คือ ระดับออกซิเจนจะต่ำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต่ำถึงจุดๆ หนึ่ง

สมองจะบอกว่าต้องตื่นแล้ว ไม่ตื่นตาย เขาก็ตื่น ตื่นขึ้นมาเขาก็หายใจใหม่ พอเขาหายใจใหม่สักพักเขาก็หลับไปอีก พอเขาหลับไปอีกก็ต่ำไปอีก

เพราะฉะนั้นทั้งคืน ถึงแม้เขาจะนอน 8 ชั่วโมง มันเหมือนเขาถูกปลุกประมาณ 100 ครั้งต่อชั่วโมง ตื่นมาก็เลยไม่สดชื่น อันตรายถ้าไม่รับการรักษาชีวิตจะสั้นประมาณ 8 ปี”

[นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์]

เช่นเดียวกับ ปอ-ฐิติรัตน์ ตางาม ผู้ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เรื่องโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ บริษัท เซนต์เมด จำกัด ร่วม 20 ปี ได้เปิดใจต่อผู้สื่อข่าวว่า เป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งใครหลายๆ คนมองข้าม

“อันนี้น่ากลัวมาก คือ ถ้าคนเราปกติจะหยุดหายใจไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง แต่ถ้าเกิด 6-15 ครั้งต่อชั่วโมง อันนี้ถือว่าเป็นเล็กน้อย พอประมาณ 16-30 ครั้งต่อชั่วโมง ถือว่าเป็นปานกลาง แต่เกิน 30 ครั้งต่อชั่วโมงเมื่อไหร่ ถือว่ารุนแรง ของคุณกอล์ฟไปถึง 109 คือ มันน่ากลัวมาก แทบจะหยุดหายใจทุกนาที หรือว่าต่อเนื่องเลย”

[ปอ-ฐิติรัตน์ ตางาม]

อย่างไรก็ดี ลองกลับมาถาม นพ.มนูญ เพิ่มเติม หมอระบุว่า ปัจจัยหลักๆ นั้นมาจากน้ำหนักที่มากเกินไป และกรรมพันธุ์ ภาวะนี้สามารถพบได้ในคนทุกวัย โดยผู้ใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

“คือ คนไทยหน้าจะแบนกว่าฝรั่งเขา ทางเดินหายใจส่วนบนจะแคบกว่าฝรั่ง คือ คนผิวเหลืองเป็นมากกว่าคนผิวขาว แล้วคนผิวขาวเป็นมากกว่าคนผิวดำเพราะคนผิวดำกะโหลกจะใหญ่ ทางเดินหายใจเขาจะกว้าง มันเกี่ยวกับเรื่องเผ่าพันธุ์ด้วย เผ่าพันธุ์คนผิวเหลืองจะเป็นมาก



บางคนจะอ้วน คอจะสั้น คางจะหุบเข้าไป ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนจะแคบ แต่บางคนถึงไม่อ้วน ก็เป็น เพราะว่าเป็นกรรมพันธุ์ คือ พ่อเขาเป็น พี่ชาย น้องชายเป็น ส่วนใหญ่จะเป็นในสายผู้ชาย คือ ถ้าพ่อเป็น ผู้ชายน้องชายเป็น ตัวเองก็เป็น

ผู้ชายบางคนจะเริ่มมีอาการตอนอายุ 35 ปี แต่ผู้หญิงจะมีอาการช้า คือ จะมีหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว คือ ใครก็เป็นได้ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติกรรมพันธุ์ อัตราการเป็นค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะว่าคนไทยเท่าที่ผมเห็น เป็นโรคนี้พอสมควรเลย



ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนอ้วน แต่ถ้าเมื่อไหร่อ้วน ยิ่งเป็นชัดเจนเลย ในต่างประเทศบอกในผู้ชายร้อยละ 4 ผู้หญิงร้อยละ 2 ที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง ผู้ชาย 100 คน เป็น 4 คน”

“อาการหยุดหายใจขณะหลับ” อันตรายถึงชีวิต!!



ผ่านสายตาคุณหมอมนูญแล้วนั้น สำหรับการปฏิบัติตัวพื้นฐานในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ควรคุมอาหาร และลดน้ำหนัก

หากมีน้ำหนักเกิน ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นมากขึ้น และไม่ควรขับรถขณะง่วงนอน เพราะอาจจะทำให้หลับใน และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

“กลุ่มคนที่เป็นจะนอนกรน ไม่ใช่ดังเบาๆ ต่อเนื่อง แต่จะเบาแล้วดังขึ้นๆ แล้วก็เงียบ ช่วงเงียบคือช่วงที่หยุดหายใจ แล้วก็เริ่มต้นใหม่ เบาแล้วก็ดังขึ้นๆ และเงียบ การเงียบส่วนใหญ่มันจะนานเกินกว่า 10 วินาที คือ คนปกติจะนอนกรนและหยุดหายใจ ไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง แต่คนที่เป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับจะมากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง



คือ เป็นน้อยจะหยุดหายใจ 5-15 ครั้งต่อชั่วโมง 15-30 ก็เป็นปานกลาง มากกว่า 30 ต่อชั่วโมง ก็เป็นมาก จะแบ่งเกรดออกเป็น 3 ขั้น

1.นอนกรน 2.ถึงนอนเท่าไหร่ ตื่นขึ้นมาก็ยังง่วง แล้วกลางวันก็ยังง่วง 3.นั่งที่ไหนก็จะหลับที่นั่น

บางคนเวลาขับรถก็หลับ เป็นสาเหตุอันหนึ่งของอุบัติเหตุจากการหลับใน ซึ่งเป็นอันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรถูกมองข้าม สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน”



ส่วนในเรื่องที่ใครหลายคนเข้าใจว่า อันตรายที่ใกล้ตัวอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ ส่งให้เป็นโรคใหลตาย ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมให้คำตอบไว้ว่า การใหลตายเป็นเพียงอีกโรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจจะส่งให้เกิดการเสียชีวิตได้ หากไม่ทำการรักษา

“คือ ใหลตายก็เป็นอีกโรคหนึ่ง เป็นโรคของคนที่หนุ่มสาวเขามีโรคทางกรรมพันธุ์ มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ไม่ได้หยุดหายใจ อันนั้นอาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นอันนั้นอีกโรคหนึ่ง แต่โรคนอนกรนหยุดหายใจมันไม่ใช่โรคที่ใหลตาย คนละโรคกัน



โรคนอนกรนหยุดหายใจทำให้เสียชีวิตเร็วกว่า และทำให้มีผลข้างเคียงตามมา คือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ทำให้เขาเกิดเป็นเบาหวาน คือ ร่างกายมันขาดออกซิเจน การทำงานของอวัยวะต่างๆ จะผิดปกติเลย ความดันก็จะขึ้น น้ำตาลก็จะขึ้น ถ้าได้รับการรักษา ความดันก็จะลง น้ำตาลก็จะลง”



สุดท้ายนี้ หมอได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หากพบว่ามีสัญญาณเตือนว่า อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษา ในระยะยาว

“โรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อย แล้วควรจะรีบตรวจรักษาให้ดี เพราะมันมีผลข้างเคียงระยะยาว ทำให้เกิดเป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจได้



วิธีรักษาก็ต้องพยายามอย่าอ้วน ลดน้ำหนัก คือ การรักษาที่ดีที่สุด คือ การใส่เครี่อง CPAP คือ ให้แรงดันครอบที่จมูก เพื่อเอาแรงดันไปถ่างทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น เพื่อให้ลมมันเข้าออกได้สะดวก

เป็นการรักษาที่สะดวก เป็นเวลา 30-40 ปีมาแล้วที่ใช้วิธีนี้ ซึ่งมันดีกว่าวิธีผ่าตัด ตัดต่อมทอนซินออก เพื่อให้ช่องปากมันกว้างขึ้น ถึงทำการผ่าตัดแล้วก็ยังไม่หาย



คือ เรื่องนี้ต้องถามคนที่นอนด้วย ว่าตัวเองนอนกรนรึเปล่า แต่ถ้านอนกรน ก็บอกให้เขาช่วยอัดเสียงไว้ เพราะจะได้รู้ว่าเสียงกรนมันเป็นแบบไหน อย่างที่ผมบอกว่าดังเบาๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเบาแล้วดังขึ้นๆ และเงียบ อันนี้ผิดปกติ

ถ้าตื่นขึ้นมาก็ยังเงียบอยู่ กลางวันนั่งที่ไหนก็หลับที่นั่น ถึงนอนอิ่มยังไงตื่นขึ้นมาก็ยังง่วงอยู่ อันนี้ควรปรึกษาแพทย์”

ข่าวโดยทีมข่าว : MGR Live

** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **