ผมมีโอกาสได้ไปเล่นบาสเกตบอลนัดพิเศษที่โรงเรียนนานาชาติ DBS หรือ Denla British School ที่อยู่บนถนนราชพฤกษ์ ผมมักจะหันไปดูโรงเรียนนี้เสมอเพราะป้ายและทางเข้าโรงเรียนใหญ่โตสะดุดตาเหลือเกิน ไม่นึกว่าจะได้เข้ามาด้านใน แถมยังได้เล่นบาสเกตบอลในโรงยิมระดับมาตรฐานต่างประเทศ (ไม่มีเสาที่แป้นบาสนะครับ แป้นเป็นระบบไฮดรอลิกที่เซตมาจากด้านบน) ห้องน้ำและห้องแต่งตัวเหมือนเวลาเราได้ดูหนังฝรั่งที่จะแบ่งที่เก็บของเป็นล็อกส่วนตัว เรียกว่าไปแล้วตื่นตาตื่นใจมาก และผมได้พบผู้บริหารโรงเรียนเพื่อขอนัดพูดคุย
ในอาทิตย์ถัดมา ผมได้พบกับ ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียน ได้เล่าถึงประวัติโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าที่ถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ไล่มาถึงโรงเรียนเด่นหล้า สาขาพระราม 5 ปี พ.ศ.2549 ที่เป็นหลังสูตร English Program จนมาถึง DBS–Denla British School สาขาล่าสุดที่ถนนราชพฤกษ์ เปิดปี พ.ศ.2560 เพิ่งมีอายุ 4 ปีและเป็นหลักสูตรนานาชาติ
ผมสอบถามว่า “โรงเรียนเด่นหล้า” เกี่ยวข้องกับ “โรงเรียนเลิศหล้า” หรือไม่ ดร.เต็มยศ บอกว่า โรงเรียนเด่นหล้าทุกสาขาบริหารโดยเจ้าของเดียวกันทั้งหมด ส่วน “โรงเรียนเลิศหล้า” จะเป็นของญาติ ต่างคนต่างบริหารโรงเรียนของตัวเอง
ผมถามถึงที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนและแนวคิดการทำโรงเรียนนานาชาติ ดร.เย็นยศ เล่าว่า ผู้บริหารโรงเรียนได้คิดโปรเจคท์นี้ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมปี พ.ศ.2554 เพราะเห็นว่าฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยังไม่มีโรงเรียนนานาชาติเลย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จึงพักแผนไว้ก่อน แล้วกลับไปเน้นหลักสูตรนานาชาติในชั้นอนุบาลที่สาขาพระราม 5
ปี พ.ศ. 2558-2559 เริ่มกลับมาทำโปรเจคท์ DBS ใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะปี พ.ศ. 2553 ที่เคยวางแผนไว้ ตอนนั้นโรงเรียนมีพื้นที่ 20 ไร่ แต่ภายหลังได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมา ตอนนี้มี 45 ไร่ ปัจจุบันแบ่งเป็นพื้นที่โรงเรียน 25 ไร่ พื้นที่สนามกีฬา 20 ไร่ สามารถทำโรงเรียนมาตรฐานระดับโลกได้
DBS ใช้หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานภาคบังคับของประเทศอังกฤษและซื้อหลักสูตรของเคมบริดจ์มาเพิ่มเติม ครั้งแรกที่ทำโปรเจคท์นี้ ผู้บริหารคุยกันว่าจะนำแบรนด์จากอังกฤษมาดีหรือไม่ แต่สรุปว่าน่าจะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ไม่เท่ากับการทำเองเพราะทางโรงเรียนเด่นหล้ามีชื่อเสียงและประสบการณ์ด้านการศึกษามา 40 กว่าปี ระหว่างไปทัวร์ดูโรงเรียนในประเทศอังกฤษก็จะพบกับกลุ่มที่ปรึกษาการศึกษา และมีอยู่ท่านหนึ่งเคยเป็นครูใหญ่ที่อังกฤษและดูไบ เขาเคยทำอยู่บริษัทที่ทำโรงเรียนนานาชาติทั่วโลกเพิ่งออกจากงาน จึงชวนเขามาเป็นที่ปรึกษาและก่อตั้งโรงเรียน
ปัจจุบัน DBS เปิดรับตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลตั้งแต่ 3 ขวบ ไปจนถึง Year 6 เทียบเท่ากับ ป.5 ปีนี้เพิ่งเปิด Year 10 เทียบเท่า ม.3
ดร.เต็มยศ ได้เล่าแนวทางการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า DBS ไว้ 4 ข้อคือ
- DBS ใช้หลักสูตรอังกฤษแบบโรงเรียนเอกชนอังกฤษ เพราะโรงเรียนเอกชนจะค่อนข้าง well-rounded หรือรอบรู้ในทักษะต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ การละคร วิชาการ เคล็ดลับโรงเรียนอังกฤษที่ดีจะเป็น Boarding School (โรงเรียนประจำ) แล้วเด็กแต่ละคนก็เรียนดีและทำกิจกรรมดี ที่นั่นเริ่มเรียนตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสามทุ่ม เคล็ดลับคือ มีเวลาให้กับเด็กมากพอทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม เพราะฉะนั้นที่ DBS จึงเพิ่ม Extended Day เข้าไป ตั้งแต่ Year 3 โดยเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ปกติโรงเรียนอื่นอาจจะเลิกบ่าย 2 แต่ที่นี่ อนุบาล 1 เลิกเรียนบ่าย 3 อนุบาล 2 เลิกเรียนบ่าย 3 ครึ่ง Year 1-2 เลิกเรียนบ่าย 3 ครึ่งแต่อยู่ต่อได้ถึงสี่โมงเย็น แต่พอ Year 3 ขึ้นไปเรียนถึง 5 โมงเย็น (โดยหลังเรียน เด็กจะเลือกทำกิจกรรมกีฬา ดนตรี ศิลปะ การแสดง กลุ่มความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เข้าชมรมต่าง ๆ ทำได้ทุกอย่าง รวมอยู่ในค่าเทอมแล้ว)
- DBS มุ่งเน้นให้เป็นโรงเรียนนานาชาติที่เก่งวิชาการ เท่าที่เห็นในการศึกษาทั่วไปคือ ผู้ปกครองอยากให้ลูกเก่งวิชาการต้องเข้าโรงเรียนรัฐบาล กับผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อยากให้ลูกได้ภาษาติดตัว ทำกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าแสดงออกก็พามาโรงเรียนนานาชาติ
DBS DBS DBS 2 4 YCT Youth Chinese Test7 1 4 DBS 60
- DBS อยากให้เด็กมีทักษะที่เป็นผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กที่จบแล้วต้องไปเป็นนักธุรกิจ แต่คิดว่าอยากเติมทักษะของผู้ประกอบการที่เด็กควรจะมี เช่น เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การกล้าตัดสินใจ การค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร เพราะฉะนั้นเด็กควรจะได้ใช้เวลาลองทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาตัวเอง
- แม้เป็นนักเรียนนานาชาติ แต่ภาษาไทยต้องดี เข้าใจคุณค่าและวัฒนธรรมไทย ปัญหาที่พบเห็นคือ เด็กไทยบางส่วนที่เรียนโรงเรียนนานาชาติจบแล้วไม่ค่อยอยากจะอยู่เมืองไทย เพราะบางครั้งไม่มีความสุข ไม่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมไทยดีพอ
ถ้าทำให้ภาษาไทยของเด็กดี เข้าใจคุณค่าของวัฒนธรรมไทย โอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จในเมืองไทยจะมีมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วคนไทยมีจุดเด่นหลายอย่าง เช่น เรื่องน้ำใจเป็นรากฐานที่ทำให้คนไทยทำด้านธุรกิจบริการได้ดี ความเคารพที่มีให้กับผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้ ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่โอ้อวด ถือเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของคนไทย รวมไปถึงเรื่องการฝึกสติ พยายามใส่เรื่องนี้เข้าไปให้ฝรั่งเข้าใจด้วยว่าเป็นเรื่องของ mindfulness เพราะสติเป็นพื้นฐานของ EQ บริหารจัดการอารมณ์ได้ ควรฝึกตั้งแต่ยังเล็กยิ่งดี
ผมถามเรื่องบุคลากร ว่ามีครูชาติไหนกันบ้าง ดร.เต็มยศ บอกว่า 95% ของครู 60 คนเป็นครูชาวอังกฤษ นอกนั้นเป็นชาวแคนาดาและอเมริกัน โรงเรียนได้ตั้งเกณฑ์ในการรับครูค่อนข้างเข้มงวดว่าไม่รับครูที่เพิ่งจบใหม่ ขอให้มีประสบการณ์สอนอย่างน้อย 2 ปี
ระดับชั้นเด็กเล็กระดับอนุบาลจะมีเด็กในห้อง 12 คน ครู 3 คน โดยเป็น Teacher ครูฝรั่ง 1 คน Learning Assistant ชาวฟิลิปปินส์ 1 คน คนไทย 1 คน เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง พอขยับขึ้นมา Year 1 (เทียบเท่าอนุบาล 3) จะมี Teacher ครูฝรั่ง 1 คน Learning Assistant 1 คน และตั้งแต่ Year 5 ขึ้นไป จะเป็น Teacher สอนคนเดียว โดยระดับประถมจะมีจำนวนเด็ก 22 คนต่อห้อง และช่วงโควิดที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจำกัดจำนวนเด็กที่เข้าเรียน สำหรับ DBS ไม่มีปัญหาเพราะเด็กต่อห้องจำนวนไม่เยอะอยู่แล้ว และขนาดของห้องเรียนใหญ่เกินมาตรฐานห้องเรียนทั่วไป (มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ 48 ตร.ม. ที่ DBS 74 ตร.ม.)
ส่วนหลักสูตรระดับมัธยมของอังกฤษ Year 10-11 (เทียบกับ ม.4) เป็นหลักสูตร IGCSE จะเลือกรายวิชาว่าเรียนวิชาอะไรบ้าง จะมี 9 วิชา มีวิชาบังคับ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคม และจะมีอีก 3-4 วิชา เด็กจะเลือกเอง เช่น ดีไซน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ พอ 2 ปีสุดท้าย ระบบอังกฤษจะเรียกว่า A-Level จะมีวิชาบังคับ 3 วิชา ที่เหลือเลือกเอง แต่ที่ DBS จะให้เรียนวิชาบังคับ 4 วิชาและทำโปรเจค 1 โปรเจคท์
ดร.เต็มยศ บอกว่า การเลือกเรียนระบบอังกฤษดีตรงที่ว่า เมื่อถึงระดับ ม.5 และ ม.6 เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบแล้ว เพราะเขาได้ผ่านการเรียนวิชาต่าง ๆ มาครบแล้ว เด็กจะรู้เองว่าตรงไหนเขาชอบและทำได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูเกรดการเรียนประกอบไปด้วย ถ้าเทียบกับประเทศอเมริกา A-Level จะทำกับระดับปี 1 ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นจะสามารถโอนหน่วยกิตไปได้
ด้วยความที่ผมชอบให้ลูกทำกิจกรรม จึงอยากทราบว่า DBS มีอะไรให้เด็กได้ทำบ้าง ดร.เต็มยศ บอกว่าที่ DBS ให้เวลากับกิจกรรมมากเป็นพิเศษ วันละ 2 ชั่วโมงครึ่ง อาทิ กีฬาประมาณ 7 คาบต่อสัปดาห์ กีฬามีความหลากหลาย เรียนกีฬา 2 อย่างใน 3 เทอม (1 ปีการศึกษา) ที่บังคับแน่ ๆ คือ ว่ายน้ำ (ผมเข้าไปดูสระว่ายน้ำยาว 25 เมตร ปรับอุณหภูมิได้ ด้านในเป็น positive pressure นั่นคือค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถเข้ามาได้) นอกนั้นก็จะเป็นรักบี้ คริกเก็ต ฟุตบอล บาสเกตบอล และยังมีชั่วโมงที่เรียกว่า games ซึ่งต่างกับพลศึกษาหรือ PE ที่เน้นทักษะ กายบริหาร แต่ games เน้นการผ่อนคลาย ทีมเวิร์ก แข่งขันเป็นบ้านมีอยู่ 4 สี
นอกจากนี้ก็มีศิลปะและดนตรีให้เลือกเล่นได้ มีวิชาการแสดงที่มีเวทีให้ขึ้นไปแสดงละคร มีชมรมช่วงพักเบรกกลางวันและหลังเลิกเรียนเกือบ 20 คลับ โดยมีครูฝรั่งเป็นคนดูแล เช่น แดนซ์ หมากรุก อ่านหนังสือ ภาษาและวัฒนธรรม และมีสายวิชาการด้วย
ผมได้เดินทัวร์รอบโรงเรียน บอกได้เลยว่า DBS ลงทุนจริงจังมากครับ สนามฟุตบอลมาตรฐานและปูหญ้าเทียมทั้งสนาม สนามบาสเกตบอลทั้งในและนอกอาคาร สนามฟุตซอล สนามเทนนิส ที่ซ้อมมินิกอล์ฟ ใครอยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย รับรองไม่ผิดหวัง ยังไม่พอ ตอนนี้กำลังจะก่อสร้างตึกเรียนเพิ่มอีกตึกและหอประชุม 670 ที่นั่งเพิ่มอีกหลัง
เมื่อเห็นแนวทางการศึกษาและการทุ่มทุนสร้างโรงเรียนขนาดนี้ ผู้ปกครองน่าจะมั่นใจและเห็นความตั้งใจจริงของผู้บริหารโรงเรียนได้อย่างดี ใครสนใจติดต่อเข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียน ติดต่อที่เบอร์ 0-2666-1933 ครับ.
…………………………………
คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage