Golf Sponsored

“ตากใบ” ประวัติศาสตร์บาดแผล…ใครกันแน่ต้องรับผิดชอบ?

Golf Sponsored
Golf Sponsored

25 ต.ค.65 ครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ตากใบ…

คนไทยทั่วไปแทบไม่เห็นข่าวใดๆ จากตากใบ แม้หน่วยงานรัฐนำโดยทหาร จะไปจัดกิจกรรมรำลึก 18 ปีตากใบ และถอดบทเรียนเพื่อป้องกันความรุนแรงซ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีก็ตาม มีการเผยแพร่เป็นเพียงข่าวเล็กๆ ของสื่อบางแขนงเท่านั้น

แต่ถัดมาเพียงวันเดียว ตากใบกลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดชี้แจงเหตุการณ์นี้ในลักษณะฟอกขาวว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง แต่โทษว่าเป็นปฏิบัติการของทหาร ให้ไปถาม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ.ในตอนนั้นว่าจะเยียวยาอะไรชาวบ้านได้บ้าง

หนำซ้ำยังโยงเป็นประเด็นการเมืองคล้ายๆ กับว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนการของฝ่ายทหารเพื่อเอาตัวเองลงจากอำนาจ แต่ไม่สำเร็จในปี 2547 (ปีที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ) ทว่ามาสำเร็จในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา (รัฐประหาร 2549)

จริงๆ แล้วเหตุการณ์ตากใบแทบไม่ได้ถูกพูดถึง ถ้าอดีตนายกฯทักษิณไม่หยิบขึ้นมาชี้แจงฟอกขาวให้ตัวเอง แถมโยนระเบิดใส่ ”บิ๊กป้อม” รวมไปถึงคดีค้างเก่าที่ นายชวน หลีกภัย ถูกอดีตนายกฯทักษิณฟ้อง ซึ่งโยงถึงเรื่องกรือเซะ ตากใบด้วย

จนเกิดคำถามว่า “ตากใบ…ใครหลอน?” ใครกันแน่ที่หลอนเรื่องนี้ และต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น ใช่เพียงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติการในวันนั้นหรือไม่?

@@ 3 เหตุการณ์ใหญ่ปี 47

ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกว่า สิ่งที่คุณทักษิณพูดนั้นจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริง แล้วความจริงในมุมอื่นที่ไม่ใช่จากปากอดีตนายกฯทักษิณเป็นอย่างไร เราไปย้อนดูความสำคัญของเหตุการณ์ตากใบกันก่อน ว่าทำไมอดีตนายกฯทักษิณ และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงตกเป็นจำเลยมานานเกือบ 2 ทศวรรษ

ไฟใต้รอบใหม่ หรือรอบปัจจุบัน ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เหตุร้ายที่ใหญ่และสร้างความสูญเสียมากที่สุด ล้วนเกิดขึ้นในยุครัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ ทั้งสิ้น

4 ม.ค.47 – ปล้นปืน 413 กระบอก จากค่ายปิเหล็ง หรือ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นอกจากปืนถูกปล้นแล้ว ยังมีทหารเสียชีวิตคาค่าย

28 เม.ย.47 – เหตุการณ์กรือเซะ มีผู้เสียชีวิต 107 ศพ (ถ้านับรวมเจ้าหน้าที่ด้วย จะเป็น 109 ศพ)

เหตุการณ์กรือเซะคือ เหตุการณ์โจมตีป้อมจุดตรวจ 11 แห่งใน 3 จังหวัดพร้อมกัน (ยะลา ปัตตานี สงขลา) จุดใหญ่ที่จุดคือป้อมกรือเซะ ผู้ที่ก่อเหตุโจมตีโดนตอบโต้ จึงวิ่งเข้าไปซ่อนตัวในมัสยิด และมีการใช้อาวุธสงครามยิงถล่มมัสยิดเก่าแก่ มีผู้เสียชีวิตจุดเดียว 32 ศพ

