ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง
ในการจัดการประกวดหรือการแข่งขันใด ๆ ย่อมมีรายการใหญ่ ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด อย่างวงการเทนนิสจะมีเทนนิสแกรนด์สแลม หรือวงการกอล์ฟจะเรียกว่าการแข่งขันกอล์ฟรายการเมเจอร์ สำหรับการประกวดนางงามที่มีมาหลายทศวรรษก็มีการจัดอันดับเช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า GRAND SLAM OF BEAUTY PAGEANTS จัดโดย Global Beauties เว็บไซต์ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์และวิเคราะห์การประกวดนางงามระดับนานาชาติ
นอกจากประกวดความสวยความงามแล้ว การประกวดนางงามแต่ละรายการจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์หรือปฏิบัติภารกิจทางสังคมไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ดังนั้นเราจึงเห็นว่านางงามนอกจากจะมีความสวยแล้วต้องมีความรู้ มีมุมมองในมิติทางสังคมด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งในรอบตอบคำถาม
ในช่วงหลัง ๆ มีนางงามออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นการเมืองและสังคมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงตอบคำถามบนเวทีได้ครองมงกุฎแล้วจบ อย่างในการประกวดนางงามมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์ที่ทำให้นางงามคนหนึ่งได้สิทธิ์กล่าวสุนทรพจน์บนเวทีเป็นกรณีพิเศษ
เธอคนนั้นคือ ฮาน เลย์ (Han Lay) มิสแกรนด์เมียนมา ที่กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการยุติความรุนแรงและเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประเทศของเธอ และอย่างนางงามหลายคนไทยก็แสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียในประเด็นทางการเมืองและการบริหารประเทศของรัฐบาล เป็นกระบอกเสียงของประชาชนในอีกทางหนึ่ง
จากความสนใจที่สังคมมีต่อการประกวดนางงามอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และในวันที่ 16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้จะมีการประกวดนางงามอีกหนึ่งเวทีสำคัญ นั่นคือ มิสยูนิเวิร์ส
“ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากชวนทำความรู้จักกับเวทีการประกวดนางงามที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน “แกรนด์สแลม” ว่าแต่ละเวที มีความเป็นมาอย่างไร มีจุดประสงค์ในการจัดการประกวดเพื่อการใด เพื่อแสดงจุดยืนของผู้หญิง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ หรือเพื่อสันติภาพของโลก
Miss World
เวทีการประกวดนางงามระดับนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1951 โดย เอริก มอร์ลีย์ (Eric Morley) ในปี 2021 นี้เอง เวทีมิสเวิลด์ (Miss World) จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งปัจจุบันมีแฟรนไชส์มากกว่า 100 ประเทศ
ครั้งแรกที่มีการจัดการประกวดขึ้น เป็นการจัดประกวดชุดบิกินี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง Festival of Britain และมอร์ลีย์เรียกว่า Festival Bikini Contest โดยการจัดการประกวดครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการขายชุดว่ายน้ำที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด
หลังจากนั้นการประกวดนี้ได้รับความนิยมจากสื่อมวลชนจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Miss World เขาจึงตัดสินใจที่จดลิขสิทธิ์ชื่อ “Miss World” เป็นเครื่องหมายการค้า และจัดการประกวดในชื่อนั้นในปีต่อมา
ในปี 2000 จูเลีย มอร์ลีย์ (Julia Morley) ได้เข้ามารับช่วงต่อหลังจากสามีของเธอเสียชีวิต ในปีนั้นเองเธอตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิธีการตัดสินการประกวด เพื่อพิสูจน์ว่ามิสเวิลด์ไม่ใช่เวทีประกวดสาวงามในชุดว่ายน้ำเพียงอย่างเดียว โดยเพิ่มเกณฑ์ในการตัดสินในเรื่องของบุคลิกภาพ ไหวพริบปฏิภาณ จึงจะเป็นความงามที่มีคุณค่า และมาพร้อมกับสโลแกน Beauty with a Purpose
ปัจจุบัน มิสเวิลด์ ออร์แกไนเซชั่น (Miss World Organization) ผู้จัดการประกวดมิสเวิลด์ในรอบไฟนอล ภายใต้การนำของจูเลีย มอร์ลีย์ เป็นองค์กรที่ระดมทุนเพื่อการกุศลสำหรับเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส
Miss Universe
มิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) หรือการประกวดนางงามจักรวาล เป็นเวทีการประกวดสาวงามที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 1952 เป็นอีกหนึ่งเวทีการประกวดที่ยิ่งใหญ่อีกรายการหนึ่งของโลก บุคคลที่ผ่านเวทีการประกวดนี้หลายคนได้กลายเป็นบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลก
ถึงตอนนี้ จักรวาลแห่งความงามได้เดินทางมาถึงปีที่ 69 แล้ว ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของเวทีการประกวดนี้เกิดขึ้นจากบริษัท Pacific Knitting Mills บริษัทเสื้อผ้าจากแคลิฟอร์เนียและผู้ผลิตชุดว่ายน้ำแบรนด์ Catalina Swimwear เป็นผู้สนับสนุนการประกวด Miss America
แต่หลังจากโยลันด์ เบตเบซ (Yolande Betbeze) ผู้ชนะการประกวดปฏิเสธที่จะสวมชุดว่ายน้ำของบริษัทเพื่อการประชาสัมพันธ์ พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะจัดการประกวดขึ้นมาเองโดยใช้ชื่อว่ามิสยูนิเวิร์ส และจัดการประกวดครั้งแรกขึ้นที่เมืองลองบีช มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
การประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นมากกว่าการประกวดนางงาม แต่มันคือการเฟ้นหาผู้หญิงที่ฉลาด มีความสามารถ สุภาพอ่อนโยน และมีทักษะการตอบคำถามที่ดี เพราะรอบตอบคำถามถือเป็นรอบที่มีความสำคัญอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
มิสยูนิเวิร์ส ออร์แกไนเซชั่น (Miss Universe Organization) เป็นเจ้าของและดำเนินการประกวดมิสยูนิเวิร์ส มิสยูเอสเอ และมิสทีนยูเอสเอ มีเป้าหมายของการจัดการประกวดเพื่อยกย่องผู้หญิงจากทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม เพื่อให้พวกเธอบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
รวมถึงสร้างความมั่นใจและสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและตอบแทนสังคมผ่านการทำกิจกรรมการกุศลระหว่างประเทศ การเป็นอาสาสมัคร การระดมทุนและการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
Miss International
มิสอินเตอร์เนชั่นแนล (Miss International) หรือชื่อทางการคือ Miss International Beauty Pageant เป็นอีกหนึ่งเวทีการประกวดที่จัดมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ โดยจัดการประกวดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1960 ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังจากการประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ย้ายไปจัดที่หาดไมอามี ในรัฐฟลอริดา
ในปี 1967 เจ้าของเดิมได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับ International Cultural Association (ICA) ประเทศญี่ปุ่น และจัดการประกวดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยยังคงรูปแบบในการจัดการประกวดแบบเดิม เน้นที่ผลักดันผู้หญิงใช้ชีวิตในแง่บวก มีความเข้มแข็งจากข้างใน และเป็นตัวของตัวเอง
สโลแกนของการประกวดคือ “ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับญี่ปุ่นในประชาคมโลก” และ “การสร้างสันติภาพของโลกให้เป็นจริงด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
นอกจากนี้มิสอินเตอร์เนชั่นแนลยังได้จัดตั้ง Miss International Fund เพื่อบริจาคเงินให้กับเด็กที่ด้อยโอกาสทั่วโลกผ่านทาง UNICEF และองค์กรการกุศลอื่น ๆ และทุกปีตัวแทนของญี่ปุ่นยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Green Campaign ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ
ด้วยกิจกรรมการกุศลที่มีอย่างต่อเนื่อง การประกวดมิสอินเตอร์เนชั่นแนลจึงเป็นมากกว่าการประกวดความงาม แต่เป็นโอกาสสำหรับผู้เข้าประกวดที่จะพัฒนาตัวเองผ่านการมีส่วนร่วมในประชาคมโลก
Miss Supranational
มิสซูปราเนชั่นแนล (Miss Supranational) เวทีการประกวดที่เฟ้นหาสาวงามที่มีความมั่นใจ บุคลิกภาพดี พร้อมมีทักษะการเดินแบบที่โดดเด่น จัดการประกวดครั้งแรกเมื่อปี 2009 ที่ประเทศโปแลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดเกือบ 40 ประเทศทั่วโลก
หลังผ่านไป 10 ปี เวทีนี้เติบโตอย่างรวดเร็วมาก มีผู้เข้าร่วมประกวดมากขึ้นถึงสองเท่าจากทุกทวีป จนกลายเป็นหนึ่งในรายการทีวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกในธุรกิจประเภทเดียวกัน
เวทีนี้เป็นเวทีการประกวดที่เน้นความสง่างามและความเป็นธรรมชาติของผู้เข้าแข่งขัน โดยมีคำขวัญของการประกวดคือ Glamour, Fashion and Natural Beauty
นอกจากนี้สมาคมความงามระดับโลก (World Beauty Association) องค์กรเจ้าของเวทียังได้จัดการประกวดมิสเตอร์ซูปราเนชั่นแนล (Mister Supranational) ในปี 2016 เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมการประกวดในลักษณะเดียวกัน โดยมีแนวคิดคือ การค้นหานายแบบที่มีพรสวรรค์มาประดับวงการ
Miss Grand International
มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล (Miss Grand International) เวทีประกวดนางงามน้องใหม่ในบรรดาท็อป 5 ของแกรนด์สแลม ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2013 โดยณวัฒน์ อิสรไกรศีล เป็นเวทีการประกวดระดับนานาชาติที่มีตัวแทนสาวงามมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมการประกวด
สำหรับเวทีการประกวดนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์หยุดการทำสงคราม สร้างเสรีภาพ สันติภาพ และความปรองดอง โดยเชื่อว่า ประเทศ ศาสนา เชื้อชาติ ชุมชนและครอบครัว จะดีขึ้นได้เมื่อมีความสงบสุข ผู้ที่ได้รับตำแหน่งมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จะต้องพร้อมปฏิบัติภารกิจภายใต้แคมเปญ Stop the War and Violence หรือยุติสงครามและความรุนแรง
ในปีล่าสุด อะเบน่า แอปเพียห์ (Abena Appiah) สาวงามจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ครองตำแหน่งมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 มีความสนใจที่จะขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การเรียกร้องให้ยุติการเหยียดชนชาติและสีผิว กับแคมเปญ #BlackLivesMatter #StopAsianHate ที่เธอสื่อสารผ่านเสื้อคลุมชุดประจำชาติที่มีรายชื่อและใบหน้าของผู้เสียชีวิตจากการถูกเหยียดสีผิว
ภายหลังได้รับตำแหน่งเธอก็พร้อมเดินหน้าเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองให้กับเด็กผู้หญิงผิวดำ รวมถึงกระแสต่อต้านคนเอเชีย เพื่อยุติความรุนแรงในสังคม