หลายพื้นที่ประเทศไทยต้องเผชิญ “พายุฤดูร้อนอันเลวร้าย” สภาพอากาศแปรปรวน “ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก” ที่มักมีเหตุการณ์ “ฟ้าผ่าคน” ได้รับบาดเจ็บ…พรากชีวิตเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ
ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่มักเป็น “กลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยคนทำงาน” ชอบทำกิจกรรมพื้นที่โล่งแจ้งไม่มีที่กำบังตามบริเวณนาไร่ สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ใกล้เคียงเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะปล่อยควัน ฝุ่นละอองน้ำ มักเป็น อนุภาคก่อให้เกิดประจุไฟฟ้าได้ง่าย
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หน.ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล อธิบายว่า อุบัติเหตุฟ้าผ่าคนไม่ใช่สาเหตุจากผิดคำสาบาน แต่เป็นปรากฏการณ์ “ไฟฟ้าสถิต” เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
มักเกิดในช่วง “ฤดูร้อน” จากมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยที่อยู่ในช่วงอากาศร้อนจัดก่อเกิดอากาศแปรปรวนรุนแรง กลายเป็น “พายุฝนฟ้าคะนอง” ลักษณะเมฆก่อตัวเรียบเป็นรูปทั่งตีเหล็กเคลื่อนตัวเสียดสีกับโมเลกุลหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้าถ่ายเทลงยังพื้นดิน
ผ่านอากาศด้วยการแปรสภาพจากฉนวนไฟฟ้าเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อความต่างศักย์ระหว่างก้อนเมฆ และพื้นดินที่สูงมากกว่า 3 ล้านโวลต์ต่อระยะทาง 1 เมตรในอากาศ
ทว่า…“ลักษณะฟ้าผ่าอันตราย” แบ่งเป็น 3 แบบ คือ แบบแรก…“ฟ้าผ่าแบบลบ” มักผ่าจาก “ด้านล่างก้อนเมฆ” มีประจุลบลงบนพื้นดินอันถูกเหนี่ยวนำให้มีประจุบวก แบบที่สอง…“ฟ้าผ่าแบบบวก” ถ่ายประจุบวกบนยอดเมฆลงพื้นดินได้ไกลจากก้อนเมฆราว 40 กม. ที่มีกระแสอนุภาพทำลายมากกว่าฟ้าผ่าแบบลบ
เหตุนี้เป็นที่มาของคำว่า Bolts from the blue (sky) เมื่อฟ้าผ่าอากาศมักขยายตัวเป็น “ความร้อนเกิดเสียงดัง” มีแสงเดินทางด้วยความเร็ว 300 ล้านเมตรต่อวินาที ที่เรียกว่า “มีความเร็วกว่าเสียง” หรือความเร็ว 346 เมตรต่อวินาที ทำให้ได้ยินเสียงฟ้าร้องตามหลังจากเห็นแสงฟ้าผ่าเสมอ
คำนวณระยะห่างได้ โดยจับเวลาวินาทีที่ห่างกันของฟ้าผ่า และฟ้าร้องนำมาหาร 3 เช่น ได้ยินต่างกัน 15 วินาที แสดงว่าจุดฟ้าผ่าห่างจากตัว 5 กม. ดังนั้น “ฟ้าผ่าแบบลบ และแบบบวก” เป็นอันตรายต่อ “คน สัตว์” ที่สุด ส่วน แบบที่สาม…“ฟ้าแลบ” มักถ่ายเทประจุระหว่างก้อนเมฆด้วยกันบนท้องฟ้าโอกาสเกิดอันตรายน้อย
ย้ำว่า…ปัจจัย “อุบัติเหตุฟ้าผ่าคน และสัตว์” มีตัวนำเกี่ยวกับ “ไฟฟ้าสถิตชีวิตประจำวันผู้คน” มาจากการเคลื่อนที่สัมผัสวัตถุทุกชนิดมี “ประจุไฟฟ้าบวก และประจุลบ” ถ้าเกิดการเสียดสีการขัดถู หรือการสัมผัสมักมีประจุไฟฟ้าขึ้นที่มีการเคลื่อนจากสิ่งของเข้าหาร่างกาย เมื่อนำมือจับก็รู้สึกกระตุกเหมือนไฟฟ้าช็อตก็ได้
