เผยแพร่: ปรับปรุง:
กรมอนามัยย้ำทุกกิจการยังต้องประเมิน “โควิด” หลังเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค. แต่อาจไม่ถี่เท่าเดิม ขึ้นกับประเภทและความเสี่ยง พร้อมลดความเข้มรายละเอียดเกณฑ์ประเมิน แต่ยังต้องเน้นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ระบายอากาศ คัดกรองพนักงาน คนสัมผัสอาหารต้องใส่หน้ากาก จ่อออกประกาศ “ผู้ให้บริการ” สวมหน้ากาก
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการในวันที่โควิด 19 เปลี่ยนผ่านเข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า ช่วงโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายมีมาตรการควบคุมสถานประกอบการต่างๆ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน , พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข รวมถึง COVID Free Setting ส่วนวันที่ 1 ต.ค.นี้ ที่มีการปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มาตรการมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังคงมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข และกฎหมายอื่นๆ ในการควบคุมสถานประกอบการต่างๆ โดยยืนยันว่ายังไม่ยกเลิกการประเมินกิจการผ่าน Thai Stop COVID 2+ เพื่อควบคุมมาตรฐาน แต่จะปรับรายละเอียดจากสถานการณ์ที่เข้มงวด คอขาดบาดตาย ให้ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเน้นไม่ให้เกิดอันตรายแม้เกิดการติดเชื้อขึ้น เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐาน
สำหรับกิจการภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข มี 142 ประเภท เช่น เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง อาหาร เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องสำอาง กิจการเกี่ยวกับการบริการ เช่น สปาเพื่อสุขภาพ อาบอบนวด อาบน้ำอบไอน้ำสมุนไพร โรงแรม หอพัก อาคารชุดให้เช่น โรงมหรสพ โรงหนัง กิจการที่มีการแสดงดนตรี เต้นรำ ดิสโกเธค สระว่ายน้ำ สวนสนุก ตู้เกม สนามกอล์ฟ และสถานบริการเลี้ยงดูแลเด็กที่บ้าน ดูแลเด็กปฐมวัย ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน กลุ่มตลาดที่จำหน่ายและสะสมอาหาร ตลาดนัด ตลาดสด ตลาดเปิดท้ายขายของ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่มีและไม่มีจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข
“สถานประกอบการยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม เน้นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ระบายอากาศ จัดอุปกรณ์ล้างมือเพียงพอ ควรคัดกรองอาการพนักงาน หากมีการป่วยจำนวนมากควรปฏิบัติตามมาตรการโควิดเหมือนเดิม พนักงานเมื่อป่วยควรหยุดงาน ประเมินความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงหรืออาการป่วยควรตรวจ ATK ส่วนผู้ประกอบการอาหารยังต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ล้างมือก่อนปรุงอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ ใส่ถุงมือในการหยิบจับเครื่องปรุงอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากยังสำคัญสำหรับผู้ปรุง เพื่อป้องกันสิ่งต่างๆ ในตัวหลุดลงไปปนเปื้อนในอาหาร ผู้ดำเนินกิจการต้องควบคุมดูแล คนที่ปรุงอาหารเองที่บ้านก็ทำเช่นกัน ” นพ.เอกชัยกล่าว
นพ.เอกชัยกล่าวว่า ส่วนประชาชนหากมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจ ควรรักษาตัว หากออกนอกบ้านต้องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง อย่าเข้าไปในที่แออัด ส่วนคนไม่เจ็บป่วยถ้าต้องไปรวมตัวสถานที่คนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้สวมหน้ากาก เว้นอยู่ที่ปลอดโปร่ง สวนสาธารณะ ริมชายทะเล ไปออกกำลังกายก็ดูตามความเหมาะสม ไม่ต้องสวมหน้ากาก ส่วนการเข้าโรงภาพยนตร์ รถไฟฟ้า เครื่องบิน ส่วนใหญ่ไม่ได้เว้นระยะห่าง หากทำได้ก็แนะนำ หากทำไม่ได้ให้สวมหน้ากาก การล้างมือบ่อยๆ ยังแนะนำ คนทั่วไปไม่มีอาการป่วย ไม่ต้องตรวจ ATK เสมอทุกสัปดาห์ ยกเว้นมีความเสี่ยง สงสัยว่าจะป่วย ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 จำเป็นต้องรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ หากต้องไปสถานที่แออัดหรือสถานที่เสี่ยง ทำกิจกรรมกับคนอื่นมากๆ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เพราะยังเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต
นพ.เอกชัยกล่าวว่า ส่วนการสำรวจอนามัยโพล ช่วง ส.ค. – ก.ย. พบว่า การสวมหน้ากากลดลงเล็กน้อย 1% แสดงว่าคนยังเห็นความสำคัญ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปยังเห็นว่าสิ่งที่ควรต้องเฝ้าระวังปฏิบัติตัว 3 ลำดับแรก คือ ควรคงพฤติกรรม DMH ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานประกอบการจัดจุดล้างมือ ระบบระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาด จัดการสุขาภิบาลของสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้ การใช้ชีวิตคงจะให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม 100% คงไม่ใช่
เมื่อถามว่าสถานประกอบกิจการต้องประเมิน Thai stop Covid 2+ ทุกเดือนเหมือนเดิมหรือไม่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า เดิมช่วงโควิดประเมินทุกเดือน แต่หลังจากนี้หากกิจการที่ไม่เสี่ยงก็อาจประเมิน 3-4 เดือนครั้ง แต่หากมีความเสี่ยงมากก็อาจประเมิน 1-2 เดือนครั้ง อย่างพวกที่ต้องมีการใกล้ชิดกันมากๆ ระบายอากาศไม่ดี โดยกรมอนามัยจะออกประกาศรายละเอียดประเภทกิจการต่อไป สำหรับโรงเรียนจะมีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เนื่องจากเห็นว่ายังเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หากเด็กติดเชื้อก็จะแพร่ระบาดเร็ว ดังนั้นอาจจะต้องคงมาตรการบางอย่างไว้
เมื่อถามว่าหากพนักงานเสิร์ฟไม่ใส่หน้ากาก โดยอ้างว่าไม่มีการบังคับใส่หน้ากากแล้ว นพ.เอกชัย กล่าวว่า อาจจะอ้างได้ แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามาหรือเกิดการระบาดขึ้นจะถือว่ามีความผิด ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการกำกับตรงนี้ คงพิจารณาตามความเหมาะสมว่าหากเป็นร้านเปิดโล่ง อาจจะไม่ใส่ หากเป็นห้องแอร์ไม่ใส่อาจจะอันตราย
ถามย้ำว่าต้องมีการออกประกาศหรือไม่ว่าผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อรองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ นพ.เอกชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังคุยกัน สธ.จะมีประกาศข้อกำหนดให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม และกรมอนามัยก็จะออกคำแนะนำประกอบการประกาศเพิ่มเติม คงไม่เหมือนเดิมที่จะให้ทำอิสรเสรี ส่วนกลไกกำกับติดตามก็ยังมีทีมเจ้าหน้าที่ สธ.และท้องถิ่นร่วมมือกัน ซึ่งประกาศจะพยายามทำให้ทันภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าคือสัปดาห์แรกของ ต.ค.
ถามต่อว่ามีการมองว่าประเทศไทย MOVE ON ไม่จริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกสวมหน้ากากแล้ว แต่ไทยบอกว่าไม่มีการกลับไปแบบเดิม 100% นพ.เอกชัย กล่าวว่า เรามองว่าโควิดยังมีโอกาสพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ คล้ายไข้หวัดใหญ่ การสวมหน้ากากจะช่วยลดตรงนี้ได้ เข้าใจว่ามีการเปรียบเทียบกับประเทศที่เลิกสวมหน้ากากแล้ว แต่อยากให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ยังสวมหน้ากากด้วย เช่น ญี่ปุ่นมีการสวมหน้ากากมานานก่อนโควิด พอถึงฤดูไข้จากละอองเกสร คนมีความเสี่ยงก็สวมหน้ากาก ทั้งนี้ อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องใส่หน้ากากกันหมด หากเป็นคนปกติ สุขภาพดีเมื่อออกมาอยู่ในพื้นที่อากาศปลอดโปร่งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ แต่หากเป็นกลุ่ม 608 สุขภาพไม่ดี มีความเสี่ยงยังแนะนำว่าหากไปอยู่ที่แออัดต้องใส่เลย วันนี้ประเทศไทยไม่ได้บังคับแล้ว