อะไรจะตามมา?ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

อะไรจะตามมา?ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี [email protected]

วันนี้มีอันต้องประกาศงดออกรอบหนึ่งวัน อันเนื่องมาจากคุณชูสง่ารู้สึกผิดปกติเล็กน้อย กล่าวคือ มีอาการเวียนศีรษะขณะลุกจากที่นอนและรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ จังหวะติดๆขัดๆเป็นระยะห่างๆ แต่ยังพอเดินเหินทำกิจวัตรได้ช้าๆตามปกติ คิดว่าตอนสายๆอาบน้ำอาบท่าแล้วน่าจะหายไป เพราะนานๆจะมีอาการวาบหวิวอย่างนี้สักที เมื่อพักงีบหลับสักพักก็จะหายไปเอง แต่คราวนี้ถึงเวลาจะไปออกรอบก็ยังมีอาการอยู่ดูเหมือนจะถี่ขึ้นด้วย จึงประกาศให้เจ้าเก่งโทรไปบอกน้องมายด์แคดดี้คู่ใจขอลาหนึ่งวัน “เต้นจังหวะชะชะช่า หรือสโลว์ซบ ครับเฮีย” เจ้าเก่งสงสัย แต่ได้แต่ถามในใจไม่กล้าถามให้ได้ยิน ส่วนพี่หมอดูอาการ วัดความดันแล้วกล่าวกับเฮียว่า อาการหัวใจเต้นผิดปกติอย่างนี้ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจทำให้หัวใจวายหรือสมองขาดเลือดได้นะครับ เดี๋ยวผมจะเอา HOLTER มาติดบันทึกอาการเต้นของหัวใจ 24 ชั่วโมงจะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องนะครับ ?

อาการเตือน “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” เสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวหลอดเลือดสมองอุดตัน

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) ถือเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งเกิดจากมีจุดหรือตำแหน่งบางที่ในใจที่ให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติหรือมีจุดไฟฟ้าลัดวงจรเล็กๆเกิดขึ้นอีกที่หนึ่งภายในหัวใจ แต่เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวมีขนาดเล็ก จึงส่งผลรบกวนการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามปกติ อาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือเกิดภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันได้เพิ่มมากขึ้น

สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดปกติ เกิดจาก
– กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด
– การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ มักเกิดในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เนื่องจากหัวใจทำงานมาเป็นเวลานาน จึงเกิดความเสื่อมตามอายุการใช้งาน พลังงานที่กระตุ้นหัวใจน้อยลง ส่งผลให้หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
– นอกจากนี้ โรคบางอย่างก็ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
– ยาและสารเสพติดบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาหวัด ที่มีผลต่อหัวใจ

สัญญาณเตือน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
– วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย หรือ วูบ เป็นลม หมดสติ
– ใจสั่นผิดปกติ หรือ กระตุกอย่างรุนแรง
– เจ็บแน่นบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่
– อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ซึ่งถ้าพบความผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยบางราย อาจต้องติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยใช้ Holter Moniter

– แพทย์จะรักษาโดยเปลี่ยนให้หัวใจกลับมาเต้นอย่างปกติ โดยการรักษาด้วยไฟฟ้าหรือใช้คลื่นวิทยุ นอกจากนี้อาจพิจารณารักษาด้วยยา เพื่อคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป บางรายอาจต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจเต้ยผิดจังหวะ เช่น งดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หลีกเลี่ยงความเครียดหรือวิตกกังวล หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์และควรหมั่นตรวจสุขภาพ เช็คความผิดปกติของร่างกายและหัวใจสม่ำเสมอ