โชคดี…ที่ได้เป็นคนแก่ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

โชคดี…ที่ได้เป็นคนแก่ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี [email protected]

“หมู่นี้เฮียนอนไม่ค่อยหลับเลย” คุณชูสง่าเปรยเรื่องสุขภาพกับพี่หมอ เพราะระยะหลังนี้เฮียสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง ตั้งแต่อายุย่างเข้าหลักเจ็ด ตาก็มัวลง แต่ไปเปลี่ยนเลนส์มาแล้วเมื่อปีก่อน ฟันหมอก็นัดปลายเดือนนี้ แถมยังหลงๆลืมๆบ่อยขึ้น “เฮียอายุเท่าไรแล้วละครับ” พี่หมอถาม “ก็ครบ 6 รอบไปเมื่อเดือนที่แล้วไง” เฮียตอบพร้อมกับรู้นัยที่พี่หมอถาม “เออ! คงเป็นเพราะความแก่ใช่ไหม? หมอ” “ใช่ครับ…แต่เฮียต้องภูมิใจนะที่เรามีโอกาสได้เป็นคนแก่” “อ้าว! ดียังไง?” “ก็ตอนนี้ เฮียมีเพื่อนกินหรือเพื่อนตายมากกว่ากันละ” “เออ! จริง” “โชคดีที่ได้เป็นคนแก่ 555” เจ้าเก่งที่นั่งฟังอยู่ด้วยหัวเราะลั่น “เออกูแก่แต่ตัว…หัวใจไม่แก่นะเว้ย!” “เห็นจะจริง ออกรอบครั้งก่อน เก่งเห็นเฮียให้ทิปน้องเมย์ไปตั้งหลายตังส์ แค่เปลี่ยนมาเรียกพี่ชูหน่อยเดียว” “มึงพูดค่อยๆไอ้อ้วน เดี๋ยวซ้อได้ยิน” พี่หมอแหย่บ้าง

ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ กลุ่มโรคสามัญทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต ซึ่งเกิดได้กับคนทุกวัย แต่พออายุมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเป็นมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอาการที่เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุ คือเกิดจากความชราภาพของร่างกาย ซึ่งสำหรับกลุ่มอาการที่เป็นปัญหาเฉพาะหรือพบบ่อย อยู่ในผู้สูงอายุนั้น ได้แก่

1.อาการสับสนและสูญเสียความทรงจำ อาการหลงลืมหรือคิดช้าลง เป็นอาการที่พบได้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีภาวะหัวใจหรือสมองขาดเลือด สมองจะมีอาการงุนงง สับสน หรือเพ้อได้ง่ายขึ้น โดยสัญญาณที่เตือนว่าผู้สูงอายุอาจมีอาการสมองเสื่อม เช่น เรียนรู้หรืออาจจดจำสิ่งใหม่ๆลำบาก พูดช้า หลง หรือลืมทิศทางในที่ที่คุ้นเคย ไม่อยากเข้าสังคม อารมณ์หรือนิสัยเปลี่ยนแปลงไป ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยคือ อัลไซเมอร์

2.ภาวะกระดูกพรุน ไม่มีอาการอะไร กว่าจะทราบก็เมื่อหกล้มกระดูกหักแล้ว การที่กระดูกบางลง ทำให้เปราะหักหรือยุบง่าย ผู้สูงวัยจึงต้องระวังการหกล้ม เพราะกระดูกหักง่าย

3.ปัญหาการทรงตัวและการหกล้ม ปัญหาการทรงตัวเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ข้อเสื่อม กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง โรคทางสมอง ความดันโลหิตตก เมื่อลุกขึ้นยืนเร็วจากท่านั่งหรือนอน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือยาต่างๆที่มีผลต่อความดันโลหิต หรือทำให้ง่วง สภาพแวดล้อม เช่น พื้นที่ลาดเอียง เปียก และแสงสว่างไม่พอ

4.ปัญหาการกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนหรืออ่อนล้า สมองหรือเส้นประสาทบกพร่องในการควบคุมการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ จากยาบางชนิด เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต ควรฝึกขมิบก้นวันละ 50-100 ครั้ง

5.อาการมึนงง เวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อยและอาจเป็นสาเหตุของการหกล้ม เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันต่ำ ความวิตกกังวล และผลค้างเคียงจากยา เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยาคลายเครียด ยากันชัก ควรระวังการเคลื่อนไหวลุกจากท่านั่ง-นอน ใช้ราวจับหรือไม้เท่าพยุง

6.ปัญหาการได้ยิน ความสามารถในการได้ยินลดลง มีอาการหูอื้อหรือหูตึง ทำให้รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือ ฟังไม่ค่อยได้ยิน ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ อาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังหรืออ่านริมฝีปาก

7.ปัญหาการมองเห็น จากวัยที่ส฿งขึ้น และอาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ต้อหินต้อกระจก จอประสาทตาเสีย ทำให้การมองเห็นลดลง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้ ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

8.อาการนอนไม่หลับ ผู้สูงอายุ มักมีปัญหาคุณภาพการนอนที่ลดน้อยลง อาจนอนหลับยาก ตื่นบ่อย หลับไม่ลึก และตื่นมาไม่สดชื่น อาจมีสาเหตุจากวัยที่สูงขึ้น ภาวะเครียด วิตกกังวล กรดไหลย้อน อาการปวด การหายใจผิดปกติ นอนกรน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือจากยาบางอย่าง ทั้งนี้ อาการนอนไม่หลับอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการหกล้ม อารมณ์หงุดหงิด ภูมิคุ้มกันลดลงจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การป้องกันและดูแลโดยจัดห้องนอนให้มีบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสบาย เงียบสงบ อุณหภูมิที่เหมาะสม เข้านอนให้เป็นเวลา เวลาที่เหมาะสมคือ 3-4 ทุ่ม เวลาตื่น ตี 4-5 ไม่ควรนอนกลางวันนาน และไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง ดื่มน้ำให้น้อยลงหลังอาหารเย็น เพื่อลดการปัสสาวะในตอนกลางคืน ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเวลาบ่ายโมง ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลก็มีส่วนอย่างมากต่อการดำรงชีวิตที่มีความสุขของผู้สูงอายุ การปฏิบัติต่อท่านอย่างนุ่มนวล อ่อนโยน คือหัวใจของการดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง