บุบนี้เพื่อเธอ – เดลีนีวส์


พบกับ อ้วนซ่า แอบซิ่ง อีกครั้งในเดือนที่มีสุดสัปดาห์ถึง 5 รอบ นาทีนี้คงไม่มีเรื่องอะไรให้ทักทายกันมากไปกว่า “ฉีดวัคซีนหรือยัง?” ใครยังไม่ลงทะเบียนหมอพร้อม ก็รีบไปลงเสียนะขอรับ ยังหนุ่มยังแน่น (กางเกงแน่น!) อย่างอ้วนซ่าไปฉีด “ซิโนแวค” มาแล้วสบายมาก ๆ ขอรับ อาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.00 น.

บุบนี้เพื่อเธอ

กลับมาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า วันนี้อ้วนซ่ามีเรื่องราวของลูกเล่นทางอากาศพลศาสตร์มาเล่าสู่กันฟังขอรับ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพื้นผิวที่เรียบมันน่าจะทำให้รถยนต์เพรียวลมที่สุด แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เราสามารถจะดูตัวอย่างจากธรรมชาติได้ อาทิ ผิวของปลาฉลาม ซึ่งเป็นปลานักล่า ที่แน่นอนว่าจะต้องแหวกน้ำได้เร็วกว่าเหยื่อ ผิวของฉลามกลับไม่เรียบ! เพราะผิวของฉลามหยาบมากทีเดียว เช่นเดียวกันผิวที่มีรอยบุ๋มนับร้อยจุดของลูกกอล์ฟ (ว่ากันว่าทั่วไปแล้วลูกกอล์ฟลูกหนึ่งจะมีรอยบุ๋มเล็ก ๆ 300-500 จุด และมากที่สุดที่เคยมีมาคือมากถึง 1,070 จุด!)

มีการค้นหาว่าเพราะเหตุใดลูกกอล์ฟที่มีรอยบุ๋มมากมายเหล่านี้ถึงได้ตีออกไปได้ไกลกว่าลูกกอล์ฟเกลี้ยง ๆ ซึ่งนักอากาศพลศาสตร์ ก็ได้พบกว่ารอยบุบเหล่านั้นก่อให้เกิด “กระแสอลวน” หรือเทอร์บูแลนซ์ (Turbulence) ของลูกกอล์ฟ ซึ่งช่วยให้มันลดแรงเสียดทานอากาศได้เมื่อเทียบกับผิวเกลี้ยงเรียบลื่นที่จะมีปรากฏ การณ์คล้ายแรงสะท้อนกลับจากผิว ทำให้เมื่อลูกกอล์ฟผิวเรียบแหวกอากาศไปแล้ว มันจะเกิดแรงดูดจากด้านท้าย ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าแบบผิวเรียบ

แล้วถ้ามันทำให้แหวกอากาศได้ดี ทำไมไม่มีรถคันไหนทำผิวบุบ ๆ แบบนี้บ้าง แล้วถ้ารถมันบุบ ๆ มันจะส่งผลดีแค่ไหนเชียว? เชื่อว่ามีคนตั้งข้อสงสัยแน่นอน ซึ่งก็ได้มีคนพิสูจน์ไปแล้วก็คือรายการโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา “มิทธ์บัสเตอร์” (Mythbuster) พวกเขาได้นำเอารถฟอร์ด ธอรัส (Ford Taurus) มาทำผิวให้บุบเหมือนผิวลูกกอล์ฟ แล้ววิ่งทดสอบอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงเทียบกับฟอร์ด ธอรัส ปกติ ผลออกมาน่าทึ่งมาก เพราะรถผิวบุบที่ใช้เชื้อเพลิงเท่า ๆ กัน กลับวิ่งไปได้ไกลกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นรถผิวเรียบวิ่งไปได้ 26 ไมล์ แต่รถผิวบุบกลับวิ่งได้ไกลถึง 30 ไมล์เลยทีเดียว แน่นอนว่ามันมีประสิทธิภาพสูง แต่ความที่มันน่าเกลียด ก็เลยไม่มีใครนำมาใช้จริงในการออกแบบรถยนต์

ซึ่งจะว่าไปก็ไม่เชิงจะเป็นเช่นนั้นสักทีเดียว เพราะรถไฮเปอร์คาร์อย่าง บูกัตตี โบลีด (Bugatti Bolide) ก็ได้นำแนวคิด “ผิวไม่เรียบ” นี้มาใช้กับช่องดูดอากาศเหนือเพดานรถของพวกเขา กล่าวคือเมื่อรถทำความเร็วสูงอากาศที่ไหลเข้าไปในอุโมงค์อากาศนั้นจะหนาแน่นมาก ก็จะดันให้ผิวด้านในอุโมงค์โป่งออกด้านนอกผ่านทางจุดเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ จนมีสภาพคล้ายผิวคางคก ซึ่งแน่นอนว่าช่วยลดแรงเสียดทานได้

ส่วนรถที่ใช้ผิวบุบเหมือนลูกกอล์ฟนั้น เอากันจริง ๆ ก็มีใช้กันมานับสิบปีแล้วในรถยนต์โฟล์คสวาเกน “กอล์ฟ”(Volkswagen Golf) (โฟล์คกอล์ฟ มีผิวเหมือนลูกกอล์ฟ มันเข้ากันจริง ๆ ขอรับ) โดยวิศวกรของโฟล์คสวาเกนได้ออกแบบให้แผ่นปิดใต้ท้องรถเป็นผิวบุบเหมือนกับลูกกอล์ฟให้กับรถโฟล์ค กอล์ฟ รุ่นปี 2007 ซึ่งเชื่อว่าส่งผลดีให้กับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่มากก็น้อย และล่าสุดนี้เราก็พบกับผิวแบบลูกกอล์ฟนี้ได้ในใต้ท้องรถปอร์เช่ เคย์แมน จีที 4 (Porsche Cayman GT4) ซึ่งเป็นตัวท็อปของรุ่น แน่นอนว่าวิศวกรของปอร์เช่คงไม่ได้ทำผิวเช่นนี้ขึ้นมาเล่น ๆ ถ้าไม่มีประโยชน์…อ่านจบแล้ว จะมีใครเดินไปทุบรถของตัวเองบ้างไหมหนอ? อ้วนซ่าว่าน้ำมันที่ประหยัดได้ ไม่คุ้มค่าซ่อมนะขอรับ!.

เรื่อง: ภัทรกิติ์ โกมลกิติ

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่

  • เห็นด้วย

    0%

  • ไม่เห็นด้วย

    0%