Golf Sponsored

วินัยชีวิตวินัยสังคม สยามรัฐ – สยามรัฐ

Golf Sponsored
Golf Sponsored

เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.

“ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” เป็นวาทกรรมที่ด้านหนึ่งสะท้อนความอิสรเสรี อีกด้านสะท้อนให้เห็นความไม่มีวินัย ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น และไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ไม่ว่าฐานะพลเมืองหรือฐานะอะไร

แต่ก่อนผู้คนอยู่กันเป็นชุมชน ดูแลกันเอง มีจารีตประเพณีเป็นวิถีชีวิต มีตัวกำกับนำร่องคือฮีตสิบสองคองสิบสี่ทางอีสาน และของแต่ละภาคแต่ละเผ่าพันธุ์ ว่าเดือนไหนวันไหนต้องทำบุญประเพณีอะไร ทำไร่ทำนา ทำมาหากิน ในเศรษฐกิจยังชีพ ที่ไม่ต้องดิ้นทำมาค้าขาย หาเงินหาทองไปซื้อของกินของใช้

การศึกษาตอนต้นก็อยู่ในวัด บวชเรียน มีทั้งวินัยชีวิตและวิชาทำมาหากิน ต่อมาโรงเรียนแยกออกจากวัด แยกจากวิถีชีวิตวัฒนธรรม เป็นการหาความรู้ อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม ในระบบทุนนิยม แข่งขันกันสูง เรียนเพื่อทำมาหากิน เรียนวิชาศีลธรรมก็ท่องเอาเพื่อไปสอบความจำ ไม่ได้สอบการปฏิบัติ

การพูดว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ในสมัยก่อนจึงน่าจะเป็นเพียงการเสียดสี ประชดประชันดุว่าคน “นอกรีตนอกกรอบ” เท่านั้น เพราะผู้คนมีชีวิตในกรอบในเกณฑ์ ต่างจากวันนี้ที่ยิ่งมีกฎหมายเป็นหมื่นเป็นแสนก็ยังไม่อาจลดอัตราคนตายจากอุบัติเหตุบนถนนที่สูงอันต้นๆ ของโลก หรืออาชญากรรมฆ่ากันตายที่สูงมาก

ปัญหาสารพัดในสังคมวันนี้สะท้อนไม่เพียงแต่ความไม่มีวินัยของบุคคล แต่เป็นวินัยโดยรวมของสังคม ระบบโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ไม่สมดุล หลายมาตรฐาน เหมือนไร้กฎเกณฑ์ ทำอะไรตามใจชอบ (arbitrary)

สังคมที่มีระบบโครงสร้างแบบนี้ ระบบคุณค่าแบบนี้ ระบบการศึกษาแบบนี้ ยากที่จะทำให้เกิด “สำนึก” ความรับผิดชอบร่วมกัน ก่อให้เกิดเสรีภาพที่แท้จริง ที่มาจากการเคารพสิทธิของผู้อื่น และการทำตามหน้าที่ของแต่ละคนอย่างเคร่งครัด ซึ่งสะท้อนการมีวินัยชีวิตและวินัยสังคม

สังคมที่วินัยหละหลวมเช่นนี้ คือสังคมแบบศรีธนญชัย ที่กลับกลอก ปลิ้นปล้อน หน้าไหว้หลังหลอก ไม่จริงใจ เพราะไม่มี “สำนึก” ในความถูกต้องดีงาม คุณค่าร่วมของสังคมที่ดี หลายคนสวมหมวกกันน็อกไม่ใช่เพราะไม่ให้ตนเป็นอันตรายถ้าเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ได้เจ็บตนและลำบากผู้อื่น แต่เพราะกลัวตำรวจ

หรือใส่แมสก์ไม่ใช่เพราะไม่อยากแพร่เชื้อเผื่อว่าตนเองมีโดยไม่รู้ตัว และไม่รับจากผู้อื่นที่อาจมาแบบไม่บอกกล่าวในอากาศ แต่เพราะกลัวถูกปรับ สถานการณ์ การระบาดของโรคเอดส์และโควิด-19 สะท้อนปัญหาวินัยชีวิตและสังคมไทยได้ไม่น้อย

กฎหมายยุคใหม่ไม่สามารถทดแทนจารีตประเพณีวิถีชุมชนดั้งเดิมได้ เป็นวินัยชีวิต “กึ่งดิบกึ่งดี” ไทยก็ไม่ใช่ ฝรั่งก็ไม่เชิง เศรษฐกิจยังชีพก็ไม่ใช่ เศรษฐกิจทุนนิยมก็ไม่เชิง “พอกะเทิน” ครึ่งๆ กลางๆ จึงดูเหมือนทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง

กฎจราจรวันนี้ ในถนนสี่เลน ขับเร็วได้ 120 ก.ม.ต่อชั่วโมง แต่แค่ 90 ยังตายกันขนาดนี้ ปล่อยไป 120 ด้วยคนขับไม่มีวินัย และสภาพถนนหลวงแบบนี้ จะลดอุบัตเหตุได้อย่างไร อุบัติเหตุจึงสูงขึ้นทุกวัน

วาทกรรม “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” ส่วนหนึ่งสร้างความไม่ไว้วางใจให้ผู้คน เพราะมีอคติที่ไม่เชื่อว่าคนอื่นจะมี “วินัย” หรือ “ซื่อสัตย์” ต่อหน้าที่ เช่นกรณีการทำงานที่บ้าน จึงเกิดดราม่า ดังที่เป็นข่าวที่มีหน่วยงานที่มีแอพเพื่อ “ควบคุม” การทำงาน ทำให้พนักงานบางคนเห็นว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

จากคอมเมนต์เกือบทั้งหมดในสื่อใหญ่ออนไลน์ฉบับหนึ่ง วิจารณ์รุนแรงถึงกับไล่คนที่เป็นข่าวนั้นให้ลาออกจากงานนั้นเสีย หรือให้ผู้จัดการไล่ออกไปเลยดีกว่า บางคนบอกว่า มือถือก็ของบริษํท คอมก็ของบริษัท เงินเดือนก็ของบริษัท ก็แปลก คนก็กลายเป็น “ทาส” ของบริษัทไปด้วย ไม่เหลือ “สิทธิส่วนบุคคล”

อีกด้านก็พอเข้าใจ เพราะคุ้นกับวิธีการแบบศรีธนญชัยกันมาก การไปทำงาน ไปอบรม เซ็นชื่อแล้วหาย ยิ่งมีตำแหน่งสูงยิ่งมีอำนาจมาก ไม่มีใครว่าอะไร ไปธุระข้างนอกตลอด รวมทั้งตีกอล์ฟก็ไปสร้างความสัมพันธ์สร้างเครือข่าย จึงไม่ไว้ใจลูกน้องพนักงาน คิดว่าคงไปทำแบบเดียวกันกับตน แปลว่าลึกๆ รู้ดีว่าไม่ควรทำ

ถ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ “เวิร์ก ฟอร์ม โฮม” จะอยู่ภูเขาหรือทะเล แต่ทำงานที่ได้รับมอบหมายตามหน้าที่ แล้วจะมีปัญหาอะไร แล้วแต่งาน แล้วแต่เรื่องประเด็น ถ้าเขาร่วมปาระชุมออนไลน์ได้ แต่ไม่ได้นั่งที่บ้าน แต่นั่งที่ร้านกาแฟ นั่งที่ร้านอาหาร นั่งริมมะเล เพราะสบายใจกว่า ทำไมต้องบังคับให้นั่งในห้อง ยังคิดกันแบบเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต

การงานที่บ้านเขาประเมินกันที่ “ผลงาน” เหมือนที่ทำงาน คนไปทำงานเข้าก่อน กลับหลัง แต่ผลงานแย่ก็มาก เข้าชามเย็นชามตามเวลาก็มี ไปสายกลับก่อนแบบราชการก็มากมาย ไปรับลูกที่โรงเรียนบ่ายๆ ความเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยที่ยังคับแคบ อยู่ใน “สมอง” ไม่ได้อยู่ในหัวใจและใน “จิตสำนึก”

บ้านเราเห็นรูปแบบภายนอกสำคัญกว่าเนื้อหาภายใน นักเรียนนักศึกษาจึงต้องแต่งชุดไปเรียน ดูสำคัญกว่า “การเรียนรู้” และวิชาความรู้เสียอีก เอาแต่เปลือกนอก เอาแต่ปริมาณ ไม่เอาคุณภาพ

จึงแข่งกันมียศมีตำแหน่ง มีบ้านหลังใหญ่รถยนต์คันโต มีปริญญาแม้ต้องซื้อเอา สังคมหน้าไหว้หลังหลอก ชอบเปลือกนอก ด้านหนึ่งก็อยากอิสรเสรี แต่เสรีมีรูปแบบเดียว ไม่เอาความแตกต่าง เพราะแตกต่างแปลว่าแตกแยกสำหรับคนเหล่านี้ ต้องการระบบระเบียบแบบเดียวกันหมด ชอบเหมารวม

คนไทยจำนวนมากอยากให้คนอยู่ในคอก เหมือนวัวควาย ไม้ในกระถาง ชอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่สั่งให้ซ้ายหันขวาหัน วันนี้ใครวิจารณ์รัฐบาลนี้ที่มาจากรัฐประหารและสืบทอดอำนาจเป็นถูกด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หาว่าไม่รักชาติ ถูกต่อต้าน ถูกไล่ให้ไปเป็นพวกประท้วงรัฐบาล นักวิชาการบางคนยังยุให้มีรัฐประหารอีก

สังคมที่มีแต่กฎหมายเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสังคม “ตามใจฉัน” (arbitrary) ที่หามาตรฐานไม่ได้ มีคนที่มีอำนาจอาศัยกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แล้วจะบังคับให้พลเมืองอยู่ใต้กฎหมายแบบนี้ได้อย่างไร

Golf Sponsored
กอล์ฟ

กอล์ฟ (อังกฤษ: Golf) คือกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า "กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมโดยการสโตรคหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ" กอล์ฟเป็นหนึ่งในกีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นที่แน่นอน (สนามกอล์ฟแต่ละแห่งสามารถมีรูปร่างและขนาดต่างกัน)

This website uses cookies.