(ชมคลิป) ปั้นธุรกิจให้ปังยอดขายแตะ 100 ล้าน! ใน 2 ปี ยุคโควิด #ถอดวิธีคิด แบบโปรเชน-สหรัฐ : ตอนที่ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   



จากบ้านล้มละลาย สู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ดัง โปรกอล์ฟตีไกลแชมป์ประเทศไทย นักสร้างแรงบันดาลใจ เจ้าของแบรนด์กอล์ฟไทยมูลค่า 100 ล้าน “โปรเชน-สหรัฐ มานิตยกุล”



โปรเชน-สหรัฐหรือ “สหรัฐ มานิตยกุล” เจ้าของเพจ Pro Chain-Saharath ที่มีผู้ติดตามแล้วกว่า 2.4 ล้านคน ในปัจจุบันและด้านธุรกิจเขายังเป็นเจ้าของหรือ Co-founder แบรนด์อุปกรณ์กีฬากอล์ฟ “LEBORN” สัญชาติไทย ที่มียอดขายแตะหลัก 100 ล้านบาท! ต่อปี ท่ามกลางยุคโควิดเพราะธุรกิจนี้ เพิ่งเปิดตัวมาได้ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็ประสบความสำเร็จอย่างโตธุรกิจแบบกระโดดแล้ว! วันนี้เราจะมารู้จักเขาคนนี้ให้มากขึ้นกว่า ชวนมาฟังวิธีคิดแบบ Pro Chain-Saharath ที่เชื่อว่ามีหลาย ๆ คนก็ติดตามอยู่ ด้วยความชื่นชอบในสิ่งที่เขาสื่อสารแบบมุมของGiver ซึ่งแน่นอนว่ายุคนี้ทุกคนไม่ปฏิเสธการเสพข้อมูลจาก“โซเชียลมีเดีย” แต่ถ้าการใช้เวทีนี้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างตัวตนหรือ การสร้างแบรนด์บุคคล เท่านั้นหากยังสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจยอดขายหลัก 100 ล้าน! ได้ในระยะเวลาอันสั้นขึ้นล่ะ? คุณพร้อมที่อยากฟังเขาคนนี้พูดหรือยัง

“คนชอบคิดว่า “โปร” เนี่ยมันคือ เป็นการโปรในแนวคิด หรือโปรในการทำคอนเท้นต์หรือเปล่า แต่ว่าเส้นทางจริง ๆ มันก็คือคำว่า “โปรกอล์ฟ ครับคนไม่รู้ คนมักไม่รู้ว่าผมเป็นโปรกอล์ฟจริง ๆ ครับ เอ่อตั้งแต่ที่เรียนจบมา ผมจบนิเทศศาสตร์ แล้วก็จบมาปุ๊บผมก็เทิร์นโปร ก่อนที่เทิร์นโปรก็คือด้วยความเป็นนักกอล์ฟเยาวชน เล่นกอล์ฟมาตลอดครับ คือในหัวตอนนั้นไม่เคยคิดถึงเรื่องว่า ชาตินี้จะไปทำมาหากินอย่างอื่นเลย คิดว่ายังไงก็ต้องเป็นโปรกอล์ฟอยู่แล้ว จนวันที่เรียนจบมา ก็คือผมพบว่าคุณพ่อล้มละลาย คุณพ่อโดนฟ้องล้มละลาย เส้นทางที่เราจะเอาเงินคุณพ่อไปแข่งขันในเส้นทางสายกอล์ฟอาชีพ มันหายหมด! เหมือนความฝันที่เราฝันมาจาก 20 ปีตั้งแต่เด็ก มันไม่มีแล้ว ผมก็เลยต้องออกมาทำมาหากิน ก็คือออกมาทำงานเนี่ยแหละครับ”



จาก “โปรกอล์ฟ” สู่เส้นทางนักสื่อสารการตลาด

โปรเชน-สหรัฐเล่าว่า ด้วยความที่ชอบในนิเทศศาสตร์ สมัยที่เรียนนิเทศศาสตร์คือรู้สึกว่า การสื่อสารมันคือสิ่งที่ตนเองหลงใหลมาก การสื่อสารการนำเสนอ การทำวิดีโอ ซึ่งตอนที่เรียนอยู่ก็ทำหนังสั้นมา หลาย ๆ เรื่องเลยทำให้รู้สึกว่าหลงใหลในเสน่ห์การสื่อสาร ดังนั้นพอจะต้องมาทำงานจริง ๆ เพราะว่าทำกอล์ฟต่อไปไม่ได้ เราไปแข่งขันไม่ได้ เราก็คงมาแนว ๆ นี้และด้วยความที่ตอนนั้น เหมือนเรามีโปรไฟล์จากตอนที่เรียนและทำหนังสั้นด้วย ก็ถูกดึงตัวไปจากหลาย ๆ ที่ ให้ไปร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ

“ผมไปทำงานอยู่ในแวดวงเหล่านั้นประมาณ 2 ปี พอทำงานอยู่ในแวดวงอื่น ๆ ที่มันเป็นmass เราก็เริ่มชอบจนสุดท้ายก็เลยมาเปิด โปรดักชันเฮ้าส์ เล็ก ๆ ชื่อว่าเชนโปรเจคต์ขึ้นมาครับ และก็รับงานผลิตงานโฆษณาให้กับลูกค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่สเกลในปัจจุบันก็จะเป็น งานในด้านโฆษณาออนไลน์ หรือว่าการทำคอนเท้นต์มาร์เก็ตติ้ง หรือไม่ก็จะเป็นเรื่องของการเน้น เรื่องแบรนด์ อะไรอย่างเงี้ยครับ”



ปั้นแบรนด์อื่นมาก็เยอะแล้ว ได้เวลาสร้างตัวตน(พูดเรื่องของเราเองบ้าง)

“และก็พอทำไปสักระยะหนึ่งครับ ก็รู้สึกว่ามันอึดอัดนิดหน่อย มันมีความอึดอัดแบบถ้าคนที่ทำสายโปรดักชั่นมา จะรู้สึกว่าเราพูดให้แบรนด์มาเยอะจนแบบเราก็ อยากพูดเรื่องของเราบ้างอะไรเงี้ย เหมือน ๆ คนที่ทำเรื่องการสื่อสารจริง ๆ จะรู้สึกว่า เรามีอะไรบางอย่างที่เราก็อยากพูดเหมือนกันนะ สุดท้ายก็เลยมาทำแฟนเพจครับ ชื่อ Pro Chain-Saharath ก็คือเป็น personal ตัวเองนี่แหละเป็น Personal Brand ครับที่ในf acebook ก็ทำมาถ้าผมจำไม่ผิด ประมาณปี 2559 ครับ เราก็เริ่มเปิดเพจนี้ขึ้นมาแล้วก็ตอนแรกทำเรื่องกอล์ฟก่อน ด้วยความที่เราเป็นโปรกอล์ฟด้วยเนาะ และก็ตอนนั้นบริษัทโปรดักชั่นของผม ผมก็รับงานด้านกอล์ฟด้วย มันจะมีงานองค์กรส่วนหนึ่งและมีงานเรื่อง รายการกอล์ฟ อะไรพวกนี้ด้วย ตอนแรกทำเป็นโปรเชนก่อน แต่แบบพอทำไปเรื่อย ๆ เรารู้สึกเริ่มติดลม แล้วเรารู้สึกเราอยากพูดในสิ่งที่เราอยากพูดอะไรเงี้ยครับ ก็เลยทำคอนเท้นต์ mass เลยทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด เรื่องปรัชญา เรื่องวิธีคิด อะไรพวกนี้ครับ”

โปรเชน-สหรัฐบอกว่า ถ้าเป็นเรื่องแนวคิดจริง ๆ แล้ว มันเป็นเรื่องที่ตนเองรู้สึกin มาก ๆ อยู่แล้ว เอาจริง ๆ ตนไม่ใช่ คือคนชอบเรียกว่านักสร้างแรงบันดาลใจ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย ตนเองไม่ได้มาจากหรือเคยเรียนมาทางด้านนั้นเลย และก็ไม่ได้มีความเก่งทางด้านนั้นเลย อยากเป็น แต่ว่าเราไม่ใช่ แล้วจริง ๆ ทุกสิ่งทุกคลิปทั้งในอดีตและก็ปัจจุบัน เรื่องแนวคิดต่าง ๆ ที่เคยทำเป็นเพราะว่า เราอินจริง ๆ อย่างเช่นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ก็จะรู้สึกอินในมุมแบบของตนเอง และก็เรื่อง ความสัมพันธ์ เรื่องความรัก เรื่องการเป็นหัวหน้าครอบครัว ฯลฯ เรื่องไหนที่เราอิน บอกตรง ๆ ว่าช่องทางตนเองไม่เคยคิดเลยว่า วันนี้จะต้องทำคอนเท้นต์อะไรให้มีคนดู แต่ว่าผมกำลังอินในเรื่องนี้ แล้วผมอยากพูดเรื่องนี้ออกไปอย่างเงี้ยครับ



สื่อสารผ่านคอนเท้นต์ นำเสนอประเด็นที่คิดต่างทาง‘Positive’ ได้

“จริง ๆ แล้วเรื่องราวในสังคมก็เป็นอีกอันหนึ่ง ที่ผมชอบเพราะว่า ต้องบอกอย่างงี้ว่า จุดเริ่มต้นของการเอาประเด็นสังคมมามันมีนัยบางอย่าง คือด้วยความที่‘โซเชียลมีเดีย’ ตอนแรกเราก็รู้สึกว่า มันเป็นประโยชน์ใช่ไหมครับ จริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่มันมีประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งอีกนัยหนึ่งคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า มันก็มีมุมที่มันไม่มีประโยชน์เหมือนกัน ก็คือผมรู้สึกว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีผลในแง่ของ การทำให้คนที่คิดเหมือนกันมารวมตัวกันมากเกินไป เพราะฉะนั้นเวลามีเรื่องราวที่มันเป็นข่าวในสังคมอะไรบางอย่าง มันก็จะเป็นคนที่คิดอะไรที่ในไดเร็กชั่นเดียวกัน ในทิศทางเดียวกันอะไรเงี้ย แต่ว่าผมก็ยังรู้สึกว่าผมแค่ ทุกครั้งที่หยิบประเด็นในสังคมมาผมรู้สึกว่า มันก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่มันสามารถคิดได้ และมันก็คุณอาจจะไม่ อย่างเช่นเราเสพข่าวนี้เราอาจจะไม่ต้องรู้สึกว่า มันเป็นToxic อย่างเดียวที่จะอินพุชเข้ามาในตัวเรา แต่มันก็มีมุมที่มันเป็น Positive ด้วย เราสามารถคิดบวกกับมันในมุมนั้นได้เลยครับ อย่างเช่นหลาย ๆ ข่าวเป็นแบบที่เป็นข่าวบางทีเมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ผมดู แล้วแบบเราโกรธไปด้วย เราอินไปด้วย บางข่าวดูแล้วแบบโกรธ จนสุดท้ายเรามารู้ตัวว่าเราโกรธแบบนั้นทั้งวันจากการดูข่าวนี้ อะไรอย่างนี้ครับ ผมก็เลยรู้สึกว่าไอ้พวกนี้ถ้าเราจะทวิสมัน ให้มันมาเป็นในมุมบวกมันสามารถทำได้ ก็คือเราให้มันมาเป็นบทเรียนสอนอะไรเราบางอย่าง มันก็จะเป็นแค่มุมมองเล็ก ๆ ครับที่ผมจะเชื่อมโยงมาในมุมมองของสังคมแหละว่า เราสามารถหาข้อดีจากข่าวพวกนี้ยังไงได้บ้าง”



