SRTA เร่งพลิกโฉมที่ดินรถไฟ รับบริหารต้นปี 66 ลุยปั้นย่านพหลฯ ผุด “สมาร์ทซิตี้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   



SRTA ตั้งเป้ารับบริหารที่ดินรถไฟล็อตแรก 1,800 สัญญา ต้นปี 66 เร่งสรุปแผนแม่บทย่านพหลฯ เสนอคมนาคมผุดสมาร์ทซิตี้ พร้อมลุยพัฒนาแปลงใหญ่ “โรงแรมหัวหิน, สนามกอล์ฟรถไฟ, สถานีธนบุรี, ย่าน RCA” ภายในปี 66 

นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เปิดเผยถึงแผนการรับมอบบริหารทรัพย์สินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า SRTA กำลังดูรายละเอียดร่วมกับรฟท.ในการบริหาร โดยจะมี 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการจ้าง SRTA บริหาร คือกลุ่มที่สัญญายังไม่ครบกำหนด ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน รฟท.ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียม TOR จ้าง มีประมาณ 1,800 สัญญา คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างบริหารและเริ่มรับโอนสัญญาได้ประมาณต้นปี 2566 

ส่วนสัญญาเช่าพื้นที่ภายใต้การดูแลของฝ่ายเดินรถอีกมากกว่า 6,000 สัญญาจะทยอยหลังจากนั้น อีกส่วนเป็นกลุ่มพื้นที่เปล่า และพื้นที่ที่สัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว

“พื้นที่แปลงเล็ก มีกลยุทธ์ในการทำงานแล้ว โดยอยู่ระหว่างการทำแผนรายละเอียด แผนการบริหาร วิธีการหารายได้ให้ รฟท.เพิ่มขึ้น โดยจะสรุปแผนชัดเจนภายในต้นปี 2566”



นางสาวไตรทิพย์กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ การจัดประโยชน์พื้นที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องใช้เวลาในการศึกษา วิเคราะห์ประเมินทางด้านการลงทุน โดยหากพื้นที่แปลงใดมีรูปแบบและมีผลตอบแทนในการลงทุนเหมาะสมชัดเจน SRTA จึงจะขอเช่าพื้นที่จาก รฟท.มาดำเนินการเป็นรายแปลง

โดยมีที่ดินแปลงใหญ่ที่สัญญาหมดอายุและสัญญากำลังจะหมด เช่นพื้นที่โรงแรมหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบัน รฟท.ให้บริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ท จำกัด เช่าที่ดินอาคาร และทรัพย์สิน (โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ รีสอร์ท

แอนด์ วิลล่าหัวหิน ) เนื้อที่ 71.65 ไร่ ซึ่งสัญญาจะครบกำหนดวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

พื้นที่สนามกอล์ฟรถไฟหัวหินกว่า 500 ไร่ ติดสถานีรถไฟหัวหิน อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม โดยกำลังลงสำรวจพื้นที่ทั้งหมด ดูขอบเขต และผู้บุกรุกต่างๆ

ส่วนในกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษารูปแบบแนวคิดไว้แล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ พัฒนารูปแบบ Mixed User Project ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล หรือ Health & Wellness และ โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์สุขภาพ ร้านค้า ซึ่งจะนำมาทบทวนให้เหมาะสม คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปี 2566 นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่พระราม 9 (RCA) ที่อยู่ระหว่างศึกษา

@เร่งแผนแม่บทพัฒนาย่านพหลโยธินผุด “สมาร์ทซิตี้”

สำหรับพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ได้มีการศึกษาวางผังแม่บท (Master Plan) ในการพัฒนาแล้ว โดยมีการหารือกับทางไจก้า โดยมีกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLIT) สนับสนุนเพื่อพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) โดยจะมีการเสนอแผนแม่บทการพัฒนา เสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคม ในปลายเดือน พ.ย.นี้

ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินยังมีขั้นตอนอีกมาก เนื่องจากต้องทำแผนแม่บทการพัฒนาทั้งหมดเป็นสมาร์ทซิตี้บางซื่อ และเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบ คาดว่าจะสรุปได้ประมาณกลางปี 2566

“แนวทางจะต้องเห็นชอบแผนแม่บท จากนั้นจะมีความชัดเจนว่าจะนำแปลงไหนมาพัฒนาก่อน ซึ่งเดิมมีแนวคิดในการพัฒนาแปลง A ก่อน แต่ตอนนี้ต้องดูว่ายังคงแนวคิดรูปแบบการพัฒนาแปลง A เหมือนเดิม เป็นแปลงแรกอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดอีกเป็นปี”

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามผลศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ แบ่งพื้นที่ 9

แปลง โดยแปลง A มีเนื้อที่ 32 ไร่ จะถูกนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ก่อน แต่หลังจากที่ รฟท.เปิดประมูล 2 ครั้งไม่มีเอกชนสนใจ จึงปรับแผน ซึ่งบอร์ด รฟท.ได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่การรถไฟฯ และพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณตึกแดง บางซื่อ (บางซื่อแปลง E) เนื้อที่รวม 140 ไร่ ซึ่งอยู่ติดสถานีกลางบางซื่อ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า MRT

สีน้ำเงิน และสำนักงาน SCG จึงมีศักยภาพมากกว่า