Golf Sponsored

เคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับ ‘Hackvax’ กุญแจผ่าทางตัน กับโมเดลฉีดวัคซีนที่มากกว่าแค่ ‘ฉีดแล้วจบ!’ – กรุงเทพธุรกิจ

Golf Sponsored
Golf Sponsored

เมื่อการ “ฉีดวัคซีน” มีประสบการณ์ที่ดีและการบอกต่อเป็นคีย์สำคัญ ทีมอเวนเจอร์ ‘Hackvax’ จึงย้อนรอย MIT ส่งโมเดลฉีดวัคซีนที่แฮกทุกกระบวนการ ด้วยแนวคิดที่มี ‘ผู้รับบริการ’เป็นศูนย์กลาง สู่เป้าหมายสูงสุดคือ ‘โคราชมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์’ ทั้งรุกส่งไม้ต่อ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกต้องเผชิญทั้งวิกฤติด้านสุขภาพและวิกฤติทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าการสู้รบกับโรคระบาดอย่างโควิดในปัจจุบัน ดูเหมือนจะมีหนทางเดียวที่เป็นความหวัง นั่นก็คือ “วัคซีน” ที่จะช่วยป้องกัน ลดความรุนแรง ยับยั้งการระบาดได้ และยิ่งได้ฉีดเร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญคือ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนไปสู่ประชาชนให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด แต่ทว่าโมเดลการ “ฉีดวัคซีน” กลับมีกระบวนการที่มากกว่าเข็มและยา และคำตอบที่ดีที่สุดคือ “การทำให้คนรู้สึกดีกับการฉีดวัคซีน”

จึงทำให้หลายพื้นที่ได้มีนโยบายผลักดันให้เกิดการฉีดวัคซีนเพื่อต่อกรกับสมรภูมิโควิดที่เกิดขึ้น แต่จะเห็นได้ว่ามีเพียงจังหวัดหนึ่งที่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วเป็นระบบ จนเกิดการพูดถึงและกลายเป็นไวรัล #ฉีดแล้วนะ ในโซเชียลมีเดียกันอย่างครึกโครมคงจะเป็นที่ใดไม่ได้นอกซะจาก “นครราชสีมา (โคราช)”

ภายใต้การดำเนินงานของทีม “Hackvax” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็น นวัตกร สตาร์ทอัพ แอร์โฮสเตส นักออกแบบ นักสื่อสาร และบุคลากรทางการแพทย์ ในการร่วมกันสร้างระบบกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ประชาชนที่มารับบริการ ผ่านการแปลงห้างสรรพสินค้าให้กลายเป็นจุดฉีดวัคซีน

อเวนเจอร์ ‘Hackvax’ แฮ็

กทุกกระบวนการฉีดวัคซีน

กรุงเทพธุรกิจ จึงได้มีการพูดคุยกับทีมงานผู้ริเริ่มโปรเจกต์ “มารุต ชุ่มขุนทด หรือ พี่กอล์ฟ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “คลาสคาเฟ่ (Class Café)” แบรนด์ร้านกาแฟ และ “พัทน์ ภัทรนุธาพร หรือ พีพี” นวัตกรและนักศึกษาปริญญาเอกแห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT)

เริ่มแรก พัทน์ เล่าว่า ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ ได้เข้าร่วมฉีดวัคซีนที่เคมบริดจ์ ซึ่งรู้สึกว่ากระบวนการทำงานตอบโจทย์ประสบการณ์ของผู้รับบริการที่ดีมาก จึงนำกระบวนการเหล่านั้นมาแชร์ผ่านการโพสต์บนเฟซบุ๊กเพื่อให้ทุกคนได้ทราบว่ากระบวนการฉีดวัคซีนของที่สหรัฐฯเป็นอย่างไร ถึงทำให้ภายในไม่กี่เดือนจึงสามารถฉีดไปได้ 200 ล้านโดส ภายใน 100 วัน อีกทั้งได้มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คช็อปวางแผนกระจายวัคซีนของเมืองบอสตัน ที่จัดโดย MIT Media Lab และ IDEO องค์กรด้านวัตกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยมีการร่วมกันออกแบบวิธีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สุด

โดยทุกคนลงทะเบียนและกรอกข้อมูลที่จำเป็นผ่านเว็บไซต์มาครบหมด ทำให้พื้นที่ฉีดวัคซีนหน้างานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เมื่อฉีดวัคซีนเสร็จ ก็จะได้รับคิวอาร์โค้ดสำหรับจองการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ทันที หลังนั่งดูอาการประมาณ 15 นาที ก็สามารถกลับบ้านได้ เท่ากับใช้เวลาในสถานที่ฉีดวัคซีนเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

จากโพสต์นั้นเพียงโพสต์เดียวจึงได้สร้างความสะดุดตาให้กับ พี่กอล์ฟ มารุต ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ MIT จึงเกิดไอเดียที่จะนำมาทำที่ไทย โดยไอเดียของ Hackvax ซึ่ง “Hack” ในที่นี้หมายถึงต้องการที่จะเข้าไปทำให้กระบวนการดีขึ้นไม่ใช่การทำแบบเดิมๆที่ทำกันมาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วน “Vax” มาจากคำว่าวัคซีนนั่นเองจึงเกิดเป็นทีม Hackvax นี้ขึ้นมา

ด้าน พี่กอล์ฟ มารุต เล่าว่า เมื่อได้ไอเดียที่จะลงมือทำจึงร่วมกันพัฒนา Opensource design ที่รัฐบาล โรงพยาบาลเเละจังหวัดต่างๆสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้​ โดยเราได้คิดกระบวนการเเบบของกระบวนการฉีดวัคซีน การให้ความรู้กับประชาชน ตั้งเเต่ต้นจนจบเพื่อรองรับกับการดำเนินการขนาดใหญ่จากมุมมองของผู้ใช้บริการ (Human-Centric Design) รวมทั้งเรียนรู้การจัดการและการออกแบบ User Experience จากอเมริกาเเละทั่วโลก

สำหรับ Hackvax ก็ใช้ไอเดียเดียวกัน ถ้าอยากฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีสถานที่ฉีดระดับ 1 ล้านโดสอยู่แค่ใน 50 สถานที่ เพื่อให้ฉีดได้เร็วและทันกำหนดนี่คือโจทย์

ทั้งนี้ Hackvax ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก 1.Human-Centered Design: การเข้าความต้องการเเละข้อจำกัดของมนุษย์ คือหัวใจในการออกเเบบกระบวนการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยการออกเเบบที่ลื่นไหลโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการออกเเบบ

2.Design with Data for Scale: การออกเเบบที่ใช้ข้อมูลจริงมาเป็นปัจจัยในการออกเเบบเพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพเเละการใช้งานในวงกว้าง

และ 3.Opensource Design: งานออกเเบบเป็น Opensource ภายใต้ MIT Licence ทำให้สามารถถูกนำไปต่อยอดเเละพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้นได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศไทยเเละทั่วโลก

โดย Hack Vax Open Design ในเวอร์ชันนี้ได้ใช้ “โคราช” เป็นเมืองต้นเเบบเเละได้รับข้อมูลพร้อมการอำนวยความสะดวกจากทีมเเพทย์โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา จนเกิดเป็น ‘โคราชโมเดล’ อย่างที่ทุกคนพูดถึงกันทุกวันนี้

แฮ็กทุกกระบวนการฉีด

พี่กอล์ฟ มารุต ยังเล่าถึง 4 กระบวนการที่ทำให้การ ‘ฉีดวัคซีน’ เป็นประสบการณ์ที่ดีคือ 1.Understanding the User Journey เนื่องจากเเต่ละคนในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ต่างกันย่อมมีการตัดสินใจ เเบบเเผนการใช้ชีวิตเเละความคิดเห็นต่อสถานการณ์โควิดที่เเตกต่างกัน การออกเเบบของเราคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนที่จะมาใช้บริการการฉีดวัคซีน ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจว่ากระบวนการอะไรคือคอขวด เวลาที่เเต่ละกระบวนการใช้ต่อผู้ใช้บริการหนึ่งคน จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ใช้เเต่ละกระบวนการต่อผู้ใช้บริการหนึ่งคน ของกระบวนการทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทีมได้มีการหาวิธีแก้ไขนั่นคือการวางแผนกระบวนการตั้งแต่เริ่มแรกนั่นคือการวัดความดันที่จะมีการกระจายพื้นที่ อีกทั้งการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรกว่า 100 ราย

2.Scaling Up the Site มุ่งเป้าไปที่กระบวนการ scale up ให้รองรับผู้มาใช้บริการได้มากขึ้น กระบวนการหรือ flow    เเบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆ คือ การตรวจข้อมูล, การรับวัคซีน เเละการเฝ้าสังเกตอาการหลังฉีด

3.Signage & Direction ป้ายบอกทางมีความจำเป็นอย่างมากในการบอกทิศทางในการเคลื่อนย้ายผู้คน อย่างที่กล่าวถึงก่อนหน้าเราต้องการให้ประสบการณ์ตั้งเเต่ต้นจนจบราบรื่นที่สุดเหมือนการเข้าไปในสนามบิน เราจึงมองผู้มารับวัคซีนไม่ใช่เป็นคนป่วยเเต่เป็นผู้ใช้บริการที่เราพยายามออกเเบบประสบการณ์ที่ดีที่สุด สำหรับการออกเเบบป้ายเราเลือกสีในโทนเขียว ขาว เทา เเละ ดำ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาในการลดความตึงเครียดเครียดเเละสร้างความผ่อนคลายที่สุด

หลังจากที่เเพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนให้กับผู้มารับบริการ เราออกเเบบการ์ดใบเล็กซึ่งได้เเรงบันดาลใจมาจากการออกเเบบของ IDEO ร่วมกับ MIT Media Lab การ์ดใบนี้จะทำหน้าที่เป็นหลักฐานในการฉีดของผู้มารับบริการที่พกพาได้นอกเหนือจากการบันทึกออนไลน์ โดยการ์ดนี้มี QR code ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลวัคซีนเเละผู้มารับบริการ

4.Humanizing the Process กระบวนการที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการฉีดวัคซีนคือการสร้างความประทับใจให้กับผู้มาใช้บริการเพื่อนำไปสู่การบอกต่อที่จะนำไปสู่การสื่อสารในวงกว้าง ทางทีมได้ออกเเบบการ์ด เเละสื่ออื่นๆที่จะช่วยสร้างความเป็นมิตรให้กับการฉีดวัคซีนขึ้น เช่น การ์ดขอบคุณที่จะถูกมอบโดยเเพทย์ พยาบาลหรือผู้ฉีดวัคซีน ซึ่งการ์ดนี้จะมีคำอวยพรโดยเเพทย์ รวมทั้งเบอร์โทรฉุกเฉิน Link ไปสู่การจองการฉีดครั้งต่อไปเเละเวลาที่จะต้องรอจนถึงเพื่อออกจากจุดสังเกตอาการ การที่ทำให้การ์ดนี้มีความเป็นมิตรจะช่วยทำให้ข้อมูลเหล่านี้อยู่กับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น

“ทั้งนี้ข้อจำกัดของ Open Design ในเวอร์ชั่นนี้ยังมีอีกหลายเรื่องและใช้วิธีแก้ไขทุกวัน ซึ่งไม่สามารถที่จะเป็นสูตรตายตัวได้เพราะสเกลที่เราคาดหวัง จุดที่เราทำงานร่วมกัน ทำให้เราเห็นว่าการที่เราเร่งเครื่องจำนวนคนเข้ารับบริการ เราก็เริ่มเห็นจุดคอขวดในทุกช่วงห้วงเวลา เพราะบางครั้งการใช้บริการจะมีการกระจาย บางชั่วโมงเป็น 1 พันกว่าคน”

รู้ปัญหา จึงแก้ได้ง่าย

จึงมีการแก้ไขคอขวดทีละเสต็ป คือ 1.การเตรียมตัวก่อนลงทะเบียน  ซึ่งจะเริ่มกระบวนการตั้งแต่กรอกใบยินยอมให้กระทำหัตกรรมทางการแพทย์ จากนั้นวัดความดัน เพราะฉะนั้นจะเจอคอขวดที่ 1 ทางโรงพยาบาลจึงแก้ไขด้วยการนำเครื่องวัดความดันไปกระจายอยู่ตามจุดต่างๆของห้างที่สามารถปริ้นท์ออกมาได้แต่ละคน จากนั้นเดินเข้ามากรอกประวัติใบเอกสาร ตามกฎระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข

2.คนจะไปกระจุดตัวอยู่จุดที่สอง คือ จุดลงทะเบียน ซึ่งจะต้องเตรียมจุดลงทะเบียนใหม่ ดังนั้นทีมที่ทำงานได้คุณหมอบิ๊กที่เก่งเรื่องการลงทะเบียน และอาสาสมัครจาก มทร.อีสาน มาช่วยทำให้ได้จุดลงทะเบียน 50 จุด 10 สเตชั่น