เช่น ฤดูหนาวผิวหนังแห้งมักเกิดประจุไฟฟ้า เมื่อจับวัตถุแล้วแตะประตูรถยนต์อาจมีไฟแลบ…ถ่ายเทประจุอิเล็กตรอนระหว่างมือกับประตูสัมผัส เหตุนี้ “รถเข็นซุปเปอร์มาร์เกต” ต้องมีโซ่เล็กๆ ร้อยลากแตะพื้นดินถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตลงพื้นไว้ เพราะเป็นจุดเกิดบ่อยกว่าที่อื่นจากคนเยอะการเสียดสีประจุไฟฟ้าถูกถ่ายเทไป
แต่ไฟฟ้าสถิตไม่เกิดเฉพาะซุปเปอร์มาร์เกต “บ้าน หรือที่โล่งแจ้ง” ก็มีเช่นกันแต่ไม่สังเกตมากกว่า
และมีคำถามว่าไฟฟ้าสถิตเกี่ยวโยงฟ้าผ่าอย่างไร อธิบายแบบนี้ว่า จริงๆแล้ว “ฟ้าผ่า” ก็คือ “ไฟฟ้าสถิต” แต่เป็น “ไฟฟ้าสถิตขนาดใหญ่มีพลังงานมหาศาล” จากการเสียดสีกัน…ก้อนเมฆกับโมเลกุลหยดน้ำ และน้ำแข็งเช่นนี้แล้ว “ฟ้าผ่าเหนี่ยวนำลงจุดบริเวณเกิดประจุไฟฟ้าสถิต” ซ้ำได้มากกว่า 2 ครั้งในจุดเดียวกัน
เช่นกรณีในต่างประเทศเคยมี “พี่น้อง 2 คน” ยืนจุดที่โล่งมีไฟฟ้าสถิตของประจุบวก “เกิดขน หรือผมลุกตั้งขึ้น (static hair)” แต่มัวถ่ายรูปไม่รีบหาที่กำบัง “ฟ้าผ่าใต้ก้อนเมฆเป็นประจุลบ” ถ่ายเทพลังงานลงพื้นดินที่เป็นประจุบวกบริเวณตรงจุดพี่น้อง 2 คนได้รับบาดเจ็บ
ประเด็นนี้ “ประชาชนทั่วไป” มักเข้าใจผิดกันมาตลอด เพราะเชื่อว่า “วัตถุนำไฟฟ้าผ่า” คือ พวกโลหะกำไล โลหะสร้อย ลวดดัดฟัน ยกทรงโครงโลหะ เหรียญ หัวเข็มขัด กระดิ่งติดวัว หัวคันเบ็ด ที่มีลักษณะเป็นทองเหลืองสามารถดึงดูดฟ้าผ่าได้ แต่สิ่งนี้ “ไม่นับเป็นสื่อล่อฟ้าได้” แน่นอน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดกันทั้งสิ้นด้วยซ้ำ
ตามการทดลองในประเทศ และต่างประเทศ ยืนยันว่า “สายฟ้าผ่า” เลือกเส้นทางลัดถ่ายเทประจุสู่วัตถุตั้งอยู่สูงเด่นชัดทำให้ปรากฏฟ้าผ่าลงต้นไม้ใหญ่ หรือเนินภูเขาสูง ที่ไม่ใช่ตัวนำไฟฟ้าด้วยซ้ำ
ตอกย้ำว่า “ผู้คนเดินอยู่ที่โล่งแจ้ง” มักกลายเป็น “จุดที่สูงเด่นที่สุด” ทำให้ฟ้าอาจเลือกใช้เป็นเส้นทางลัดผ่าลงบุคคลนี้ก็ได้ เพราะในสภาพอากาศปกติ “ไม่ได้เป็นตัวนำไฟฟ้า” อยู่แล้ว แต่ด้วย “พลังงานจากฟ้าผ่ามีสูงพอ” จนกระทั่งทำให้สายฟ้าแปรสภาพเป็นฉนวนของอากาศให้เป็นตัวนำได้ด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกัน “สัญญาณโทรศัพท์มือถือ” ก็ไม่นับเป็นสิ่งล่อเกิดฟ้าผ่าเข้าตัวขึ้นได้ เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน อีกทั้ง “สัญญาณโทรศัพท์” ไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้ แต่ด้วย “คนชอบพกโทรศัพท์มือถือ” ถ้าเมื่อเกิดเหตุ “ฟ้าผ่าคน” ทำให้ลัดวงจรภายในแบตเตอรี่ระเบิดขึ้น
แม้แต่ “สร้อย หรือยกทรงโครงโลหะ” ถูกความร้อนหลอมกลายเป็นรอยไหม้ตามร่างกาย สิ่งนี้เป็นเพียงผลข้างเคียง “ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่า” แต่ว่า “ผู้พบเห็น” กลับคิดว่า “เป็นสาเหตุฟ้าผ่า” แท้จริงแล้วเป็นผลเกิดภายหลังฟ้าผ่าด้วยซ้ำ ดังนั้น “ฟ้าผ่า” จะเลือกผ่าจุดสูงเด่นในบริเวณที่โล่งแจ้งเป็นหลัก
ในแต่ละปี “ประเทศไทย” มีเหตุฟ้าผ่าคนราว 200 กรณี ในปี 2564 มีเหตุฟ้าผ่าคนเก็บมันสำปะหลังบาดเจ็บ ใน จ.นครราชสีมา และนักเรียนเล่นฟุตบอลแล้วถูกฟ้าผ่า จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย
ต้องเข้าใจว่า “คนถูกฟ้าผ่าค่อนข้างน้อย” หากเกิดแต่ละครั้งมัก “เสียชีวิต หรือบาดเจ็บรุนแรง” เพราะกระแสพลังงานรุนแรงทำลายมหาศาลสูงถึง 1 พันล้านโวลต์ ถ้า “รอดชีวิต” ต้องประสบอาการรุนแรงเสมอ