ทำโซเชียลฯ เราเป็นTakerอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็น Giver ด้วย


“หากเราทำโซเชียลมีเดียเราเป็น Taker อย่างเดียวไม่ได้ บางมุมเราต้องเป็น Giver ด้วย เราอาจจะต้องเราเอาแนวคิดอะไรบางอย่างกลับมาแบบตอบแทน ‘คอมมูนิตี้’ ที่เราใช้ประโยชน์จากตรงนี้”

โปรเชน-สหรัฐบอกว่า ถ้าเป็นในมุมของการทำโซเชียลฯ ของตนเอง ก็จะรู้สึกว่าอย่างมุมแรกก็คือ รู้สึกว่ามันต้องเป็นGiver ด้วย มุมที่สองตนเองรู้สึกว่ามันเป็น ความสุขของผม ที่แบบผม ได้พูดสิ่งนี้ไป เพราะว่ามันเป็นเหมือน เป็น pain ของผม บางทีเมื่อก่อนเราเคยเจ็บปวดกับเรื่องนี้ เราแค่รู้สึกว่าไม่อยากให้ใครมา ถ้าใครที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มา ก็อยากจะให้เขาถ้าได้ดูคลิปนี้ ก็หวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ ซึ่งมันก็จะไม่ใช่แค่เรื่องข่าวอย่างเดียว มันก็จะมีทั้งเรื่อง ความสัมพันธ์ ความรัก หรือว่าเรื่องแนวคิด เรื่องปรัชญา รวมไปถึงธรรมะด้วย



การทำ Personal branding ที่สามารถ serv ธุรกิจได้

“ผมมองว่าการทำ Personal branding ในยุคนี้ มันช่วยสเกลธุรกิจได้ แต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่ในทางตรง 100% คือด้วยความที่พอเรามีโซเชียลมีเดียแล้วข้อดีของมันก็คือ คนธรรมดาไม่มีตังค์อย่างผมอย่างเงี้ย ผมเป็นแบรนด์ธรรมดาเลย ผมไม่ได้ ผมทำ personal ตัวเองใช่ไหมครับในโซเชียลมีเดีย โดยที่ไม่ได้ใช้เงินไม่ได้ไปซื้อโฆษณาให้ทีวีมาสัมภาษณ์ผม แต่ว่าเรามีวิธีนำเสนอ หรือว่าหลักมันอาจจะเป็นคอมมูดี้ก็ได้ อาจจะเป็นแนวคิดก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณมีวิธีการนำเสนอให้คนรู้จักมากขึ้น โอกาสในธุรกิจมันย่อมมากขึ้นอยู่แล้วครับ มันปฏิเสธไม่ได้ ผมมองอย่างนี้นะ”

เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว Personal Brand ถ้าเราจะหาประโยชน์กับมันจริง ๆ มันก็สามารถtransfer มาเป็นpersonal for Business หรือว่ามันสามารถserv ธุรกิจได้เช่นกัน แต่ปัจจุบันคนจะมองเรื่อง skill หลาย ๆ อย่างใช่ไหมครับ สกิลการขายออนไลน์ แต่อันหนึ่งที่มันเป็น ฮาร์ดสกิล ที่ผมมองว่าเราควรฝึกไว้ ก็คือการสื่อสาร เพราะสุดท้ายแล้วอย่างเช่นถ้า ผมอยากเปลี่ยนใจคน อย่างสมมุติผมอยากเปลี่ยนใจใครสักเรื่องหนึ่งเนี่ย สิ่งเดียวที่จะทำได้คือ มันมี2 อย่างที่ผมจะทำได้ อย่างแรกคือ ผมบังคับให้เขาทำ ซึ่งสิ่งนั้นผมมองว่า มันคือกฎหมาย แต่อีกอย่างหนึ่งคือถ้าผมอยากให้เขาทำตามแบบนี้นะ ผมแค่นำเสนอบางอย่างพูดบางอย่างให้เขาเชื่อแล้วเขาก็จะทำสิ่งนั้นเอง เพราะฉะนั้นผมว่าสกิลการสื่อสารมันเข้มข้นพอ ๆ กับกฎหมาย มันเข้มข้นพอ ๆ กับทุก hard skill เพราะฉะนั้นผมมองว่านะ ถ้าใครที่สามารถมีสกิลการสื่อสารที่ดี มันสามารถทำได้ทุกอย่าง มันสามารถไปขายของก็ได้ ทำธุรกิจก็ได้ หรือสามารถต่อยอดไปเป็นอะไรก็ได้”



ต่อยอดสู่ “LEBORN” ยอดขายหลัก100 ล้าน!/ปี แบรนด์อุปกรณ์กอล์ฟสัญชาติไทย รายแรก!

โปรเชน-สหรัฐบอกด้วย ความที่ผลตอบรับมันดี มันก็ทำให้เพจโตมากขึ้น บริษัทโปรดักชั่นที่เป็นแบบขนาดเล็ก ก็ขึ้นมาเป็นขนาดกลาง มันก็เริ่มใหญ่ขึ้นจากที่เคยรับงานต่อเดือนเท่านี้ มันก็มีสเกลที่มากขึ้น มูลค่าของบริษัทก็มากขึ้น ก็เลยเริ่มเห็นโอกาสในการทำธุรกิจต่อยอดไปในสิ่งอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการทำ Personal branding ด้วย

“จนมาถึงปัจจุบัน วันนี้เพจในเฟซบุ้คมีผู้ติดตามประมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งใน audience เหล่านี้ จะไม่ค่อยรู้จักผมเท่าไร ส่วนใหญ่จะคิดว่าเราเป็นภาพของinfluencer ด้านแนวคิด เป็นคนทำเรื่องปรัชญา เรื่องวิธีคิด เรื่องmindset อะไรพวกนี้ครับ แต่จริง ๆ แล้วตลอดเส้นทางมาคือเราทำธุรกิจ มาตลอดครับไม่ว่าจะเป็น บริษัทโปรดักชั่น เป็น consult หรือว่าการทำ expert business จนมา 2 ปีที่แล้ว(ปี2563) ก็เริ่มธุรกิจแบรนด์กอล์ฟชื่อว่า “เลอบอร์น”(LEBORN) ครับ และก็จริง ๆ แล้วเลอบอร์นคือธุรกิจ physical product ตัวแรก ก็คือในอดีตถ้า production มันคือธุรกิจให้บริการ แล้วก็เรื่องของ consult ก็เป็นธุรกิจให ้บริการ expert business ก็เป็นธุรกิจขายความรู้ แต่ว่าแบรนด์กอล์ฟ “LEBORN” มันเป็นสินค้าจับต้องได้ ตัวแรกเลยที่ผมทำแล้วก็ จริง ๆ ผมก็ภูมิใจมาก เพราะว่ามันเป็น ความชอบของเราด้วยเพราะเราอยู่ในวงการกอล์ฟมาตลอดอยู่แล้ว แต่ว่าเส้นทางมันก็ workhard มากที่มาถึงตรงนี้ได้ครับ”

โปรดติดตามต่อ(ตอนที่2) ในสัปดาห์หน้า ที่โปรเชน-สหรัฐ จะเผยทริคแห่งความสำเร็จในการทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ แบรนด์กอล์ฟ “LEBORN” กับการพิชิตยอดขายแตะ100 ล้าน/ปี! จากวิธีโตธุรกิจแบบก้าวกระโดดเป็นอย่างไร มี อะไรบ้างที่เป็นคีย์ของทางลัดความสำเร็จที่ซ่อนอยู่ ต้องห้ามพลาดติดตามต่อในตอนหน้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *