วอนรัฐบาลช่วยเหลือ เยียวยาผลกระทบโควิด-19
หมายเหตุ – เสียงสะท้อนความเดือดร้อนจากประชาชนแต่ละอาชีพ จากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 จำต้องหาทางดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดและรอการช่วยเหลือจากรัฐบาล
ละมุล พรหมมา
หรือหมอลำสุนันทา จ.ศรีสะเกษ เปลี่ยนอาชีพปิ้งหมู ขายปลาเผา
หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานร่วม 2 ปีแล้ว ทำให้บรรดาหมอลำที่มีอยู่ในสังกัดได้รับผลกระทบ มีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าบรรดาเจ้าภาพที่จ้างหมอลำเอาไว้ได้พากันยกเลิกงานจ้างหมอลำทั้งหมด เพราะเกรงว่า หากมีการจัดงานแล้วจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ บรรดาหมอลำต้องพากันเปลี่ยนอาชีพไปทำมาหากินอาชีพอื่นจนหมดสิ้น จนแทบจะทำให้อาชีพหมอลำสูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว เพราะว่าบรรดาหมอลำหากยังคงรอรับงานอีกต่อไปก็คงจะไม่มีรายได้อะไรมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว
ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา งานจ้างหมอลำของตนจะเยอะมาก เดือนละประมาณ 5-6 งาน และหมอลำคนอื่นก็จะมีงานจ้างเข้ามาคิวแน่นมากเช่นกัน มีรายได้ต่อเดือน เดือนละ 20,000-30,000 บาท แต่ว่าหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บรรดาเจ้าภาพพากันยกเลิกงานจ้างหมอลำกันหมด ส่งผลให้บรรดาหมอลำทุกคนต้องพากันเปลี่ยนอาชีพไปทำไร่ไถนา และรับจ้างทั่วไปเพื่อให้ได้เงินมาประทังชีวิต ส่วนตนนั้นยังคงปักหลักอยู่ที่สำนักงานแห่งนี้ แต่ว่าได้เปลี่ยนอาชีพจากการเป็นหมอลำมาทำหมูปิ้งนมสด ข้าวเหนียว ข้าวจี่ ตับย่าง หมูยอ น่องไก่ ทำปลาเผาขาย รวมทั้งรับทำข้าวกล่องด้วย เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ที่จะต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คน คนโตเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนระดับมัธยมศึกษา มีรายได้วันละ 500-1,000 บาท บางวันก็ขายไม่ได้ โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีเงินเหลือเล็กน้อยพอได้ใช้จ่ายในครอบครัว
หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หมดสิ้นไปแล้วตนก็จะกลับมารับงานเป็นหมอลำเช่นเดิมต่อไป เนื่องจากว่าตนมีความชื่นชอบในอาชีพหมอลำมาก
ประกอบ ชำนาญกิจ
เจ้าของหมู่บ้านช้างหัวหิน หลังวัดเขาอิติสุคโต ให้บริการนั่งช้างนานกว่า 20 ปี
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ใน อ.หัวหิน ยอมรับว่าหนักมาก ขณะนี้มีช้าง 6 เชือก ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติชมธรรมชาติ เพียงวันละ 1-3 เชือกเท่านั้นในราคาเพียง 300 บาทต่อ 1 ชั่วโมง โดยบางวันไม่มีรายได้ ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกต้นปี 2563 ถึงระลอกที่ 3 และยังระบาดต่อเนื่อง แม้จะประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่ต้องประหยัดเนื่องจากรายรับไม่พอกับรายจ่าย แต่ก็ต้องซื้ออาหารให้ช้าง ส่วนใหญ่เป็นต้นสับปะรด เฉลี่ยวันละ 400 บาท ขณะที่ชาวบ้านทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์ ก็นำกล้วย อ้อย พืชผักหรือผลไม้มาเลี้ยงช้าง
ล่าสุดเมื่อเจอการระบาดจากแรงงานพม่าในโรงงานสับปะรด ทำให้ผู้บริจาคก็ไม่กล้าเดินทางมาให้อาหารช้าง
ชโยดม สุวรรณรัตนะ
ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย
ขณะนี้เกษตรกร ทั้งสวนปาล์มน้ำมันและเกษตรกรอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนจากราคาปุ๋ยเคมีปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น กระสอบละ 350 บาท เนื่องจาก เข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ย พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ขอให้รัฐบาลหาแหล่งจำหน่ายปุ๋ย ที่ราคาต่ำ การลดภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมันไม่สอดคล้องกับราคา น้ำมันปาล์มสำหรับบริโภค ที่ขณะนี้ราคาขวดละ48-50 บาท ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรต้องอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 7 บาท แต่รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 4.70-5 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร
และตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ หลังจากได้มีการเรียกร้องมาหลายครั้งก่อนหน้านี้
อุดมสุข นิ่มเซียน
เจ้าของกันตารีสอร์ต หัวหิน อดีตนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ประจวบคีรีขันธ์
การระบาดของโควิด-19 ที่ อ.หัวหิน ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างหนักทั้งโรงแรม รีสอร์ต มีอัตราเข้าพักน้อยมาก โรงแรมบางแห่งต้องปิดชั่วคราว เพราะแบกรับสภาพขาดทุนไม่ไหว ขณะที่กันตารีสอร์ตต้องงดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และหวังว่าในช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนพฤษภาคมจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่เมื่อมีคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานสับปะรด ทำให้นักท่องเที่ยวงดเดินทางมาหัวหินร้อยละ 90% โดยส่วนใหญ่จะสอบถามข้อมูลว่าสามารถเดินทางมาแล้วเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ลงเล่นน้ำทะเลหัวหินได้หรือไม่ สระน้ำของโรงแรม รีสอร์ต เล่นน้ำได้หรือไม่ จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะปฏิเสธมาหัวหิน ขณะที่ ต.หินเหล็กไฟ มีทั้งโรงแรม รีสอร์ต สวนน้ำ สนามกอล์ฟ สวนสัตว์ ร้านอาหาร ร้านค้า ไม่มีนักท่องเที่ยว ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ก็เก็บตัวในบ้านพัก เพราะกังวลกรณีแรงงานพม่าติดเชื้อโควิด
โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาหัวหิน ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน น่าจะน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวไม่มั่นใจ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องประหยัดยิ่งในภาวะที่เจอกับโควิด คาดว่าหากภาครัฐจัดการควบคุมสถานการณ์การระบาดได้และไม่มีการระบาดในช่วงเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม ก็อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคม แต่หากพบการระบาดอีกครั้งก็ต้องรอปีหน้า
วงใจ แววประทีป
อายุ 78 ปี ตัวแทนคนขับรถสามล้อเครื่องรับจ้าง
ที่จ.ชัยภูมิ จากการออกสำรวจบรรยากาศการค้าขาย และผู้ประกอบอาชีพในพื้นที่ หลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ชาวบ้านทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจำนวนมากโดยเฉพาะหลังเกิดคลัสเตอร์ใหม่จากคลองเตย ลามมาสู่ชุมชนกุดแคน-หัวถนน ย่านชุมชนแออัดใจกลางเมืองชัยภูมิ ทำให้ตัวเมืองชัยภูมิ ตามถนนหนทางเส้นทางต่างๆ ผู้ใช้รถใช้ถนนบางตา ถนนสายต่างๆ โล่ง ไม่มีรถติด ในตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ มีผู้ออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของไปประกอบอาหารบางตา รวมทั้งผู้มีอาชีพขับขี่รถสามล้อเครื่องรับจ้างส่งประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ไม่น้อยกว่า 1,000 คันเคยจอดรับส่งประชาชนตามจุดต่างๆ กว่า 10 จุด ไม่ว่าจะเป็นที่ บขส.ชัยภูมิ หน้าโรงพยาบาล หน้าโรงเรียนต่างๆ รวมไปหน้าตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ ต่างได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กันด้วย จากที่แต่ละคนได้รับจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 20 เที่ยว มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300-500 บาท ล่าสุด รถสามล้อเครื่องแต่ละคันต่างจอดนิ่งสนิทไม่มีประชาชนมาใช้บริการ จอดรถเข้าคิวรอประชาชนนานนับชั่วโมงยังไม่มีลูกค้า
ผมประกอบอาชีพขับขี่รถสามล้อมาตั้งแต่อายุ 20 ปี เริ่มมาตั้งแต่เป็นสมัยสามล้อถีบ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นสามล้อเครื่อง ซึ่งไม่เคยประสบปัญหาไม่มีผู้โดยสารเรียกใช้รถมาก่อนหนักมากขนาดนี้ ในช่วงโควิด-19 ระบาด บางวันไม่มีลูกค้า ทำให้ไม่มีเงินซื้อหาอาหารเลี้ยงครอบครัวได้ ถ้าไม่ออกมารับจ้าง จะไม่มีเงินไม่มีข้าวกิน โควิด-19 ระบาดก็กลัว แต่กลัวครอบครัวอดตายมากกว่า ทุกวันนี้ ออกมารับจ้างขับสามล้อรับส่งได้วันละไม่เกิน 40-50 บาทก็ต้องทำ ยังพอมีเงินซื้อข้าวกินในครอบครัวบ้าง
อยากให้การระบาดหมดไปโดยเร็วด้วย และขอเป็นกำลังใจให้ทีมแพทย์ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ด้วย