หากพูดชื่อ กอล์ฟ-นครินทร์ ธีระภินันท์ หรือ ‘กอล์ฟ ทีโบน’ แน่นอนว่า ‘ภาพจำ’ ของเขาคือมือกีตาร์ขวัญใจแฟนเพลงวงทีโบน (T-Bone) วงดนตรีกลุ่มแรกๆ ที่บุกเบิกแนวดนตรีเร็กเก-สกาในประเทศไทย และได้รับความนิยมอย่างมาก แต่อีกพาร์ตหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ คือเขาเป็นช่างภาพที่สนใจถ่ายภาพแนว ‘สตรีท’ (Street Photography) อย่างจริงจัง
ความจริงจังที่ว่า นำมาซึ่งการเดินทางไปยังประเทศอินเดียหลายต่อหลายครั้ง ทั้งการไปเวิร์กช็อปถ่ายภาพกับช่างภาพสตรีทระดับโลก ไปจนถึงการเดินทางด้วยตัวเองเพื่อถ่ายภาพสตรีท ในดินแดนที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างแนบชิดกับความศรัทธา และมีเอกลักษณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก โดยเฉพาะความงดงามที่ผสมผสานอยู่กับความสับสนอลหม่าน และความเชื่อที่เข้มแข็งซึ่งแฝงอยู่ในทุกสรรพชีวิต
ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่ ‘ไม่ธรรมดา’ และเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต การที่ช่างภาพสตรีทที่ ‘รักสะอาด’ อย่างกอล์ฟจะสามารถเปิดใจเดินทางไปเยือนอินเดียหลายครั้ง และตกหลุมรักแดนภารตะแห่งนี้ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
“การไปอินเดียที่มีความแตกต่างมากๆ ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น บ่นน้อยลง ถ้าไปแค่ครั้งสองครั้งอาจไม่เกิดอะไรมาก แต่การไปหลายครั้ง ได้อยู่ในเมืองที่ต่างกันไป ก็ทำให้เราเห็นอะไรเยอะ เขามีหลายศาสนาอยู่ด้วยกัน อาจจะมีตีกันบ้าง แต่ก็มีวิธีอยู่ร่วมกันในแบบของเขา เราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ทำให้ปรับมุมมองความคิดได้เยอะ เหมือนปลงกับชีวิตมากขึ้น”
จะว่าไป ภาพสตรีทก็ไม่ต่างจากการ ‘อิมโพรไวส์’ หรือการด้นสดทางดนตรีที่เขาถนัด เพราะมันคือการที่ต้องเปิดโสตประสาททั้งหมดเพื่อรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ลื่นไหลไปกับสิ่งรอบข้าง และใช้ความรู้สึกในการคว้าเมโลดี้แต่ละตัวหรือภาพแต่ละภาพ ที่ปรากฎมาในเสี้ยวขณะนั้น เกิดเป็น ‘สำเนียง’ หรือ ‘ภาพ’ ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์
จากการเดินทางสู่อินเดียในฐานะช่างภาพ ก็นำมาซึ่งการรวบรวมภาพสตรีทจำนวนหนึ่งเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ ‘อินเดียมายเลิฟ’ (India My Love) ผ่านมุมมองของกอล์ฟ ทีโบน ที่ Kathmandu Photo Gallery ใกล้วัดแขก ซึ่งกำลังเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 28 มกราคม 2566
หากคุณรู้จักเขาดีแล้วในฐานะนักดนตรี ลองเปิดใจทำความรู้จักเขาในฐานะช่างภาพดูก็อาจทำให้ค้นพบมุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจในตัวชายคนนี้ก็เป็นได้
อยากเริ่มต้นด้วยการให้คุณเล่าย้อนให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ไปอินเดียคือเมื่อไรและไปทำอะไร
ครั้งแรกที่ไปอินเดีย คือการไปเล่นดนตรีกับวงทีโบน ตอนนั้นเราไปเล่นในงานซึ่งจัดที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่เมืองเชนไน มีวงอินเดียและวงเรา ซึ่งไม่มีใครรู้จักพวกเราเลย ไม่รู้เขาให้เราไปเล่นได้อย่างไร แต่สนุกดี (หัวเราะ) เพราะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทีโบนไปเล่นต่างประเทศบ่อยมาก และส่วนใหญ่ก็ไปแบบไม่มีใครรู้จัก ด้วยความที่เป็นแบบนั้นบ่อย เราเลยไม่รู้สึกกลัวหรืออะไรทั้งนั้น แนวเพลงของวงเราก็ค่อนข้างเวิลด์ไวด์ ก็เลยรู้สึกยินดีที่เขาเชิญไป
การเล่นดนตรีที่อินเดียมันต่างกับที่อื่นๆ อย่างไรไหม
ต่างมาก วิธีการแสดงออกของคนอินเดียคือสิ่งที่เราประทับใจมาก เพราะการเต้นมันอยู่ในวัฒนธรรมของเขา เราเห็นตั้งแต่การกระดิกข้อมือเลย มันมีความเป็นอินเดียชัดเจนมาก ดูแล้วน่ารัก เขาเต็มที่มาก ถึงไม่รู้จักวงเราแต่ก็เอนจอยกับพวกเรา ภาพที่เห็นมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเรา และทำให้รู้สึกว่าจะต้องมาอินเดียอีก
หลังจากนั้นคุณกลับมาอินเดียอีกในช่วงไหน
ก็เป็นช่วงที่เราเริ่มถ่ายภาพแนวสตรีท (Street Photography) ความจริงถ้าถามโดยนิสัยส่วนตัว คือเราไม่ชอบความสกปรกเลย และอินเดียมันค่อนข้างวุ่นวาย แต่เราคิดว่าถึงไม่ชอบก็ควรจะทำ เพราะจะทำให้เราได้ทะลุไปในหลายเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมของเขา พอดีช่วงนั้นเราไปเจอเวิร์กช็อปการถ่ายภาพที่จัดในอินเดีย และมีช่างภาพระดับโลกชาวโปแลนด์ที่ถ่ายภาพแนวสตรีทเป็นหลัก เราก็เลยสมัครไป ครั้งนั้นจัดที่เมืองมุมไบ เราไปเวิร์กช็อป 7 วัน แล้วก็อยู่ต่ออีก เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก มีไกด์คอยแนะนำ ได้เรียนรู้ข้อควรระวังที่ต้องรู้ ได้เพื่อนใหม่เป็นกลุ่มเล็กๆ 3-4 คน ได้เดินถ่ายรูปตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ นอกจากนี้ก็ยังได้เรียนรู้การถ่ายภาพสตรีทจากมือโปรด้วย หลังจากนั้นก็ได้ไปกับเขาอีกประมาณสองครั้ง ก็รู้สึกมั่นใจขึ้น และเริ่มกลับไปอินเดียเองแล้ว
เราสนใจวัฒนธรรมอินเดียอยู่แล้ว และชอบฟังดนตรีอินเดียมาก เลยคิดว่าอินเดียเป็นสถานที่ที่ช่วยพัฒนาเรื่องความก้าวหน้าในการถ่ายภาพสตรีทให้ดีขึ้นได้ เพราะเราจะได้ฝึกจัดระเบียบภาพจากสิ่งที่มันยุ่งเหยิงได้ดีขึ้น มืออาชีพขึ้น ส่วนตัวเราจะเลี่ยงการถ่ายช็อตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวดังๆ เช่น แม่น้ำคงคา คนใส่ส่าหรี หรือหากต้องถ่าย เราก็จะเอาอย่างอื่นเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพด้วย คือพยายามทำให้ภาพมันเซอร์เรียล
คุณบอกว่าไม่ชอบความสกปรกเลย แต่อินเดียเป็นประเทศที่คนมักเป็นห่วงเรื่องสุขอนามัย รวมถึงวิถีชีวิตก็ค่อนข้างแตกต่างและมีเอกลักษณ์มาก คุณมีวิธีจัดการความคิดตัวเองอย่างไรให้สามารถเปิดใจกับสิ่งที่แตกต่างขนาดนั้นได้
เราดูเหมือนเป็นคนตึงๆ แต่จริงๆ เราปรับตัวง่ายมาก คือเราเป็นคนช่างสังเกต เราก็จะเรียนรู้จากการสังเกต จากทั้งคนที่คุยด้วย จากวัฒนธรรมของเขา หรือการใช้ชีวิตโดยปกติว่าเขามีมูฟเมนต์หรือวิถีประมาณไหน แล้วก็พยายามเบลนด์ตัวเองเข้าไป
หรือในด้านที่เป็นวัฒนธรรม อินเดียยังมีความเชื่อทางศาสนา ชนชั้น เรื่องของคน ที่เข้มข้น คือเหมือนระบบความคิดของคนจำนวนหนึ่งยังเป็นเหมือนวัฒนธรรมเมื่อร้อยปีก่อน เวลามีพิธีต่างๆ ยังสามารถก้มลงไปจูบพื้นได้ คือไม่มีเรื่องอื่นเลยนอกจากความศรัทธาและศาสนา เราว่าสิ่งนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เขาอยู่แบบที่เรามองเห็นเขาได้ แม้กระทั่งความเป็นอยู่ในเรื่องสุขอนามัยจะค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง แต่ว่าเขาเองก็อยู่ได้ แล้วเขามีหลายศาสนาอยู่ด้วยกัน อาจจะมีตีกันบ้าง แต่ก็มีวิธีอยู่ร่วมกันในแบบของเขา เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ทำให้เราปรับมุมมองความคิดได้เยอะ เหมือนเราปลงกับชีวิตมากขึ้น
มีเมืองไหนในอินเดียที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษไหม
เราชอบแถวราชาสถาน (Rajasthan) แถวชัยปุระ (Jaipur) ที่เป็นย่านทะเลทราย เพราะรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ที่ประเทศที่ใหญ่มากอย่างอินเดียมีพื้นที่ส่วนนั้นอยู่ อีกอย่างเรารู้สึกว่าย่านนั้นแสงสวย ส่วนเมืองที่เซอร์เรียลมากคือ พาราณสี (Varanasi) เราไปที่นั่นมา 5-6 ครั้งแล้ว ไปอยู่ 10 วันบ้าง 2 อาทิตย์บ้าง มันมหัศจรรย์มากที่สามารถเห็นคนใช้ชีวิตอยู่โดยมีแม่น้ำคงคาเป็นแม่เหล็กที่ดึงให้เขามาทำกิจกรรมทุกอย่าง ชำระร่างกาย เอาน้ำไปทำอาหาร หรือรักษาโรค
นักท่องเที่ยวหลายคนอยากมีประสบการณ์ลงน้ำคงคาสักครั้ง คุณได้ลองหรือยัง
เรายังไม่เคยลง ต้องเล่าว่าครั้งสุดท้ายที่ไปคือประมาณ 4-5 ปีก่อน มันเป็นช่วงมหาศิวะราตรี (Maha Shivaratri)แล้วพาราณสีเป็นแม่เหล็กของเมืองที่เกี่ยวกับพิธีต่างๆ คนมากันเยอะมาก เราว่าน่าจะเป็นแสน ยิ่งกว่าในคอนเสิร์ต จนต้องมีการกั้นรั้วและกรองคนลงแม่น้ำ การ์ดมีเป็นสิบๆ คอยสแกนอาวุธ ตอนนั้นเราก็คิดว่าจะลองลงน้ำ แต่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินถ่ายรูปเสียก่อน
ตอนนั้นเราเดินถ่ายรูปที่พาราณสีกับเพื่อนฝรั่ง บริเวณสนามที่เขาเล่นว่าว เตะฟุตบอล ทำกิจกรรมกัน ในนั้นมีศาลาอยู่หลังหนึ่ง เราก็ไปเดินวนหนึ่งรอบเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีรูปให้ถ่ายในบริเวณนั้นแล้ว แต่พอถึงมุมหนึ่งที่เรากำลังจะเลี้ยวขวา เรามองเห็นแล้วว่ามีว่าวพุ่งเข้ามา แต่มองไม่เห็นสายเอ็นเส้นเล็กๆ ของว่าวที่มันใสมาก มันก็ตัดมาที่ข้อมือเราตรงเส้นเลือดใหญ่ เลือดก็พุ่งกระฉูดชนิดกดไม่อยู่เลย
ตอนนั้นเป็นช่วงที่เขาปิดสถานพยาบาลทุกอย่าง พอดีมีแก๊งวัยรุ่นแถวนั้นวิ่งมาดู เขาก็พาเราเดินหาคลินิก คือเราไม่สามารถเข้าร้านยาได้ เพราะเขาจะไม่ขายให้จนกว่าเราจะไปทำแผลให้เรียบร้อยแล้วเอาใบสั่งจากแพทย์มา เราก็เดินจนเจอคลินิกและเข้าไปเย็บ เข็มที่ใช้เย็บเป็นเข็มแบบสมัยก่อน เหมือนที่ตกปลา เขาถามเราว่าจะเอาเข็มแบบที่ทำความสะอาดแล้ว หรือเอาอันที่ทุกคนใช้ซึ่งอยู่ในถาด เพราะมันคนละราคา แน่นอนว่าเราต้องเลือกแบบที่ทำความสะอาดอยู่แล้ว (หัวเราะ) เขาก็จัดการร้อยไหมเย็บแผลโดยไม่มียาชาอะไรเลย เป็นความเจ็บปวดมาก แต่ก็เรียบร้อยดี (พลิกข้อมือให้ดูรอยแผลเป็น) หลังจากนั้นเราก็ยังเดินถ่ายรูปต่ออีกหนึ่งอาทิตย์
ในมุมของคุณ การเห็นคนเป็นแสนมาร่วมพิธีทางศาสนา ในเมืองที่มีความศรัทธา ความเชื่อเข้มแข็งมากๆ มันสะท้อนอะไรให้คุณรับรู้บ้าง
เราคิดว่าด้วยความที่อินเดียมีประชากรหนาแน่นมาก แล้วคนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้มีอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเทคโนโลยีที่สามารถอัพเดตเกี่ยวกับเรื่องของที่อื่นได้มาก มันเลยเป็นลักษณะเหมือนการสืบทอดเรื่องความเชื่อที่ต่อกันมาเรื่อยๆ และแสดงให้เห็นเป็นพลังของความศรัทธาจากพิธีที่เราเล่าไป ไม่ว่าจะมีกี่พิธีที่เกี่ยวกับศาสนา เขาจะต้องมาเพื่อทำพิธี มันมหัศจรรย์มาก เราได้เห็นและได้อยู่ในช่วงเทศกาลหรืองานที่เกี่ยวกับศาสนาในหลายเมืองของอินเดีย เขาอยู่ได้ด้วยพลังศรัทธาที่คนอื่นอาจจะไม่เชื่อ แต่เขาเชื่อกัน 100% หรือยิ่งกว่า 100% ด้วยซ้ำ การไปงานทางศาสนาต่างๆ ของเขาก็เหมือนการไปรับพลังงานประเภทหนึ่งที่อัดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ตัวเองทำอะไรต่อไปในชีวิตได้
คุณไปอินเดียมาแล้วกี่ครั้ง และสิ่งที่อินเดียเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมองของคุณมากที่สุดคืออะไร
เราไปมาแล้วประมาณ 11-12 ครั้ง ถ้าเป็นในเชิงการถ่ายภาพ สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการไปเดินถ่ายภาพสตรีทในอินเดียคือ ไม่ใช่ทุกครั้งที่ไปแล้วจะได้รูปกลับมา บางครั้งก็ไม่ได้เลย บางทีต้องเว้นไปเป็นปีเพื่อให้ความอดทนสูงขึ้น หรือให้การกรองสิ่งที่เป็นระบบความคิดของเราดีขึ้น ซึ่งทำให้เราคิดได้ว่า อะไรก็ตามที่มันลง มันจะมีบางอย่างที่ขึ้นในเวลาเดียวกัน พอเราถูกบล็อกด้วยสิ่งนี้ สักพักก็จะมีอีกสิ่งที่ให้เรามุ่งไปได้ หรือเรื่องการใช้ชีวิต การไปอินเดียที่มีความแตกต่างมากๆ มันทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้นนะ บ่นน้อยลง ถ้าไปแค่ครั้งสองครั้งอาจจะไม่เกิดอะไรมาก แต่การไปหลายครั้ง ได้อยู่ในเมืองที่ต่างกันไป ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก
ในมุมมองของชีวิต การไปอินเดียบอกว่า เราไม่สามารถไปตัดสินคนจากการที่แค่เห็นเขาเปลือกนอกได้ เพราะมันฉาบฉวยมาก ถ้าเราไม่รู้ก็คือไม่รู้ แต่คุณอย่าไปยุ่งในสิทธิความเป็นเขา ถ้าคุณรู้จักเขาจริง คุณค่อยคอมเมนต์เขาจากสิ่งที่คุณรู้สึกได้ แต่ถ้าคุณไม่รู้จัก คุณไม่สามารถไปบอกว่าทำไมเขาแต่งตัวอย่างนี้ คือเราว่าโลกสมัยนี้อยู่ด้วยการพรีเซนต์ตัวเองเยอะเกินไป มันมีช่องให้พรีเซนต์ตัวเองเยอะ และสร้างฟิลเตอร์สวยงามมาครอบง่าย และทำให้วิธีการมองคนหรืออะไรบางสิ่งมันไม่ละเอียดพอ
ตอนนี้คุณกำลังมีนิทรรศการภาพถ่ายแนวสตรีท ‘อินเดียมายเลิฟ’ ที่คัดภาพจากการเดินทางในอินเดียของคุณมาจัดแสดง ทำไมถึงใช้ชื่อนี้
เราคิดกันมาหลายชื่อมาก แต่เลือกชื่อนี้เพราะเรารักอินเดีย ถ้าให้เลือกไปอีกเราก็จะไปอินเดีย ประเทศยุโรป อเมริกา เราไม่สนเลยนะ เพราะรู้สึกว่าประเทศแบบอินเดียหรือแถบตะวันออกกลางน่าสนใจมากกว่า เป็นประเทศที่มีความเชื่อบางอย่างที่เข้มแข็งมากๆ
การเลือกถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายสตรีทมันมีสเน่ห์หรือสนุกอย่างไร ขณะที่บางคนบอกว่าภาพสตรีทดูไม่รู้เรื่อง องค์ประกอบที่ถ่ายก็ไม่สวย
ความจริงถามว่ารูปพวกนี้สวยไหม ไม่สวยนะ เพราะมันเป็นการจัดองค์ประกอบสิ่งที่ไม่น่าเข้ากันให้เข้ากัน ดังนั้นคนที่ชอบก็ชอบ แต่คนที่ไม่ชอบก็อาจจะมองว่าน่าเกลียด เอาไปแต่งบ้านไม่ได้ บางภาพตัวขาดหัวขาด มันไม่ใช่เป็นรูปที่ดีในแง่ของคนดูทั่วไป ไม่ใช่อะไรที่สมบูรณ์ แต่สำหรับคนที่ช่างสังเกต ภาพสตรีทเป็นเรื่องสนุกมาก ตอนวันเปิดงานนิทรรศการที่ผ่านมา มีฝรั่งที่เป็นนักศิลปะมากันเยอะ บางคนยืนดูเกือบชั่วโมง ดูแล้วดูอีก (หัวเราะ)
เปอร์เซ็นต์ของคนที่จะชอบรูปสตรีทอาจจะน้อย แต่จะให้เราไปถ่ายรูปสวยงามก็ไม่ใช่ตัวเราอีก ยกตัวอย่าง ดนตรีที่เราเล่นกับวงทีโบนก็เป็นเร็กเกและสกา เป็นเพลงออริจินัลของพวกเรา ไม่ได้คัฟเวอร์เพลงใคร ดังนั้น เราก็จะนึกถึงความเป็นเจ้าของ เราเลยคิดว่าภาพสตรีทใกล้เคียงกับดนตรีที่เล่น อีกอย่างเวลาเล่นดนตรี วงเราเล่นอิมโพรไวส์เยอะ คือเรารู้สึกเอนจอยกับสิ่งที่มันยากต่อการควบคุม เหมือนเอาสิ่งที่ไร้ขอบเขตมาทำให้มีขอบเขต
เวลาเรามองภาพสตรีท เราเลยมีความรู้สึกว่า โห จะจัดองค์ประกอบอย่างไรดี มันไร้ขอบเขตมาก ดังนั้น เวลาเราเดินถ่ายภาพสตรีท เราจะเริ่มจำกัดมุมมองต่อสิ่งที่ไร้ขอบเขตนั้นให้เป็นซับเจกต์ต่างๆ เหมือนได้ฝึกไหวพริบและความเร็วในการถ่าย ในมุมหนึ่งมันก็เป็นวิธีเรียนรู้เกี่ยวกับมุมมองและความสามารถตัวเองว่าจะจัดอย่างไร ทำอย่างไร แก้อย่างไร
ระหว่างภาพสตรีทกับอินเดีย มันมีความเหมือนหรือความเชื่อมโยงกันอย่างไรไหม
ยิ่งเป็นอินเดียยิ่งถ่ายยากนะ เพราะทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้มันอยู่บนถนนหมด ไม่ว่าจะเป็น รถ คน หมา วัว แพะ ทุกอย่างเคลื่อนที่และไม่มีเบรก ดังนั้นวิธีจัดการของเขามันจึงเป็นสิ่งที่เขารู้กันเอง แต่เรามองเข้าไปก็จะมีความรู้สึกว่า จัดการได้อย่างไร เหมือนเวลาเดินเข้าร้านหนังสือ เราไม่รู้ว่าหนังสือที่ต้องการอยู่ไหน แต่เจ้าของจะรู้ ไม่ว่าร้านจะเละแค่ไหน ภาพสตรีทและอินเดียจึงเหมือนกันตรงที่เราต้องเรียนรู้วิธีจัดระบบการมองของตัวเองให้ดี
คุณอยากส่งข้อความอะไรผ่านนิทรรศการ ‘อินเดียมายเลิฟ’ ให้คนที่มาดูมากที่สุด
ความจริงการถ่ายภาพสตรีทก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราทำ พอเราประสบความสำเร็จทางด้านดนตรีระดับหนึ่ง สิ่งที่ควรจะมีควบคู่ไปด้วยคือการได้ทำอย่างอื่นที่ทำให้เราต้องกลับไปที่ศูนย์ใหม่ เพื่อเรียนรู้อีกสิ่งที่บางคนอาจจะเก่งแล้ว มันทำให้เรามีมุมมองกว้างขึ้นในวันที่อายุมากขึ้น เราคิดว่าหลายคนที่เห็นงานภาพเหล่านี้แล้วอาจจะไม่เชื่อว่าเราเป็นคนถ่าย การที่เรามีพาร์ตนี้มันก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ ได้เปิดใจกว้างๆ และลองทำดู มันไม่มีอะไรเสีย การเสียก็คือการได้รับนั่นแหละ
ประสบการณ์เบื้องหลังภาพสตรีท 3 ภาพ ที่กอล์ฟทีโบนอยากเล่า
1. รูปนี้ถ่ายในจาร์กาตา (Jakarta) บริเวณสระน้ำที่อยู่ในเมือง และมีทางเดินส่วนหนึ่งที่คนเอาไว้นั่งพัก ลองสังเกตระดับน้ำในสระ นี่คือระดับน้ำปกติ ซึ่งมันทำให้เหมือนว่าพระศิวะกำลังจมน้ำอยู่ ซึ่งเราก็ไม่มั่นใจว่าเขาจงใจให้เป็นแบบนี้ไหม อีกอย่างคือน้ำในสระซึ่งไม่ค่อยได้รับการดูแล ทำให้มันมีสีออกเขียว ตอนไปที่นั่น เราไปกับเพื่อนสองคนที่เป็นชาวต่างชาติ และเหมือนเห็นความเป็นไปได้ที่จะได้ภาพจากซีนนี้ ระหว่างที่ยืนถ่ายไปเรื่อยๆ ตรงด้านหน้าเป็นเสา และใต้เสาจะก่อเป็นปูนขอบสระพอให้คนนั่งได้ พอดีมีจังหวะหนึ่งที่คนนั่งอยู่ยกมือขึ้นมา แค่นั้นก็เหลือเชื่อแล้ว แต่ที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือเล็บของเขาเป็นสีเขียว เข้ากับสีของสระน้ำพอดี ก็เลยได้ภาพนี้มา
2. ภาพนี้ถ่ายที่เกาะโก (KOA) เหมือนเกาะสมุยของอินเดีย ซึ่งเป็นเกาะที่เคยมีชาวโปรตุเกสเข้ามาอยู่ ศาสนาจะเป็นคริสต์ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือเรื่องความสะอาด แล้วสิ่งก่อสร้างจะมีความเป็นโปรตุเกส อาหารจะมีกะทิ มีปลาทะเลเป็นส่วนประกอบ ตอนนั้นเราได้ทุนไปเวิร์กช็อปกับช่างภาพแมกนัม (Magnum) วันนั้นเราไปเดินในสวนสาธารณะ แล้วนั่งพักใกล้กับสนามหญ้าโล่งๆ ตรงนั้นซึ่งมีคนนอนอยู่ แต่มุมมันไม่ได้ พอจะออกจากสวน เราก็เดินอ้อมออกมา พอดีเหลือบไปมองผ่านต้นไม้ทะลุไปที่สนามหญ้าตรงที่คนนอนพอดี ก็เลยยิงแฟลชผ่านต้นสนเพื่อให้มันเป็นไฮไลต์เส้นๆ ตรงด้านหน้า แล้วแสงมันลงมาตรงนั้นชัดมาก จังหวะพอดี รูปนี้ได้ลงในหนังสือ 100 ภาพสตรีทโลกด้วย
3. รูปนี้ถ่ายในราชาสถาน (Rajasthan) บริเวณทางสี่แยกที่เราจะกลับโรงแรม มันมีร้านตัดผมตรงนั้น เวลากลับโรงแรมเราจะมองทุกวัน วันนั้นที่ถ่ายภาพได้คือมีเด็กที่ใส่เสื้อแดงอยู่ในร้าน ซึ่งมันพิเศษเพราะปกติเราสังเกตคนอินเดียที่เป็นผู้ชายชอบใส่เสื้อขาว เราก็คิดว่าน่าจะได้รูปแน่ๆ เลยยืนอยู่ตรงนั้น แต่ยกกล้องขึ้นมาไม่ได้ เพราะถ้าเขาเห็นกล้อง เขาอาจจะหันหน้าไปทางอื่นเลย เราก็ยืนอยู่สักพักพร้อมกับเซตกล้องให้พอดี กระทั่งจังหวะที่ถ่าย เหมือนเด็กหันมาพอดี ซึ่งถ้าสังเกตในรูปดีๆ จะเห็นภาพสะท้อนรถตุ๊กตุ๊กสีเหลืองในถนนด้วย และมีลูกศรที่ชี้เข้าที่ตัวเด็ก ทุกอย่างมันเซอร์เรียลมาก เหมือนเป็นภาพเพนต์ติ้ง แต่พอหลังจากนั้นเด็กก็ยิ้ม เพราะเขาเห็นเราถ่าย เขาจะเริ่มเก๊กและวางมาดแล้ว (หัวเราะ)