25 ต.ค.47 – เหตุการณ์ตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ

เป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีการใช้อาวุธ มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมและที่โรงพยาบาล 7 ราย และเสียชีวิตระหว่างเคลื่อนย้ายอีก 78 ศพ โดยวิธีจับถอดเสื้อ นำเสื้อม้ดมือไพล่หลัง จับไปนอนคว่ำหน้าเรียงซ้อนกัน 3-4 ชั้นบนพื้นรถยีเอ็มซี (พื้นเหล็กร้อนๆ เพราะเป็นเวลาบ่ายถึงเย็น) เดินทางเกือบ 200 กิโลเมตรไปค่ายทหาร ช่วงถือศีลอด ขาดน้ำ อากาศ จนเสียชีวิต 78 ศพ

@@ ไม่มี จนท.รัฐถูกดำเนินคดี

ความสำคัญของทั้ง 3 เหตุการณ์

1.ปล้นปืน 4 ม.ค.47 – เป็นเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบมีอาวุธปืนสงครามที่ใช้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร มายาวนานจนถึงปัจจุบัน

ผ่านมา 18 ปี ติดตามคืนมาได้ประมาณไม่ถึงครึ่ง และยังถูกปล้นซ้ำไปอีกหลายครั้ง เวลามีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่

ข้อมูลในวาระ 10 ปีไฟใต้ คือปี 2557 ข้อมูลของตำรวจเอง ระบุว่าปืนถูกปล้นไปรวมๆ ทุกเหตุการณ์ 1,965 กระบอก ติดตามคืนได้ 700 กระบอก

2.เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในคราวเดียวทั้ง 2 เหตุการณ์

3.เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาลและผู้บริหารประเทศในยุคนั้น

4.เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน มองคนไม่เท่ากัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งล้วนแต่ขัดรัฐธรรมนูญที่รับรองเอาไว้

5.เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถคลี่คลายคดี หาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้เลย

-เหตุการณ์กรือเซะ คดีเข้ากระบวนการไต่สวนการตาย (สำนวนชันสูตรพลิกศพ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150) สุดท้ายพนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แทบไม่มีการลงโทษ หรือสอบสวนฝ่ายกองกำลังว่ากระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผลสอบของคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงในตอนนั้น (นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน) สรุปว่า “กระทำการเกินกว่าเหตุ” (ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ ซึ่งน่าจะมีประชาชนทั่วไปอยู่ด้านในด้วย)

-เหตุการณ์ตากใบ คดีเข้ากระบวนการไต่สวนการตาย (สำนวนชันสูตรพลิกศพ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150) สรุปว่าผู้ตาย (78 ศพบนรถยีเอ็มซี) ขาดอากาศหายใจ (เอง) ไม่มีหลักฐานว่ามีผู้ใดทำร้าย หรือทำให้ตาย และสุดท้ายพนักงานสอบสวนทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

ในเรื่องคดี ต้องยอมรับว่าเสียงวิจารณ์จากคดีกรือเซะน้อยกว่าตากใบ เพราะกรือเซะ คนที่เสียชีวิตถูกระบุว่าส่วนใหญ่เข้าไปโจมตีเจ้าหน้าที่ (แม้จะใช้มีด กริช เป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีปืน) แล้วถูกตอบโต้ แต่ก็ยังเป็นการโจมตีและมีเหตุปะทะ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็นเป้าก่อน แต่ตากใบเป็นการตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีอาวุธแล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มีการดำเนินคดีฝั่งประชาชน ในคดีกรือเซะ เอาผิดคนที่รอดชีวิต 1 คน ไปโจมตีโรงพักแม่ลาน จ.ปัตตานี คือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ โดนศาลพิพากษาประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต กระทั่งภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับอิสรภาพเมื่อไม่นานมานี้เอง (แต่คดีฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเลย)

@@ ความผิดพลาดเชิงนโยบาย?

ชนวนของเหตุการณ์ไฟใต้ ก่อนปล้นปืนครั้งใหญ่ในวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งเรียกกันว่า “วันเสียงปืนแตก” มีทฤษฎีที่เชื่อกันว่ามีน้ำหนัก คือ การที่รัฐบาลในขณะนั้นสั่งยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 เมื่อปี 2545 เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ปกติแล้ว (มติ ครม.เมื่อ 30 เม.ย.2545) ทำให้ฝ่ายรัฐไม่มีหน่วยงานพิเศษในพื้นที่ ไม่มีสายข่าว จนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา ซึ่งก็คือเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนและเหตุร้ายรายวัน รวมถึงกรือเซะ ตากใบ

หลังยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 จริงๆ แล้วมีการปล้นปืนเป็นระยะ แต่พุ่งเป้าไปที่ปืนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตามอุทยานแห่งชาติ และหน่วยที่เกี่ยวกับการพัฒนา เพราะการเฝ้าระวังป้องกันน้อยกว่า เช่น

-ปล้นปืน 33 กระบอก จากอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2545

-ปล้นปืนจำนวน 19 กระบอก จากหน่วยทักษิณพัฒนาที่ 5 อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2546

-ปล้นปืนจำนวน 13 กระบอก จากหน่วยทักษิณพัฒนาที่ 12 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2546

นี่คือเป็นสัญญาณที่เกิดก่อนปล้นปืนครั้งใหญ่ 4 ม.ค.2547 แต่ฝ่ายรัฐในขณะนั้นไม่นำมาเป็นสัญญาณเตือนภัยเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน

ทั้งหมดที่ยกมา ไม่ว่าจะเรื่องการตัดสินใจเชิงนโยบาย (ยุบหน่วยงานพิเศษในพื้นที่), การละเลยสัญญาณร้าย, การไม่สามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้น, การทำให้เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ลุกลามบานปลาย กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ฯลฯ

ถามว่าทั้งหมดนี้เป็นความบกพร่อง ผิดพลาดของใคร คนเป็นรัฐบาล หรือเป็นผู้นำประเทศ ไม่ต้องรับผิดชอบเลยหรือ หรือเป็นความผิดของผู้ปฏิบัติแต่เพียงฝ่ายเดียว

@@ ความจริงต่างมุมที่ตากใบ…ใครผิด?

บทสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ ที่ให้ไว้กับ เดอะ รีพอร์ตเตอร์ ในคลับเฮาส์ของกลุ่มแคร์ สามารถนำมาแยกแยะเป็นประเด็นๆ เป็นความจริงจากฝั่งอดีตนายกฯทักษิณ ได้ 15 ประเด็น

/// 15 ความจริงฝั่งอดีตนายกฯทักษิณ ///

1.ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับครอบครัวผู้สูญเสีย และข้อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน

2.ขณะเกิดเหตุ ตีกอล์ฟอยู่ที่ย่านบางนา

3.มีประชาชนล้อมสถานีตำรวจ ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่เอาปืนไปให้กลุ่มก่อความไม่สงบ

4.ตำรวจติดต่อมาถามว่าจะทำอย่างไร ตอบว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ตำรวจต้องดำเนินคดี จากนั้นตีกอล์ฟต่อ

5.มารู้อีกทีก็หลังเหตุการณ์เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมและมีผู้เสียชีวิต

6.ยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการ

7.เหตุการณ์ถูกตัดตอนหลังการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เท่านั้น ทั้งๆ ที่ตอนสลายใช้น้ำฉีด มีปะทะกัน มีผู้เสียชีวิต 6 คน

8.หลังสลายการชุมนุมและมีการจับกุม ไม่รู้เลยว่าจับอย่างไร ไม่มีใครรายงาน รู้ตอนมีการตายเกิดขึ้น

