เกาะติดทีมเน็ตเวิร์คดีแทค เจาะลึกโซลูชันโครงข่าย ส่งมอบประสบการณ์ใช้งานไม่มีสะดุด | Brand Inside

ช่วงส่งท้ายปีและจะเข้าสู่ปีใหม่กิจกรรมอีเว้นท์จะต่อคิวจัดขึ้นอย่างคึกคัก หลังจากโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี ความสุข ความสนุกสนาน และรอยยิ้มกลับมาอีกครั้งพร้อมอากาศเย็นสบาย ขณะเดียวกัน ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุข ทีมวิศวกรดีแทค กำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น dtacblog ได้เกาะล้อตามทีมวิศวกรดีแทค ดูเบื้องหลังการทำงานที่ท้าทายเชิงกลยุทธ์และวิศวกรรม เพื่อให้ลูกค้าดีแทคใช้งาน พร้อมส่งต่อความสุขไม่มีสะดุด

dtac

เจาะลีกแผนการทำงาน

ภาณุพงษ์ ปิยัสสพันธุ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการโครงข่ายภาคกลางและภาคตะวันออกของดีแทค เผยเบื้องหลังวิธีการทำงานของทีมปฏิบัติการโครงข่ายว่า เพื่อให้ประสบการณ์การใช้งานดีเยี่ยม ไม่มีสะดุด ทีมเน็ตเวิร์คจะเตรียมรายชื่ออีเว้นท์ในประเทศไทยตลอดทั้งปีล่วงหน้า ซึ่งในช่วงปลายปีอย่างนี้ อีเว้นท์ต่างๆ ก็จะถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้ทีมเน็ตเวิร์คต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม ทำให้ลูกค้ามั่นใจในบริการของดีแทค ทั้งนี้ การทำงานนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1. ขั้นวางแผน และ 2. ขั้นปฏิบัติการ

dtac

สำหรับขั้นวางแผนนั้น จะมีทีมวางแผน (Planning) เป็นเจ้าภาพ โดยอาศัยข้อมูลจากห้องปฏิบัติการโครงข่ายหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ห้อง NOC” จะทำหน้าที่ในการเฝ้าสังเกต (Monitoring) ป้อนข้อมูลการใช้งานในแต่ละช่วงเวลาให้กับทีม Planning เพื่อวางแผนการทำงานต่อไป ซึ่งการพิจารณาแผนงานจะประเมินจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

  1. ความครอบคลุมของสัญญาณ (Network Coverage) ซึ่งเป็นการพิจารณาเบื้องต้นว่าพื้นที่ที่จัดอีเว้นท์มีสถานีฐานของดีแทคหรือไม่ หากไม่มี จะต้องใช้โซลูชันใดในการจัดการ เพื่อให้สอดรับกับลักษณะกายภาพของพื้นที่
  2. ความหนาแน่นในการใช้งาน  (Network Utilization) หากพื้นที่ดังกล่าวมีสถานีฐานของดีแทคครอบคลุมอยู่ ทีม Planning จะพิจารณาถึงปริมาณการใช้งานปกติและคาดการณ์ปริมาณการใช้งานเมื่อมีอีเว้นท์เกิดขึ้น ซึ่งผู้จัดงานเป็นคนให้ข้อมูลกับทีมดีแทค เพื่อคิดหาโซลูชันมารองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

dtac

ภาณุพงษ์ อธิบายเสริมว่า สำหรับโซชูชั่นโครงข่ายน้ันมีหลายลักษณะ ตั้งแต่การปรับค่าพารามิเตอร์เพื่อกระจายแบนด์วิดธ์แก่ผู้ใช้งานให้เท่าเทียมกัน การปรับทิศทางของตัวกระจายสัญญาณ (Antenna) ไปยังบริเวณที่จัดอีเว้นท์ หรือติดตั้งอุปกรณ์การกระจายสัญญาณเพิ่มอย่างถาวรไปเลยหากบริเวณดังกล่าวมีการใช้งานที่หนาแน่นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีโซลูชันในลักษณะสถานีส่งสัญญาณชั่วคราว (Temp sites) ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น รถโมบาย (Mobile car) ซึ่งเป็นอีกโซลูชันที่มีความคล่องตัวสูง เปรียบเหมือนสถานีฐานเคลื่อนที่ ประกอบด้วยเสาส่งสัญญาณ เครื่องส่งสัญญาณ (Transmitter) และระบบสำรองไฟภายในตัว ขณะที่ Quick Deploy ก็เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยม โดยมากประกอบจากนั่งร้าน เครื่องส่งสัญญาณ และตัวกระจายสัญญาณ เพื่อให้สามารถกระจายสัญญาณได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