ประเด็น…“ลางบอกเหตุ หรือสัญญาณเตือน” ถ้าไม่มีเครื่องมือตรวจวัดความเสี่ยงการเกิดฟ้าผ่า ให้สังเกตเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะแล้ว “เส้นขนผิวหนังลุก หรือเส้นผมศีรษะลุกตั้งขึ้น” นั่นหมายถึงว่า “กำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า” ต้องรีบหาที่กำบังหลบในอาคารที่มีระบบดิน ไม่อยู่ใกล้หน้าต่าง หรือระเบียงเด็ดขาด
ถ้าหากว่า “หาที่กำบังไม่ทัน” ให้ย่อตัวต่ำไม่เป็นจุดสูงเด่นบริเวณนั้นแล้วใช้มือปิดหูป้องกันเสียง ไม่ควรนอนราบ เพราะเพิ่มพื้นที่สัมผัสระหว่างลำตัวกับผิวดินอาจเป็นทางผ่านกระแสฟ้าผ่า ควรให้ส้นเท้าชิดกันเขย่งปลายเท้าลดพื้นที่สัมผัสเพื่อลด Step Voltage และรอให้พายุผ่านไปสัก 30 นาที จึงออกจากจุดนั้นหาที่ปลอดภัย
เรื่องอันตราย Step Voltage เคยมีวัวถูกฟ้าผ่าตายยกคอก เพราะฟ้าผ่าบริเวณใกล้เคียงกระแสไฟฟ้าลงดินแผ่ออกไปจากจุดแหล่งฟ้าผ่าเป็นลักษณะรากไม้ ที่ไหลเข้าขาข้างหนึ่ง และออกไปยังอีกข้างหนึ่งผ่านลำตัว ดังนั้นควรทำส้นเท้าชิดกันป้องกันให้กระแสไฟฟ้าผ่าไหลจากขาข้างหนึ่งออกอีกข้างโดยไม่ไหลเข้าลำตัวเป็นอันตรายได้
แต่ว่า “การอยู่ในรถยนต์” มักปลอดภัยสูง ตามทฤษฎี “นักฟิสิกส์อังกฤษ” เคยศึกษากระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะไหลอยู่นอกตัวถังโลหะรถทะลุผ่านล้อยางลงดิน จะไม่วิ่งเข้าตัวรถทำอันตรายต่อผู้โดยสาร ทั้งนี้ต้องปิดกระจก และไม่สัมผัสตัวถังรถด้วย ส่วน “รถกอล์ฟ” เปิดประทุนป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าไม่ได้
ประการต่อมา…“ฟ้าผ่าอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเสียหาย” มักผ่าผ่านหม้อแปลงไฟฟ้า หรือสายไฟนอกบ้านกระแสไฟฟ้าผ่าไหลไปตามสายไฟฟ้า ที่ทำอันตรายต่อผู้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะนั้นได้ ทั้งยัง “ทำลายอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียบปลั๊กไฟค้างไว้เสียหาย” เหตุนี้ไม่ควรใช้โทรศัพท์บ้าน หรือแตะตู้เย็นขณะฝนฟ้าคะนองดีที่สุด
ในพื้นที่ “เสี่ยงฟ้าผ่า” ต้องมีระบบป้องกันโดยใช้หลักการ Conventional System มีส่วนตัวนำสกัดจับฟ้าผ่า เช่น แท่ง Franklin หรือหัวล่อฟ้า ติดไว้ยอดสูงสุดอาคารป้องกันสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่าลัดผ่านลงดิน
แนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าง่ายๆ หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งขณะฝนตกฟ้าคะนอง หากจำเป็นควรนั่งยองย่อตัวต่ำชิดพื้นให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ต้นไม้สูง เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เพราะฟ้าผ่ามักลงที่สูง
ย้ำว่าในสภาพอากาศแปรปรวนเช่นนี้มีผลทำให้ “ฝนฟ้าคะนองเลวร้ายรุนแรง” ได้อยู่เสมอ “อย่าประมาท” เพราะมักกลายเป็น “อันตรายถึงชีวิต” ที่มีเหตุการณ์เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นกันอยู่ทุกปี.
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.