รมว.ท่องเที่ยวฯ ตรวจสถานกักกันโรคในกิจการกอล์ฟ คาดสร้างรายได้กว่า 10 ล้านบาท

เช้านี้ที่หมอชิต – หลังประเทศไทยประเดิมรับนักกอล์ฟและผู้ติดตามชาวเกาหลีกลุ่มแรก ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และกักตัวที่สถานกักกันโรคในกิจการกอล์ฟ หรือ กอล์ฟ ควอรันทีน (Golf Quarantine) หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและสาธารณสุข จึงได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน พร้อมเผยเกณฑ์ ห้ามนักกอล์ฟออกรอบจนกว่าผลตรวจโควิด-19 จะพบว่าไม่ติดเชื้อ คาดสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสถานกักกันโรคในกิจการกอล์ฟ หรือ กอล์ฟ ควอรันทีน ที่ สนามกอล์ฟอาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ต จังหวัดนครนายก

หลังปลายเดือนที่แล้ว ประเทศไทยรับนักกอล์ฟและผู้ติดตามชาวเกาหลี จำนวน 41 คน และชาวญี่ปุ่น 1 คน เข้าสู่กอล์ฟ ควอรันทีน ซึ่งถือเป็นสถานกักกันโรคโควิด-19 ทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แตกต่างจากการกักกันทางเลือกทั่วไป ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่

สำหรับข้อกำหนดของกลุ่มนักกอล์ฟและผู้ติดตาม จะต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง มีหนังสือรับรองให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ มีผลตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง และเมื่อถึงประเทศไทยและกักตัวแล้ว จะต้องตรวจอีก 3 ครั้ง คือวันที่ 3 วันที่ 9 และวันที่ 13

โดยนักกอล์ฟจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกลางมาตรฐานอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามออกจากห้องพักใน 3 วันแรก จนกว่าจะได้รับผลตรวจโควิด-19 หากไม่พบเชื้อจึงจะสามารถออกรอบได้ในวันถัดไป ห้ามปะปนกับนักกอล์ฟกลุ่มอื่น ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยตัวเอง ส่วนแคดดีต้องอยู่ในที่ที่กำหนด โดยไม่สัมผัสนักกอล์ฟ และต้องดูแลลูกค้าคนเดิมตลอดระยะเวลากักกัน และเมื่อกักตัวครบ 14 วันแล้ว นักกอล์ฟและผู้ติดตามสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่อื่น ๆ ได้ 

ปัจจุบันกลุ่มของกอล์ฟควอรันทีน มีชาวต่างชาติและผู้ติดตาม ทยอยเดินทางเข้ามาในระบบแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยราว 11.4 ล้านบาท