เปิดสวนสาธารณะ สู้! โควิด ปูพรมเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟอกปอด 10 ตร.ม. ต่อคน – ผู้จัดการออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ –  ชัดเจนว่า “สวนสาธารณะ” เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ประชาชนเฝ้ารอ เห็นได้จากประกาศผ่อนคลายเปิดสวนสาธารณะตามคำสั่ง “นายกฯ ประยุทธ์” วันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำเอาคนในพื้นที่ กทม. ตื่นแต่เช้าตรู่เตรียมพร้อมไปเดินวิ่งออกกำลังกายกันอย่างคึกคัก แต่สุดท้ายกลับไปเก้อเพราะการสื่อสารผิดพลาดระหว่างหน่วยงานรัฐ ต้องรอคำสั่งยืนยันอย่างเป็นทางการจาก ศบค.กทม. เสียก่อน 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งมาตรการสังคมสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งรัฐมองว่าหนึ่งในนั้นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสคือ “สวนสาธารณะ” จึงมีคำสั่งปิดงดกิจกรรมมอีกครั้งนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ช่วงเดือน เม.ย. 2564

จวบจนเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2564  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรี ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประกาศผ่อนคลายสถานที่ 5 ประเภทในเขต กทม. ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. เป็นต้นไป หลังทราบประกาศมีประชาชนตรียมตัวไปสวนสาธาณะเพื่อออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจกันเป็นจำนวนมากแต่ต้องพบว่าสวนสาธารณะหลายแห่งไม่เปิดให้บริการตามคำสั่งของนายกฯ เนื่องจากรอประกาศอย่างเป็นทางการจาก ศบค.กทม. เสียก่อน กระทั่ง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันถัดมาคือวันที่ 15 มิ.ย. 2564

ก่อนหน้านี้  นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก  แพทย์ทั่วไปที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชน ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ได้ตั้งคำถามผ่านบทความเรื่อง “ปิดสวนสาธารณะช่วยลดการระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ?”  สรุปความได้ว่า ตามที่ทราบกันเบื้องต้นว่าช่องทางการแพร่เชื้อของโควิด-19 คือละอองสารคัดหลั่งทางเดินหายใจซึ่งกระเด็นออกไปไม่เกิน 2 เมตร คนที่เข้ามาใช้สวนสาธารณะสามารถเว้นระยะห่าง 2 เมตรหรือมากกว่านั้นได้ และสวนสาธารณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจึงต่ำ

“เมื่อสวนสาธารณะปิดจึงเห็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำออกมาเดิน/วิ่งริมถนน ทำให้เกิดการเบียดเสียดกว่าการวิ่งในสวนตามปกติ และมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางจราจรแทน เพราะต้องหลบทั้งคนและรถ ในขณะที่คนที่ไม่ได้ออกกำลังเป็นประจำก็อยู่บ้านมากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรค NCDs กลับเพิ่มขึ้นแทน”

ขณะเดียวกัน สวนสาธารณะกลายเป็นบรรทัดฐานในการวางแผนผังโครงสร้างผังเมืองในทุกประเทศ ไม่เพียงเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นสถานที่ออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการ หรือพักผ่อนหย่อนใจ แก่ผู้คนในชุมชนเท่านั้น สวนสาธารณะกลายเป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ของเมืองเป็นภาพสะท้อนของสังคมนั้นๆ

ประเทศไทย  “สวนลุมพินี”  นับเป็นสวนสาธารณะแห่งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานที่ดินสวนพระองค์ให้เป็นสวนพฤกษชาติ โดยในปี 2568 จะครบรอบ 100 ปี ทั้งนี้ สวนลุมพินีติดอันดับสวนสาธารณะโลกโดดเด่นตั้งอยู่กลางเมืองใหญ่ด้วยพื้นที่สีเขียวที่กว่า 360 ไร่ มีเส้นทางออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน

สำหรับสวนสาธารณะในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลขององค์การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดต่างๆ เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ สวนสาธารณะขึ้นตรงกับหน่วยงาน สำนักสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดย กทม. ได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะทุกประเภท จากความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ระหว่างปี 2556 – 2564 คิดเป็น 5,000 ไร่ โดยเพิ่มปีละ 1,350 ไร่ อย่างไรก็ตาม มีผลการดำเนินการรวมจำนวน 3,416 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 9,206 ไร่ 1 งาน 11 ตร.วา คิดเป็นร้อยละ 184.13 สูงกว่าเป้าหมาย 5,000 ไร่

