Golf Sponsored

ไบรสัน เดอชอมโบ โปรกอล์ฟนักกล้ามผู้ใช้วิทยาศาสตร์ช่วยพิชิตแชมป์เมเจอร์แรกของชีวิต

Golf Sponsored
Golf Sponsored

ฟอร์มการเล่นมหัศจรรย์ในรอบสุดท้ายของการแข่งขันกอล์ฟยูเอสโอเพ่น 2020 ทำให้ ไบรสัน เดอชอมโบ โปรมืออันดับ 9 ของโลกชาวอเมริกัน คว้าแชมป์เมเจอร์แรกของชีวิตมาครองได้สำเร็จ

ชัยชนะครั้งนี้ถือว่าเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดด้วยการทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง แมตธิว โวล์ฟ เพื่อนร่วมชาติถึง 6 สโตรกด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเล่นที่เติบโตไปอีกขั้น กับความนิ่งที่เพิ่มพูนขึ้นของโปรกอล์ฟที่เป็นหนึ่งในคนที่โดดเด่นที่สุดในวงการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เพราะแม้ชื่อของเดอชอมโบไม่ใช่โปรชื่อดังในวงกว้างเหมือนตำนานอย่าง ไทเกอร์ วูดส์ หรืออดีตมือหนึ่งของโลกอย่าง รอรี แม็คอิลรอย แต่สำหรับในหมู่แฟนก้านเหล็กแล้ว โปรรายนี้เป็นหนึ่งในคนที่น่าจับตามองมากที่สุดด้วยเหตุผลหลายอย่าง

โดยเฉพาะหลักคิดและวิธีการที่ทำให้คนที่เพิ่งเทิร์นโปรเมื่อปี 2016 ก้าวขึ้นมาเป็นโปรแถวหน้าของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวงการจะเรียกขานเดอชอมโบกันว่า ‘นักวิทยาศาสตร์’

ที่เรียกกันเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าโปรหุ่นนักกล้ามจะเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง เพราะเขาเคยศึกษาในสาขาวิชาเอกฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเมธอดิสต์ ซึ่งความรู้ที่สั่งสมมาในสมัยเป็นนักศึกษาได้ถูกนำมาใช้ในการเล่นกอล์ฟด้วย

เดอชอมโบใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาการเล่นของเขาอย่างไรบ้าง 

สิ่งแรกที่สำคัญและทำให้เขามีชื่อเสียงที่สุด (ไม่ว่าจะชื่นชมหรือไม่ช่ืนชอบก็ตาม) คือการตัดสินใจสร้างชุดเหล็กที่ไม้ทุกอันมีความยาวเท่ากันที่ระยะ 37 นิ้วครึ่ง เพื่อให้มีท่าทางในการยืนและระนาบในการวิงที่เหมือนกันทุกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำกัน แต่เขาทำมันมาตั้งแต่อายุ 17 ปี!

อย่างไรก็ดี โปรสายเด็กเรียนคนนี้ได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างถ่องแท้โดยอาศัยหลักของหนังสือกอล์ฟ 2 เล่มคือ The Golfing Machine ของ โฮเมอร์ เคลลีย์ (ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1964 และความรู้นั้นถูกนำมาใช้พัฒนาวงสวิงของเขา) และ Vector Putting โดย เอช. เอ. เทมเพิลตัน ก่อนจะนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์และพัฒนาจนกลายเป็นวิธีการของตัวเอง

นอกจากนี้เดอชอมโบยังใช้กริปที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ และผลงานล่าสุดคือการเพิ่มพลังให้ตัวเองด้วยทำน้ำหนักตัวขึ้นอีก 40 ปอนด์ในช่วงปีที่ผ่านมา – และความจริงเขาเริ่มเพิ่มกล้ามเนื้อตัวเองมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยอยู่ในการดูแลของ เกร็ก รอสคอปฟ์ ผู้ก่อตั้ง Muscle Activation Techniques ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ แล้วเกิดจากความตั้งใจจะเปลี่ยนรูปร่างเพื่อลดอาการบาดเจ็บที่สะโพกและหลัง

รอสคอปฟ์เชื่อว่าสิ่งที่เดอชอมโบทำจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวงการ “สิ่งที่เขาทำจะเปลี่ยนแปลงวงการกอล์ฟ 

“เขายอดเยี่ยมมาก มีความตั้งใจสูงมาก และเขาตั้งใจที่จะต้องเก่งที่สุด ผมบอกได้ว่าเขามีความสนใจในเรื่องนี้เพราะเขาเป็นคนชอบคิด เขามักจะพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก”

เพื่อจะสร้างรูปร่างใหม่ ในทุกวันเขาจะต้องกินโปรตีนมากถึง 400 กรัม โดยแต่ละวันจะใช้พลังงานถึง 3,000-3,500 แคลอรีต่อวัน หรือมากกว่าคนปกติเกือบ 2 เท่า

รูปร่างที่กำยำทำให้ในช่วงที่กอล์ฟเริ่มกลับมาทำการแข่งขันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้แต่แฟนๆ ยังจำไม่ได้ว่าโปรที่กำลังตีอยู่ตรงนั้นคือใคร เพราะรูปร่างของเขาแปลกไปจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเร่งสร้างกล้ามเนื้อ (Bulk) โดยที่ยังไม่ได้เข้าช่วงรีดไขมัน (Lean) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

มัดกล้ามที่เพิ่มขึ้นมาทำให้เขากลายเป็นนักกอล์ฟผู้ทรงพลังที่สามารถตีได้ไกลที่สุดในพีจีเอทัวร์เมื่อฤดูกาลที่แล้ว และหลายคนเรียกเขาว่า ‘Fairway Finder’ ที่ต่อให้ไม่มีแฟร์เวย์ เขาก็หาของเขาเองได้เสมอ

วินาทีแห่งชัยชนะของ ไบรสัน เดอชอมโบ เมื่อเขาได้เป็นแชมป์เมเจอร์รายการแรกในชีวิต ยูเอสโอเพ่น ครั้งที่ 120

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มันดูขัดจากขนบและหลักการที่เคยมีมาของกอล์ฟ ทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับโปรที่ดูแปลกคนนี้

เพียงแต่เขาไม่ได้คิดอะไรมากกว่าแค่อยากจะพิสูจน์ให้เห็นว่าบนโลกใบนี้มีประตูอยู่มากมาย อยู่ที่ว่าจะตั้งใจหาทางหรือไม่

“ผมอยากแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่ามันยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำได้อีก” เดอชอมโบกล่าวหลังจากที่คว้าแชมป์ร็อกเก็ต มอร์ตเกจ คลาสสิก 

“ผมเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเอง ผมเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเองเพื่อที่จะชนะให้ได้ โดยที่ผมเล่นกอล์ฟในสไตล์ที่แตกต่างจากทุกคน”

ขณะที่โค้ชที่เป็นครูและที่ปรึกษาผู้ชี้ทางให้แก่เดอชอมโบอย่าง ไมค์ ชาย ที่สอนเขามา 15 ปีจนรู้แจ้งว่าลูกศิษย์ของเขาเป็นคนที่ชอบท้าทายทุกสิ่งที่มีอยู่เดิม

“ความจริงก็คือเขาเป็นคนที่ต้องการจะท้าทายสิ่งที่มีอยู่เสมอ เราคุยกันในเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลานาน และมันเป็นสิ่งที่คงไม่มีใครเขาชอบ 

“คนจะไม่มีทางยอมรับจนกว่าจะคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์และได้เป็นอันดับ 1 ของโลกสักช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นทุกคนจะเริ่มตื่นและยอมรับมัน บางทีเราอาจจะต้องกลับมาดูสิ่งที่เขาทำก่อน จะได้รู้ว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงวงการอย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ดี สำหรับคนในวงการแล้ว เดอชอมโบไม่ใช่ของแปลก เพราะหากได้รู้จักหรือเคยพบกันสักครั้งจะรู้ว่าเขาเป็นโปรกอล์ฟที่มีความเคารพนอบน้อมต่อทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่คุณพ่อของเขาที่เคยเป็นอดีตนักกอล์ฟด้วยเช่นกันพยายามสอนให้มีสัมมาคารวะกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟด้วยกันหรือเจ้าหน้าที่สนามเองก็ตาม