และเมื่อทีม Planning เคาะแผนแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นปฏิบัติการหรือ Implementation โดยทีม Field Operation ซึ่งรับผิดชอบในการ “สร้าง” ก็จะรับไม้ต่อ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบพื้นฐานของการตั้งสถานีฐาน ได้แก่ การเข้าถึงไฟฟ้า การเดินสายเคเบิล และโลเคชั่นของที่ตั้ง

dtac

เทศกาลพลุนานาชาติพัทยา

บงกชรัตน์ สำเนียงเพราะ วิศวกรปฏิบัติการโครงข่ายภาคกลางและภาคตะวันออก ดีแทค หนึ่งในสมาชิกผู้รับผิดชอบโครงข่ายงานเทศกาลพลุนานาชาติพัทยา 2565 บอกว่า จากการประสานกับผู้จัดงานประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานหลักหมื่นคน ขณะที่โครงข่ายบริเวณดังกล่าวรองรับการใช้งานได้เพียง 3,000 คนโดยประมาณและปริมาณการใช้งานหนาแน่นอยู่แล้ว ดังนั้น ทีม Planning จึงเลือกใช้การเสริม Temp sites ด้วยรถโมบาย 1 จุดและ Quick Deploy 3 จุด พร้อมกับการปรับค่าพารามิเตอร์และปรับทิศ antenna ไปยังบริเวณที่จัดงาน โดยเน้นที่การใช้งาน 4G บนคลื่น 2300 MHz ซึ่งมีความกว้างถึง 60 MHz เพื่อเพิ่มแบนด์วิดธ์ให้แก่ผู้ใช้งาน

ความท้าทายสำคัญของงาน Implementation คือ ปัจจัยที่ดีแทคควบคุมไม่ได้ เช่น โลเคชั่นที่ผู้จัดงานกำหนด บางจุดเป็นพื้นที่แคบ บางจุดอาจบดบังทัศนียภาพของงาน ดังนั้น ทีมจึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้จัด นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านเวลาก็เป็นหนึ่งความท้าทายที่ต้องเผชิญ ซึ่งในขั้นตอน Implementation นี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ในการเตรียมงาน โดยเฉพาะการลากสายไฟและสายเคเบิล

“การติดตั้ง Temp sites คือการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานประเภทหนึ่ง ซึ่งต่างจากการติดตั้งโทรทัศน์ที่มีลักษณะแบบ Plug and Play สำหรับ Temp sites มีกระบวนการมากมาย ต้องใช้เวลาเตรียมข้อมูล เชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและสายเคเบิล รวมถึงการกำหนดค่าทางเทคนิคต่างๆ (Configuration) เพื่อไม่เกิดการกวนกันของคลื่นความถี่ รวมถึงการเดินทดสอบ (Walk Test) ก่อนให้บริการจริงอีกด้วย ทั้งหมดก็เพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดของลูกค้าดีแทค” บงกชรัตน์ อธิบาย

dtac

มัน-ใหม่-มาก

นพดล เพียรพานิช หัวหน้าทีมวิศวกรปฏิบัติการโครงข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดีแทค เล่าถึงเบื้องหลังการเตรียมโครงข่ายเทศกาลดนตรี Big Mountain ว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 12 แล้ว ซึ่งความท้าทายหลักก็คือ ขนาดของพื้นที่จัดงานที่ใหญ่กว่า 600 ไร่และคาดการณ์ว่ามีผู้ร่วมงานนับแสนชีวิต จากปีแรกๆ ที่มีขนาดเพียง 110 ไร่กับผู้ร่วมงานเพียงหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น

จากการประเมินของทีม Planning พบว่า พื้นที่จัดงานที่สนามกอล์ฟ The Ocean มีสถานีส่งสัญญาณครอบคลุมอยู่แล้วถึง 2 แห่ง ทำให้ข้อกังวลด้านความครอบคลุมของสัญญาณหมดไป แต่ปัจจัยด้านปริมาณการใช้งานยังคงต้องคำนึงอย่างต่อเนื่อง ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ดีแทคติดตั้ง Temp sites ทั้งสิ้น 13 จุด เป็นรถโมบาย 1 จุดและ Quick Deploy อีก 12 จุด เพื่อรองรับการใช้งานที่มีเวทีทั้งสิ้น 8 เวที สำหรับงาน Big Mountain จะเน้นที่การใช้งาน 4G บนคลื่น 2300 MHz และ 5G บนคลื่น 700 MHz รวมถึงจัดเต็มเทคโนโลยี Massive MIMO เพื่อรองรับการใช้งานหลักแสนคน

dtac

“ด้วยลักษณะการใช้งานที่ขึ้นกับความนิยมของศิลปิน เช่น บิ๊กแอส บอดี้แสลม คนเยอะแน่ ทำให้การใช้งานมี dynamic สูงมาก เราจึงเอาตารางการแสดงของศิลปินแต่ละวงมาวางแผนพร้อมกับระดมพลทีม FO และเวนเดอร์สแตนบายกันหน้างานพร้อมกับสื่อสารทำทีมห้อง NOC อย่างใกล้ชิด” นพดล กล่าวและว่า “พวกเราชาวดีแทคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสุขลูกค้าดีแทค และแน่นอนภารกิจของพวกเราจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในช่วงเตรียมรับเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ที่กำลังมาถึงต่อไป”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา