นับถอยหลังย้าย’กระทรวงมหาดไทย’ จาก’คลองหลอด’ไป’คลองสาน’ ปักหมุด’ศูนย์ราชการแห่งใหม่’ติดแม่น้ำเจ้าพระยา – มติชน

หลังใช้เวลาผลักดันมาหลายปี ในที่สุดกระทรวงมหาดไทย ใกล้ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มโครงการ “ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย” จะย้ายจากริมคลองหลอด ติดวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารไปสร้างบนพื้นที่ใหม่ เนื้อที่กว่า 19 ไร่ ย่านคลองสาน ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับที่ทำการแห่งใหม่ ได้ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการ ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563

สถานะล่าสุด ได้รับจัดสรรงบประมาณ ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างและได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บรรยากาศกระทรวงมหาดไทยมองจากด้านแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมท่าเรือรองรับการเดินทาง

ดีเดย์กันยายน 2564

ได้ฤกษ์ตอกเข็ม อีก 4 ปี สร้างเสร็จ

“สมคิด จันทมฤก” รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร เปิดเผยว่า โครงการศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ได้รับอนุมัติรายงาน EIA แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้เซ็นสัญญากับ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้าง

วงเงิน 5,574 ล้านบาทแล้วเช่นกัน

สำหรับการเดินหน้าก่อสร้าง เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมการส่งมอบพื้นที่ แผนการก่อสร้าง การจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างให้เรียบร้อยก่อนอนุมัติให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่และเริ่มนับหนึ่งสัญญา ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

“จะให้เริ่มงานก่อสร้างเร็วที่สุด ก่อนวันที่ 30 กันยายนนี้ ให้ทันเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างไว้แล้ว ส่วนวงเงินที่เหลือจะกันไปใช้ในปีต่อๆ ไป โครงการนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณผูกพันปี 2563-2568 แต่เมื่อปี 2563 ยังเริ่มงานไม่ได้ ทำให้ต้องขยายกรอบระยะเวลาการก่อสร้างเป็นปี 2564-2569”

รูปแบบอาคารกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ จะสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่สูงตั้งแต่ 14-21 ชั้น พร้อมใต้ดิน 3 ชั้น

ผุด‘ท่าเรือโดยสาร’

เพิ่มทางเลือกการเดินทาง ลดปัญหาจราจร

รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันโครงการได้เคลียร์ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อชาวบ้านที่อยู่โดยรอบแล้วตามที่ได้

จัดทำไว้ในรายงาน EIA และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ได้ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด จากก่อนหน้านี้ที่จะมีทำรายงาน EIA ประชาชนมีความกังวลเรื่องเสียงดัง และขนาดของอาคาร

ส่วนปัญหาการจราจร ทางกระทรวงได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว จากข้อกังวลหลังโครงการสร้างเสร็จเปิดใช้ ซึ่งมีข้าราชการย้ายไปอยู่ประมาณ 7,607 คน รวมถึงประชาชนที่มาติดต่องานราชการและศูนย์บริการ อาจจะทำให้เกิดปัญหาการจราจร จากการมีปริมาณรถเพิ่มขึ้น ขณะที่มีทางเข้าออกอยู่ทางเดียวคือถนนเจริญนคร ตามแผนจะเพิ่มทางออกอีกทางคือทางน้ำ โดยจะสร้างท่าเรือโดยสารรองรับการเดินทาง

“หลังจากนี้จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ยังมีเวลาที่จะดำเนินการ กว่าโครงการจะสร้างเสร็จใช้เวลาอีก 4 ปี จริงๆ กระทรวงก็อยากจะให้มีรถไฟฟ้าเหมือนกับสายสีทอง(กรุงธนบุรี-คลองสาน) เหมือนกัน จะทำให้การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น”

ภาพมุมสูงของ 6 อาคารรองรับข้าราชการ 6 กรม ได้แก่ กรมที่ดิน กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานปลัดและสำนักงานรัฐมนตรี

เนรมิตตึกสูง 6 อาคาร 6 โซน

พื้นที่ใช้สอยกว่า 2 แสนตารางเมตร

“รองปลัดสมคิด” อธิบายถึงผังแม่บทศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ จะมีทั้งหมด 6 อาคาร 6 โซน สร้างเป็นอาคารสูง ตั้งแต่ 14-21 ชั้น พร้อมชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ที่จอดรถ และอาคารจอดรถ รวมทั้งสิ้น 220,500 ตารางเมตร

การจัดสรรพื้นที่แบ่งเป็น “โซน A” กรมที่ดิน 1 อาคารสูง 19 ชั้น “โซน B” กรมการปกครอง 1 อาคาร สูง 21 ชั้น “โซน C” กรมการพัฒนาชุมชน 1 อาคาร สูง 15 ชั้น “โซน D” กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 1 อาคารสูง 16 ชั้น “โซน E” กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1 อาคารสูง 16 ชั้น และ “โซน F” สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานรัฐมนตรี 1 อาคารสูง 14 ชั้น และอาคารจอดรถสูง 8 ชั้น 1 อาคาร โดยอาคารที่จะสร้างจะถอยร่นจากแม่น้ำเจ้าพระยา 45 เมตร

ทุกตึกจะมีทางเชื่อมต่อกันบริเวณชั้น 1-5 ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่เปิดโล่งริมน้ำ ด้านทิศเหนือเป็นห้องอาหารและห้องประชุมอเนกประสงค์ ด้านทิศใต้เป็นลานอเนกประสงค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นที่ 1 มีลักษณะเป็นโถงขนาดใหญ่ ชั้น 2-4 เป็นพื้นที่สำนักงาน และห้องประชุม ชั้น 5 เป็นพื้นที่นันทนาการ พื้นที่สีเขียว และตั้งแต่ชั้น 6 ขึ้นไปเป็นพื้นที่สำนักงาน

