นับเป็นห้วงเวลาแห่งความอบอุ่น สมชื่องาน ‘สมานมิตรบรรเทอง Return’ ในช่วงเย็นย่ำถึงค่ำคืนวันศุกร์แสนสุขใจ เมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ มติชนอคาเดมี หลัง ‘เปิดโกดังหนังสือดี’ มาครบ 10 วันถ้วน โดยมีผู้แวะเวียนมาคว้าเล่มเด็ดเล่มโดนทั้งเนื้อหาและราคาอย่างไม่ขาดสาย
งานดังกล่าวมีบุคคลในแวดวงต่างๆ ทั้งนักคิด นักเขียน นักวิชาการ ศิลปินรุ่นเก่าและใหม่ ให้เกียรติเดินทางมาพบปะมิตรสหายหลังห่างไปหลายปีจากสถานการณ์โควิด
ตั้งแต่รุ่นอาวุโส จนถึงเจน X Y Z อาทิ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล, สุดา พนมยงค์, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สุทธิชัย หยุ่น, ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง, ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง, กฤษฎางค์ นุตจรัส, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ, ประชา สุวีรานนท์, สุจิตต์ วงษ์เทศ, อรุณ วัชระสวัสดิ์, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, กล้า สมุทวณิช, บูรพา–ญาดา อารัมภีร์, พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์, อาทร เตชะธาดา, สุพจน์ ธีระวัฒนชัย, สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์, ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์, ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, จรัล หอมเทียนทอง, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, รัศม์ ชาลีจันทร์, ศ.ดร.นิติ–รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม, ไกรฤกษ์ นานา, ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร, ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, โตมร ศุขปรีชา, ตะวัน วัตุยา, ยุรี เกนสาคู, เมธี น้อยจินดา, นักรบ มูลมานัส, ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, ธนโชติ เกียรติ ณ ภัทร, สมชาย แซ่จิว และชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นต้น
เปิดเมนูเรียกน้ำย่อยด้วยการร่วมชมนิทรรศการ ‘ศิลปะ สถาปัตยกรรม สิ่งพิมพ์กับคณะราษฎร’ นำชมโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ตามด้วยไฮไลต์อย่าง Special Talk โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “อำนาจ Hard Power กับ บารมี Soft Power สังคมและการเมืองไทยสมัยใหม่” ที่เปิดโฉม ‘ปีศาจ’ การเมืองไทย ในวันที่โลกเปลี่ยนแล้วอย่างสิ้นเชิง
“กลุ่มหรือขบวนการประชาธิปไตยของนักศึกษากิจกรรม มีผู้นำเด่นๆ อย่าง ไผ่ ดาวดิน อย่าง เพนกวิน อย่าง รุ้ง ที่แม้จะโดนคดี กฎหมายมาตรา 112 ถูกฟ้องร้อง ถูกจับกุมคุมขัง ถูกล่ามโซ่ตรวน หรือไม่ก็ถูกขันห่วงไว้ที่ข้อเท้าก็ตาม แต่พวกเขาและเธอก็ผลัดเวียนกันเปลี่ยนหน้ากันขึ้นมาเป็นลูกโซ่ยาวเหยียด ครั้งแล้วครั้งเล่า ควบคู่ไปกับบรรยากาศของโรคระบาดโควิด
“ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ปรากฏการณ์ใหม่ของคนหลากเพศสภาวะ ที่แม้ว่าสังคมไทยเราจะเคยคุ้นเคยกับกะเทยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่กลุ่มที่ปรากฏตัวในลักษณะมีความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน ดังกลุ่มเช่น LGBTQ+ นี้ นับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ และสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับกลุ่มอำนาจเดิมเป็นอย่างยิ่ง งุนงงที่จะใช้มาตราจัดการ ที่เป็นทั้ง Hard หรือ Soft Power ได้อย่างไร
นอกเหนือไปจาก Gen Z จาก LGBTQ+ แล้ว นวัตกรรมใหม่ในนามของสื่อสังคม หรือ Social Media ก็ได้กลายทั้งเครื่องมือ เป็นทั้งพลังสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ครับสิ่งที่อยู่ในมือถือของเรา ทำให้เราติดต่อกระจายความคิดกับเพื่อนร่วมชาติ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมโลก ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องรู้จักพบเห็นกันแบบตัวเป็นๆ” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์กล่าวในตอนหนึ่ง
จากนั้น เข้าสู่การประกาศรางวัล ‘มติชนอวอร์ด 2022’ ซึ่งนิตยสาร ‘มติชนสุดสัปดาห์’ เปิดรับเรื่องสั้นและบทกวีโดยมีผู้ส่งบทกวีกว่า 200 บท และเรื่องสั้นกว่า 400 เรื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายนที่ผ่านมา ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยซัมมิท จำกัด (มหาชน) และศูนย์แว่นตาไอซอพติก
ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด ที่ปรึกษานิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ และสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เป็นผู้มอบรางวัล
‘กลายเป็นผีเสื้อ’ ผลงาน นฤพนธ์ สุดสวาท คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น รับ 50,000 บาท พร้อมโล่
‘โลกไม่ยอม’ โดย นรพัลลภ ประณุทนรพาล คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์ รับ 30,000 บาท พร้อมโล่
กว่า 600 ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวด ผ่านการคัดสรรโดยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย
จากนั้น เข้าโหมดฟรีสไตล์ พบปะพูดคุยอย่างอบอุ่น อัพเดตชีวิต คุยถึงก้าวต่อไปในวงการน้ำหมึกและหน้าจอ
สนทนาพาทีอย่างออกรสท่ามกลางซุ้มอาหารร้านดังรสเลิศไม่แพ้ประเด็นบนโต๊ะกลม อาทิ จกโต๊ะเดียว, หอยทอดลุงยาว, ผัดไทยเจ๊นิด, ปลาหมึกบดเฮงกับป้าใจดี, ฮ่องเต้กุ๋ยช่ายบางกรอบ และรสดีเด็ด เป็นต้น พร้อมเครื่องดื่มเย็นกลั้วคอให้พูดคุยได้ไหลลื่น
นอกจากนี้ ยังมีบูธถ่ายภาพลง Magnet และการเซ็นชื่อบนผืนผ้าใบประทับไว้ ซึ่งความทรงจำ
การกลับมาอีกครั้งของงานสมานมิตรบรรเทองเน้นย้ำการเชื่อมโยงของนักคิด นักเขียน นักวิชาการ อีกทั้งศิลปินหลากรุ่นที่ส่งไม้ต่อจากยุคสู่ยุค บนเรื่องเล่าในไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยที่ตัวเองเป็นเจ้าของ
พรรณราย เรือนอินทร์