อ้างอิงบทความเรื่อง  “พื้นที่สีเขียวในเมือง ต้องมีการวางแผนเชิงรุก”  โดย  ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนหนึ่งความว่า“พื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (well-being) ของคนเมือง เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองหนาแน่นเท่าไหร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้น ต่อสุขภาวะของคนเมือง คุณค่าในที่นี้หมายรวมคุณค่าที่มีต่อร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง และคุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองที่ให้อานิสงส์ในวงกว้าง”

นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยในเนเธอร์แลนด์พบว่า การใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขียวขจีจะช่วยลดความเศร้าหมองและความซึมเศร้าลงได้ สถิติจากงานวิจัยพบว่าคนที่พักอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวในปริมาณมากๆ จะตรวจพบว่าเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนในละแวกที่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว

“แต่พื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นเป็นของหายาก เพราะพื้นที่สีเขียวไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เมื่อที่ดินในเมืองมีราคาสูงมาก ทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ราคาสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ 800-1,200 ล้านบาทต่อไร่ ที่ดินจึงถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงมีจำกัด แม้จะมีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้อยู่จากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ โดยขาดการวางแผนร่วมกัน” อ.ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี สะท้อนภาพพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

สำหรับกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 6.99 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน

แม้ว่ากรุงเทพฯ ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน แต่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กทม. ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนขับเคลื่อนภายใต้โครงการ Green Bangkok 2030

สำหรับโครงการ Green Bangkok 2030 เป็นการวางแผนและมองพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าอีก 10 ปีว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละย่านจะเป็นแบบไหน พร้อมทั้งได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง และที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ และสวนป่า

โดยเริ่มนำร่อง (ระยะที่ 1) แล้วจำนวน 11 โครงการ เช่น สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และที่เป็นรูปเป็นร่างใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ เช่น สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563 สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหารเขตลาดกระบัง พื้นที่ 18 ไร่ คาดว่าจะเสร็จในเดือนกันยายน 2563 และสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564



  นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ากรุงเทพมหานครเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อเนื่อง ทั้งการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่และเล็ก สวนหย่อมใน 50 เขต รวมถึงส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในบ้าน หน่วยงานราชการปลูกต้นไม้ในอาคารสถานที่ และในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวม 8,623 แห่ง พื้นที่ 25,132 ไร่ 1 งาน 75.09 ตร.ว.(40,211,900.37 ตร.ม.) อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.10 ตร.ม./คน คิดเป็นร้อยละ 2.56 ต่อพื้นที่กรุงเทพฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 2564) เมื่อสวน 4 แห่งแล้วเสร็จ จะทำให้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 7.21 ตร.ม./คน

ทั้งนี้  ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ระบุถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่านเมืองหลวง หากปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ใต้ทางด่วน 600 ไร่ และพื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน และถ้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากพื้นที่สนามกอล์ฟทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง และพื้นที่ราชพัสดุ หรือหน่วยงานราชการ เท่ากับว่าจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 13.2 ตารางเมตรต่อคน หรือเทียบเท่ากับเมืองปารีส ของประเทศฝรั่งเศส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการเข้าถึงด้วย

ขณะที่ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความคิดเห็นต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง มองว่าควรพุ่งเป้าไปที่พื้นที่วัดหรือโรงเรียนก่อนลำดับแรก เพราะมีพื้นที่เยอะและดำเนินการได้เลย อีกอย่างตามโรงเรียนหรือวัดมักจะเทปูนซีเมนต์ทำพื้น หากเปลี่ยนมาเป็นปลูกต้นไม้จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียว

สำหรับภารกิจเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่เพียงเพิ่มเชิงปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพคนในชุมชนเมืองนั้นๆ สามารถเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้ด้วย

ปรากฎการณ์ประชาชนแห่เดินทางไปใช้บริการยังสวนสาธารณะ หลังปิดชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ทันทีที่มี “คำสั่งนายกฯ” ให้เปิดสวนสาธารณะวันแรก แม้ไปเก้อเพราะเกิดการสื่อสารผิดพลาดระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง แต่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนโหยหาสถานที่ออกกำลังกาย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ผู้คนต้องการพื้นที่สาธารณะพื้นที่สีเขียวสำหรับตอบโจทย์กิจกรรมต่างๆ



 และทำให้นึกถึง 1 ในกฎ 4 ข้อแห่งความสุขของ “อัลแบร์ กามูส์” นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส นั่นก็คือ “อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง” สุดท้ายได้แต่เฝ้ารอให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ผู้คนออกมาใช้ชีวิตอิสระอย่างที่ควรจะเป็น