“ศูนย์ราชการแห่งใหม่ รองรับอัตรากำลังของทั้ง 7 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 7,607 คน และสามารถกำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอยตามกรอบอัตรากำลังในปัจจุบัน ในอนาคตจะนำที่ดินเนื้อที่ 3 งาน อยู่อีกฝั่งของถนนเจริญนคร สร้างอาคารที่พักอาศัยรองรับข้าราชการ”

ตำแหน่งที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ สร้างบนที่ราชพัสดุ ย่านคลองสาน ด้านหน้าติดถนนเจริญนคร ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา และติดกับวัดเศวตฉัตร

ย้อนรอย คัดกี่พื้นที่ กี่ทำเล กว่าจะลงตัวที่‘ย่านคลองสาน’

จาก “แบบแปลน” ที่ยกร่างเป็นพิมพ์เขียว กำลังนำไปสู่การเริ่มต้นการก่อสร้างในเร็วๆ นี้ ซึ่งกว่า “กระทรวงมหาดไทย” จะลงหลักปักฐานที่ตั้งแห่งใหม่ บนที่ราชพัสดุ พื้นที่ 19 ไร่เศษ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีการขอใช้ที่ราชพัสดุอยู่หลายแปลง

ย้อนไปเมื่อปี 2560 มีที่ดินเรือนจำคลองเปรม ที่ดินคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดินตำบลบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินย่านพระราม 9 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ในปี 2561 ทำหนังสือขอใช้ที่ดินสนามกอล์ฟชลประทาน 100 ไร่ ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ในปี 2562 ทำหนังสือถึง “กรมธนารักษ์” ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.1989 แขวงบางลำพู เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่เดิมขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และกรมธนารักษ์อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

และถึงแม้จะได้พื้นที่ก่อสร้างแล้ว ยังคงมีการตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการสร้างเสร็จ

จึงเป็นที่มาการตอบกระทู้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ของ “พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลัง “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กรุงเทพมหานคร

ถามถึงความคืบหน้าแผนการก่อสร้างจะใช้เวลานานแค่ไหน การลดผลกระทบมลภาวะทางอากาศ เสียง การจราจร เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เป็นเมืองเก่า สภาพแออัด หากสร้างแล้วจะเพิ่มปัญหาความแออัดมากขึ้น จะมีนโยบายเปลี่ยนไปสร้างในพื้นที่แห่งใหม่หรือไม่

“เจ้ากระทรวงคลองหลอด” ตอบชัด โครงการใช้เวลาสร้าง 4 ปี ในการดำเนินการ EIA จะครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงผลกระทบการจราจร การออกแบบมีเตรียมแผนบรรเทาไว้แล้ว มีสร้างท่าเรือโดยสารเรือด่วน เรือข้ามฟาก มีรถรับส่งจากรถไฟฟ้าสายสีทอง และอาคารส่วนใหญ่จะใช้ระบบสำเร็จรูป จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากการก่อสร้าง และเนื่องจากโครงการอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา การขนส่งดินออกจากโครงการสามารถขนส่งทางน้ำได้ ช่วยลดปัญหาด้านการจราจรและฝุ่นละอองได้ ส่วนการดำเนินการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการในที่ดินราชพัสดุแปลงอื่นก่อนหน้านี้หลายแห่ง แต่ละที่มีประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ดินย่านมีนบุรี ติดว่ามีโรงเรียนเอกชนและบ้านชาวบ้านกว่า 20 หลังคาเรือนอยู่ในพื้นที่

พร้อมย้ำว่า ที่ดินย่านคลองสาน มีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่ว่างเปล่าอยู่ไม่ไกลจากกระทรวงมหาดไทยมากนัก และมีความสะดวกในการคมนาคม สามารถเข้าถึงโครงการได้ทั้งทางน้ำและทางบก และยังอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง สามารถเดินทางไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ง่าย อาทิ สภาผู้แทนราษฎร กระทรวง และกรมต่างๆ

อนุรักษ์อาคารเก่า พิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้

หนุนท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์

หลังกระทรวงมหาดไทยขยับขยายย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า แล้วพื้นที่เดิมจะพัฒนาอะไร

ต่อประเด็นนี้ “รองปลัดสมคิด” ระบุว่า พื้นที่กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบันตั้งอยู่ถนนอัษฎางค์ อยู่ในพื้นที่รอบกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบกับพื้นที่เดิมมีความแออัด คับแคบ แม้ว่าจะมีบางกรมที่ไปเช่าพื้นที่ในศูนย์ราชการแจังวัฒนะและกระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่นแล้วก็ตาม

สำหรับพื้นที่เดิมมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นพื้นที่อนุรักษ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ โดยจะอนุรักษ์ศาลาว่าการเป็นอาคารเก่าแก่ไว้ อาจจะมีรื้อบางอาคารโดยรอบที่เป็นอาคารสูง เนื่องจากบดบังภูมิทัศน์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เป็นภาพการฟื้นฟูสภาพเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ตามโรดแมปแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันรัฐบาลได้ขยายพื้นที่จาก 3 บริเวณ เป็น 4 บริเวณ

ได้แก่ กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก บริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ครอบคลุมพื้นที่ 3,335.9 ไร่ ตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์

เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีส้มบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และการท่องเที่ยวของประเทศ

แม้วันนี้ “โควิด-19” ยังอยู่ แต่การพัฒนาก็ต้องเดินหน้าต่อ รอวันฟ้าเปิด หลังโควิดคลี่คลาย

ประเสริฐ จารึก