เขาเป็นคนที่ใฝ่รู้เสมอ นอกจากการหาความรู้ด้วยตัวเองผ่านการ ‘ทดลองกอล์ฟทางวิทยาศาสตร์’ แล้ว เดอชอมโบยังชอบที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับโปรคนอื่นๆ เสมอ

หลายคนชื่นชอบที่จะได้แลกเปลี่ยนกับเขา และบางคนก็อยากจะลองตีด้วยไม้ของเขาดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

หลังการเรียนรู้และทดลองโดยเอาชีวิตการเล่นของตัวเองเป็นเดิมพันมาหลายปี ดูเหมือนว่าในที่สุดแล้วเดอชอมโบจะค้นพบคำตอบที่เขาต้องการ

ก่อนจะพัตต์ลูกสุดท้าย เดอชอมโบหันไปหากล้องที่กำลังจับภาพของเขาอยู่ ก่อนจะส่งความรักกลับไปให้คนในครอบครัวที่เฝ้าดูอยู่ที่บ้าน

“มันมีช่วงเวลาที่ผมไปโรงเรียนโดยไม่มีเงินค่าอาหารกลางวัน และเราต้องทำแซนด์วิชกินกัน เพราะเราไม่มีอะไรจะกินจริงๆ 

“เรามีช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ในทุกๆ วันพวกเขาจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อผม และทำให้ผมได้มีโอกาสที่จะไปเล่นกอล์ฟ ได้ไปซ้อม และได้ทำทุกอย่างให้ดีขึ้น 

“แชมป์รายการนี้เพื่อครอบครัวของผม เพื่อทีมของผม กับการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมา หยาดเหงื่อและเลือดทุกหยด น้ำตาที่เราเสียไป มันทำให้ความสำเร็จครั้งนี้คือโลกทั้งใบสำหรับผม”

แต่แน่นอนว่าเมื่อก้าวมาถึงจุดนี้แล้ว เดอชอมโบจะไม่หยุดแค่นี้ และเขามีโอกาสจะพลิกโฉมหน้าวงการกอล์ฟไปตลอดกาล

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • https://www.bbc.com/sport/golf/54229887
  • https://www.bbc.com/sport/golf/53504334
  • https://golf.com/instruction/driving/shot-shaping-fairway-finder-with-cam-champ/
  • https://www.skysports.com/golf/news/12040/12076762/us-open-bryson-dechambeau-to-stick-with-aggressive-approach-to-tackling-winged-foot

FYI

  • เดอชอมโบเป็นนักกอล์ฟคนที่ 3 ของโลกต่อจาก แจ็ค นิคลอส และไทเกอร์ วูดส์ ที่คว้าแชมป์ NCAA, แชมป์ยูเอสอเมเจอร์ และยูเอสโอเพ่นได้
  • ความฝันอีกอย่างหนึ่งของเขาคือการตีให้ได้แบบ แฮปปี้ กิลมอร์ ที่ตีได้ระยะ 400 หลาขึ้นกรีนในทีเดียว! …แต่เดี๋ยวนะ Happy Gilmore ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย อดัม แซนด์เลอร์! (แม้ว่าจะอ้างอิงจากนักกอล์ฟจริงๆ ที่ชื่อ ไคล์ แม็คโดนาฟ ก็ตาม)
  • มื้อเช้าของเดอชอมโบประกอบไปด้วย เบคอน 5 ชิ้น, ไข่ 4 ฟอง, ขนมปัง, โปรตีนเชก 2 แก้ว และในแต่ละรอบเขาจะกินแซนด์วิชที่ทาเนยถั่วและแยม โปรตีนเชกอีก 3 แก้ว, ออร์แกนิกโปรตีนบาร์ และขนมอื่นๆ เรียกได้ว่ากินเป็นพายุจริงๆ
Golf Sponsored
กอล์ฟ

กอล์ฟ (อังกฤษ: Golf) คือกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า "กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมโดยการสโตรคหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ" กอล์ฟเป็นหนึ่งในกีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นที่แน่นอน (สนามกอล์ฟแต่ละแห่งสามารถมีรูปร่างและขนาดต่างกัน)

This website uses cookies.