กฟผ. เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV จับมือพันธมิตรขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า 48 แห่งภายในปีนี้ รองรับการเติบโตของรถยนต์ EV ที่คาดว่าจะทะลุ 1 ล้านคันในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมสร้างการเปลี่ยนผ่านให้แก่ภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ในฐานะของผู้ให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่สำคัญ นับเป็นโอกาสอันดีที่ กฟผ. จะได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขให้แก่คนไทยมากขึ้น ด้วยธุรกิจใหม่ของ กฟผ. “EGAT EV Business Solutions”
สำหรับธุรกิจนี้ กฟผ. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. จะเป็นผู้ช่วยและเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคตและร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้ธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ประกอบด้วย
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปลอดภัย มั่นใจ เพื่อรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี ร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT และพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จ EV ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 90 ล้านบาท เน้นขยายสถานีตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ เพื่อเลือกพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานและตรงกับตามต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด โดยจะทยอยติดตั้งให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และเส้นทางหลักสายสำคัญ โดยสถานีชาร์จ EV เหนือสุดจะไปถึงที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานไกลสุดจะไปถึง จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี ภาคตะวันออกไกลสุดจะไปทื่ จ. จันทบุรี และ ภาคใต้สุดจะไปถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนในปี 2565 จะขยายเพิ่มอีก 35-40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดขนาดใหญ่ คือ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งอัตราค่าบริการจะอยู่ใกล้เคียงกับตลาดที่ 6-8 บาทต่อหน่วย หรือ 1.30 บาทต่อกิโลเมตร
- Mobile Application Platform “EleXA” ที่เสมือนเป็นผู้ช่วย เพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้เชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่างๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกกลุ่ม และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV
- เครื่องอัดประจุไฟฟ้า โดย “EGAT Wallbox” เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ารถ EV ขนาดเล็ก ซึ่ง กฟผ. ได้รับสิทธิ์จำหน่ายรายเดียวในไทย รวมถึงเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษา จึงเหมาะแก่การติดตั้งในบ้านเรือน และให้บริการกับลูกค้าในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟที่มีระยะเวลาในการจอดรถชาร์จไฟฟ้าได้นานกว่าในสถานีบริการน้ำมัน ส่วน EGAT DC Quick Charger เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วฝีมือคนไทยขนาด 120 กิโลวัตต์ จึงช่วยลดต้นทุนให้ผู้ลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
4 ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Backend EGAT Network Operator Platform (BackEN) ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีเสถียรภาพ และมั่นคง ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.
ล่าสุด กฟผ. ร่วมมือกับพันธมิตร 6 บริษัทรถยนต์ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes–Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูลและการส่งเสริมการขาย
“กฟผ. ได้หารือร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาจำหน่ายในไทย เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการตั้งสถานีชาร์จ EV ให้สอดคล้องกับแผนการตลาด ซึ่งพบว่านอกจากพื้นที่ กทม. แล้ว ในจังหวัดสำคัญที่จะขยายออกไปจะอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต ดังนั้นจึงได้เร่งขยายสถานี EV ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด”
โดย กฟผ. ยังพร้อมเปิดรับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชิญผู้ที่สนใจเข้าชมข้อมูลธุรกิจได้ที่ www.elexaev.com
ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ปริมาณการใช้รถยนต์ EV จะสูงขึ้นมาก ซึ่ง บลูมเบิร์ก ได้ประเมินว่าในอีก 4 ปี ข้างหน้า หรือ ในปี 2568 ราคารถยนต์ EV จะใกล้เคียงกับราคารถยนต์สันดาปทั่วไป เพราะราคาแบตเตอรี่ลดลงมาก จะทำให้ยอดการใช้รถยนต์ EV จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีการใช้รถยนต์ EV 7 แสน ถึง 1 ล้านคัน ดังนั้นจึงต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