3.จุดคัดกรอง ที่จะต้องค่อยๆตรวจสอบว่าแพ้ยาหรือไม่ พร้อมกับความดันซักประวัติอีกครั้ง หากไม่ชัวร์จะส่งกลับไปหาแพทย์ หากแพ้ยาจะส่งไปหาเภสัช ซึ่งจะเป็นอีกคอขวด จากเดิมที่คิดว่าไม่เป็นอะไร จึงต้องมีพยาบาลมาคัดกรองเพิ่มอีก 25 คน

4.สเตชั่นฉีดยา ด้วยความที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชทำให้ได้ 50 สเตชั่น แต่คราวนี้ยาโหลดลงเข็มไม่ทัน ดังนั้นFlow ถูกออกเเบบให้มี cold storage อยู่ตรงกลางคอยเติมวัคซีน ให้กับหน่วยฉีดที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้างเพื่อให้เกิดการต่อเนื่อง โดย cold storage จะเก็บวัคซีนวันต่อวันเพื่อป้องกันความเสียหายทำให้วัคซีนเสื่อมสภาพ ดังนั้นจะสามารถใช้เวลาฉีดเพียง 90 วินาที ฉะนั้นในวันแรกมีปัญหาเรื่องการโหลดวัคซีนเข้าเข็มฉีด หรือ Draw ยา โดยเป็นการจัดการวัคซีนสำหรับฉีดขนาด 5-8 พันเป็นขนาดอุตสาหกรรมย่อมๆ  

ส่วนห้องปฐมพยาบาลถูกวางไว้หลังสุดให้เชื่อมต่อกับ Loading dock ทำให้สามารถขนถ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินออกได้ในกรณีฉุกเฉิน และโซนสังเกตอาการจะเเยกออกไปต่างหากอีกฝั่งเเละมีเก้าอี้ที่เว้นระยะห่าง นั่งได้ทีละ 1 คน (มาเดี่ยว), 2 คน (มาเป็นคู่) เเละ 3 คน (มาเป็นครอบครัว ถ้าเกินอาจจะไปนั่ง 3 + 2) เพื่อประหยัดพื้นที่ให้จุคนได้มากที่สุด จุดสังเกตอาการสามารถเชื่อต่อเข้ากับห้องปฐมพยาบาลในกรณีฉุกเฉินได้เช่นกัน เพราะถ้าทุกกระบวนการไหลเร็วเกินจะไปกระจุกตัวอยู่ในกระบวนการที่ 5  

ดังนั้นกระบวนการที่ 5 จะชะลอเพื่อไม่เกิดการอยู่ใกล้กันเกินจะต้องมีคนคอยดูแลกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในทีม Hackvax ที่ดูแลคือแอร์สนามบิน นั่นคือ คุณปริม  พร้อมทั้งได้เเรงบันดาลใจมาจากการออกเเบบของ CIC Health โดยใช้หลักการของการออกเเบบสนามบินที่คนเข้าออกพลุกพล่านเเละมีการไหลของผู้โดยสารโดยไม่สะดุด ดังนั้นแอร์สนามบินช่วยในโปรเจ็คนี้ทำให้คนเดินในพื้นที่นี้เดินกลับไปกลับมาเพื่อเป็นการดีเลย์ให้ใช้เวลานานขึ้น

วงออเคสตร้าแห่งยุคโควิด

ทั้งหมดนี้คือดีเทลที่ออกแบบมาตลอดทาง และทำให้ไม่เกิดคอขวดในแต่ละขั้นตอน ซึ่งไม่ “หมู” เพราะการนำคนจำนวนกว่า 1 พันคน มากระจุกในเวลาเดียวกันอันตรายมาก ขณะเดียวกันล่าสุดได้ Team Behind Team มาช่วยงานกือบ 500 คน ทั้งจาก ทีมโรงพยาบาลมหาราช ทีมราชภัฏนครราชสีมา ทีมราชมงคลอีสาน ทีมเซ็นทรัลนครราชสีมา อาสาสมัคร ทีมคลาสอาสา ทีมโฟโต้ ทีม indeedlystudio ทีม Korat : เมืองที่คุณสร้างได้ ที่ประสานงานกันเหมือนวงดนตรีออเคสตร้าวงใหญ่ และจัดคอนเสิร์ตทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องจัดระเบียบเสบียงอาหารเช่นกันเพื่อให้การทำงานของอาสาสมัครมีความสุขความภาคภูมิใจมากขึ้น

แต่ยังเจอคอขวดอีกว่าประสบการณ์หลังฉีดเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงเวลา 30 นาทีที่ต้องนั่งรอดูอาการ นอกจากมีเพลงฟังเป็นบางช่วงตั้งแต่ฉีด มีการแชร์รูประหว่างฉีด จะต้องหาวิธีจัดการเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์เพื่อการวนกลับมาและชวนเพื่อน ทางทีมได้ AIS ในการสนับสนุนระบบ Wifi กับทุกเครือข่าย อีกทั้งมี Backdrop มีช่างภาพมาช่วยถ่ายรูป เพื่อสร้างการแชร์และไวรัลกลับมาบนฟีดต่อไปภายใต้ #ฉีดแล้วนะ เพื่อการันตีว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นร้านค้าจะมาให้โปรโมชั่นต่ออย่างเช่น รับกาแฟที่คลาสคาเฟ่ได้ฟรี และอื่นๆอีกมากมาย

“เพราะฉะนั้น Hackvax ไม่ใช่โปรเจ็กต์การฉีดวัคซีน แต่เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้คนรู้สึกดีกับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นคีย์สำคัญ ดังนั้นการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องเล็กที่สุดของ Hackvax เพียงแค่ 90 วินาที แต่ก่อนฉีดที่ทำยังไงให้คนอยากฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นความสำเร็จของโปรเจ็คนี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้สึกดีกับการฉีดวัคซีน เพราะถ้าฉีดแล้วรู้สึกดีก็จะเกิดการบอกต่อให้คนอื่นมาฉีดกันมากขึ้น”

โคราชไม่ใช่ม้านอกสายตา

ส่วนการที่เลือกพื้นที่ “โคราช” เป็นพื้นที่ปิดที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจในการทำโปรเจ็กต์นี้เลยเกิดขึ้นได้ ในขณะที่กรุงเทพจะมีความซับซ้อนกว่าที่ว่าวัคซีนพอหรือไม่ ? พยาบาลพอหรือไม่ ? บุคลากรพอไหม ? สถานที่เหมาะไหมมีความยากเรื่องพวกนี้สูงมาก แต่โคราชทำได้สมบูรณ์และออกมาดีมากเพราะว่าความที่เอกชนช่วยกัน ซึ่งเราเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยบริหารจัดการขั้นตอนตรงนี้ แต่ทรัพยากรที่ได้รับมหาศาลมากอาทิ ป้าย Staff ,ลูกศรติดพื้น เกิดจากที่ทุกคนเข้ามาช่วยร่วมกัน

อีกทั้งการนำเรื่อง service design เข้ามาใช้ เป็นการนำขั้นตอน ความคิด เครื่องไม้เครื่องมือแบบ MIT มาใช้ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ ทั้งนี้กระบวนการ Hackvax จึงมีทั้งการสร้างความเชื่อมั่นของคนมาฉีดวัคซีน ฉีดแล้วกลับไปพร้อมความรู้สึกดีๆ หรือบางคนอาจจะแชร์บนโซเชียลมีเดีย ชวนให้คนอื่นมาฉีดด้วย

ขณะที่กระบวนการสื่อสารก็สำคัญส่วนหนึ่งที่คนไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะการสื่อสารที่ผิดจุด เช่น วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ให้ไปฉีดวัคซีน เขาก็จะถามกลับว่า วัคซีนอะไร ฉีดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องสื่อสารให้เขาทราบถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน สังคม แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัยที่มีความเป็นห่วงลูกหลาน เราก็จะสื่อสารในเชิงที่ว่า วัคซีนทำให้คุณอยู่กับลูกหลานได้อย่างปกติสุข แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนทำงานจะเน้นเรื่องการเป็นเสาหลักครอบครัวจึงต้องสื่อให้รู้ถึงการที่สามารถออกไปทำงานได้อย่างปกติ และสามารถดูแลครอบครัวได้ ทั้งหมดนี้เอาธรรมชาติของความเป็นมนุษย์มาช่วยออกแบบ

เพราะฉะนั้นขั้นตอนการสื่อสารที่เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับ boston Model ที่ผ่านเรื่องนี้มาก่อน และนำมาทำให้การสื่อสารตรงว่าเป็นเรื่องของ “ภาคสังคม” โดยเริ่มทดลองใน Clubhouse ว่าหากเจอกลุ่มแบบนี้จะต้องสื่อสารแบบไหน ? คือจิตวิทยาที่เข้าใจของแต่ละกลุ่มที่ต้องมีการสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน

ฟอร์มทีมอย่างไรให้เวิร์ค

ส่วนการฟอร์มทีม Hackvax ใช้วิธีการรวมทีมและดึงในโซเชียลมีเดีย จากนั้นเริ่มปักหมุดที่โคราชเพราะเป็นเมืองที่พร้อมที่จะทำเป็นเหมือนแซนด์บ็อก จึงคิกออฟภายในคืนนั้น โดยการดึงบุคลากรจากทั่วทิศทั้งและค่อยๆเกิดขึ้นบนคอมมูนิตี้ออนไลน์เป็นหลักผ่านแชทบ็อก และตอนนี้ตกผลึกและเสถียรทุกขั้นตอนจึงเป็นสูตรสำเร็จ

ดังนั้นหากจะนำโปรเจ็กต์นี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นข้อคำนึงสำคัญคือ ในทีมต้องมีบุคคลที่เข้าใจสถานที่และโลจิสติกส์ซึ่งจะต้องมี Agritech 1 คน , คนประสานงานเก่งๆ 1 คน , บุคลากรทางการแพทย์,กราฟฟิกดีไซน์ 1 คน

ขณะเดียวกัน พัทน์ ยังได้เอ่ยถึง จุดไคล์แม็กซ์ที่สำคัญของ Hackvax นั่นคือ Human-centered design การดีไซน์ที่คิดถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งอย่ามองว่าวัคซีนเป็นเป้าหมายสุดท้ายแต่ให้มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะเรียนรู้ในการอยู่กับโรคที่จะอุบัติขึ้นเรื่อยๆและสังคมที่จะเปลี่ยนไปข้างหน้าอย่ามองว่าเป็นผลลัพธ์สุดท้าย

“ส่วนความท้าทายคือ การดีลกับหน่วยงานต่าง ซึ่งโปรเจ็กต์ที่โคราชลื่นไหลเพราะมีมุมมองทางความคิดที่เหมือนกัน มีการพยายามทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกันจำนวนมาก อาทิ หมอเจษฏ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ช่วยเคลียกระบวนการของโรงพยาบาล รีซอส ทรัพยากร และ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล​มหาราชนครราชสีมา ทำให้มีพยาบาลเยอะมากเป็น 100 กว่าราย ส่วนเราเองก็ปรับแต่งระบบต่างๆ ประสานงานตั้งกลุ่มอาสา และได้ พัทน์ช่วยคิดช่วยเร่งจนเกิดเป็นสูตรสำเร็จของ HackVax” พี่กอล์ฟ มารุต กล่าว

ปัจจุบันจากเดิมยอดเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 โดสต่อวัน ช่วงนี้ลดลงเหลือ 3,000 โดสต่อวัน เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนกระบวนการรอวัคซีน ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินการแล้วได้แก่ โรงพยาบาลมหาราช Central ,โรงพยาบาลสูงเนิน, บมจ.บางจาก ร่วมกับเขตพระโขนง ,โรงพยาบาลปิยเวช ,โรงพยาบาลบางปะกอก ,โรงพยาบาลปากช่องนานา ซึ่งจัดฉีด 3 แห่ง ,รวมทั้ง SCG บางซื่อ และ SCG ระยอง เพราะดีไซน์ใช้เป็นโอเพ่นซอสทุกคนนำมาแก้ไขทำให้ดีขึ้นและปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ได้

ทั้งนี้ผลสำรวจการใช้งานในโปรเจ็กต์ เนื่องจากเสียงสะท้อนเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเอามาปรับปรุงบริการ ซึ่ง่การได้รู้ว่าจุดไหนยังพัฒนาได้อีกเป็นเรื่องน่ายินดี โดยคณบดี Rabil Ponphai นำทีมทำสำรวจควบคู่ไปด้วย ทำให้ Hackvax ได้ Data จริงจากผู้ใช้จริงเข้ามาช่วย ตามข้อมูลนี้จุดที่ได้คะแนนต่ำสุดคือการจัดคิว บัตรคิว ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่4.33คะแนน และที่น่ายินดีคือ จุดฉีดได้คะแนนสูงสุดถึง4.82

Golf Sponsored
กอล์ฟ

กอล์ฟ (อังกฤษ: Golf) คือกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า "กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมโดยการสโตรคหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ" กอล์ฟเป็นหนึ่งในกีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นที่แน่นอน (สนามกอล์ฟแต่ละแห่งสามารถมีรูปร่างและขนาดต่างกัน)

This website uses cookies.