9.ถามเจ้าหน้าที่ ทำไมตายเยอะ จึงรู้ว่ามีการลำเลียงผู้ต้องหาซึ่งอ่อนล้าจากการถือศีลอด + เอาคนไปซ้อนกัน “มนุษย์ทั่วไปไม่น่าคิดได้”

10.เสียใจที่ทำอะไรซื่อบื้อ เกลียดคนโง่ จึงด่าไป และถูกเกลียดจากคนมุสลิม

11.หลังออกจากประเทศไทย เจอสันติบาลมาเลเซียที่เยอรมนี ได้ข้อมูลใหม่ว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ทหารวางแผน “เพราะไม่เอาผม”

12.การนำคนไปเรียงซ้อนกันเป็นการ “สั่งการโดยทหาร” ย้ำว่าตนไม่ได้สั่งการ

13.ความผิดพลาดคือการลำเลียงผู้ต้องหาไปในค่ายทหาร ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของนายกฯ

14.โต้แถลงการณ์บีอาร์เอ็นที่ประณาม บอกว่าพูดเอาหล่อ เคยไปเจอหลายคนที่มาเลเซีย

15.ให้ไปถาม “บิ๊กป้อม” จะชดเชยอย่างไร ในฐานะเป็นอดีต ผบ.ทบ.ตอนนั้น “วันที่มันเสียหาย มันอยู่ในมือทหาร”“ทหารเขาวางแผนจะล้มผมตั้งแต่วันนั้นแล้ว”

แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้มีด้านเดียว ยังมีความจริงในมุมอื่นจากทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ และจากผลการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะในส่วนของวุฒิสภาในขณะนั้น ซึ่งเป็นวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

“ทีมข่าว” ได้นำข้อเท็จจริงต่างมุมจากแหล่งต่างๆ มาเปรียบเทียบทีละประเด็นจาก 15 ประเด็นที่เป็นความจริงฝั่งอดีตนายกฯทักษิณ หากประเด็นไหนไม่มีความต่าง ก็จะทำเครื่องหมาย – เอาไว้

/// 15 ความจริงจากทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ + ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการ ///

ข้อ 1 –

ข้อ 2 ข้อมูลจากทหารที่อยู่ในพื้นที่ ระบุว่า วันเกิดเหตุ อดีตนายกฯทักษิณไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้ ลงเครื่องที่หาดใหญ่ จ.สงขลา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นไปรับ (พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี – ยศสุดท้าย พลเอก)

ขณะที่ตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวน มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการในภาคใต้แล้วเดินทางกลับในวันเดียวกันเช่นกัน

ข้อ 3 มีประชาชนไปล้อมสถานีตำรวจจริง (สภ.ตากใบ – อยู่ริมแม่น้ำ) และมีการปลุกระดม ปล่อยข่าวลือ จนมีคนมาร่วมชุมนุมหลายพันคน รัฐคุมสถานการณ์ไม่ได้

ข้อ 4 ถึงข้อ 8

-เมื่อสถานการณ์การชุมนุมลุกลามบานปลาย จึงมีการใช้กำลังทหาร

-นายทหารระดับสูงที่คุมปฏิบัติการมี 2 นาย คือ พล.ท.พิศาล แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น (ตท.9 สนิทกับอดีตนายกฯทักษิณ เป็นคนตั้งแม่ทัพคนนี้เอง และปัจจุบันก็ยังมีความผูกกันใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย) กับ พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬเพชร ผบ.พล.ร.5 (ตท.10 รุ่นเดียวกับอดีตนายกฯทักษิณ สนิทสนมกัน) ทั้งคู่ถูกย้ายหลังเหตุการณ์ตากใบ

-รูปแบบการทำงานในขณะนั้น ส่วนใหญ่แม่ทัพภาคที่ 4 จะรายงานตรงไปที่นายกฯ โดยไม่ผ่านหน่วยงานพิเศษในพื้นที่ เพราะถุกยุบไปหมดแล้ว

-มีการตั้งโครงการองค์กรพิเศษระดับชาติหลังเหตุการณ์ปล้นปืน คือ กอ.สสส.จชต. (กอ. 3ส.) หรือ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีอำนาจ และแม่ทัพรายงานตรงนายกฯ

-ผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ระบุว่า มีการแถลงผ่านโทรทัศน์หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ อ้างว่าผู้ชุมนุมพูดภาษาไทยไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

-เหตุปะทะมีการใช้ปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ มีภาพเล็งปืนในระดับขนานกับพื้น (ภาพของเครือเนชั่น)

ข้อ 9 อดีตนายกฯมาทราบทีหลัง เรื่องเดือนรอมฎอน ถือศีลอด

ข้อ 10 มีการตำหนิเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรงจริง

ข้อ 11 และ 14 หลังถูกยึดอำนาจ อดีตนายกฯทักษิณเดินทางออกนอกประเทศ และเคยไปมาเลเซีย

-18 มี.ค.2555 อดีตนายกฯทักษิณไปมาเลย์ เปิดวงพูดคุยกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน (ให้ทางผู้นำมาเลย์จัดการให้) มีการนำเสนอผ่านสื่อมาเลย์บางแขนง

-หวังลบล้างความผิดพลาดในอดีต และช่วยรัฐบาลของน้องสาว (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในการแก้ปัญหาภาคใต้

-มีการปฏิบัติและคำพูดที่ถูกมองว่า ไม่ให้เกียรติแกนนำบางคน ทำให้เกิดความไม่พอใจ การเจรจาจึงล้มเหลว (ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู พูดที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย – ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

-สันนิษฐานว่าผลจากการเจรจาที่ล้มเหลวนั้น นำมาสู่การก่อเหตุรุนแรงตอบโต้ เหตุการณ์ใหญ่ คือ คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ หาดใหญ่ และกลางเมืองยะลา เมื่อ 31 มี.ค.2555 (เลขกลับของ 13 มี.ค. วันสถาปนาบีอาร์เอ็น)

ข้อ 12, 13 และ 15 ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้

@@ กองทัพใหญ่กว่านายกฯ ??

มีข้อสังเกตจากคำชี้แจงและคำสัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ อีกหลายประเด็น (แยกประเด็นตามคำชี้แจง)

ข้อ 1 การสัมภาษณ์ครั้งนี้ เตรียมการมาตอบหรือไม่ เพราะการตอบคำถามเรื่องเดียวกัน ในช่องทางคลับเฮาส์เช่นเดียวกัน เมื่อ 23 ก.พ.64 เจอถามในคลับเฮาส์ครั้งแรก ทั้งเรื่องกรือเซะ ตากใบ อดีตนายกฯทักษิณ ตอบว่า จำไม่ค่อยได้ จนโดนโจมตี (ทัวร์ลง) อย่างหนัก

ข้อ 3 นโยบายเอาผิดกับคนที่ถูกปล้นปืน จนกลายเป็นต้นเหตุของการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว แล้วบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมตากใบ เป็นเพราะนโยบายในตอนนั้นกำหนดกฎเหล็กว่า เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกองกำลังประชาชนคนใด หากถูกปล้นชิงปืน ให้ถือเสมือนเป็นความบกพร่อง เป็นการนำปืนไปให้โจร

เกิดคำถามว่านโยบายลักษณะนี้ถูกต้องหรือไม่ ฝ่ายนโยบายต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ (และเป็นต้นตอการชุมนุม)

ข้อ 12 กับ 13 จริงหรือที่ปฏิบัติการสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม เป็นเรื่องเหนือความรับผิดชอบของนายกฯ แสดงว่ากองทัพหรือทหารใหญ่กว่านายกฯ ?

15.จริงๆ ทั้งเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ รัฐบาลในอดีตได้เยียวยาไปหมดแล้ว (ในรัฐบาลน้องสาวของอดีตนายกฯทักษิณเอง โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.)

-เหตุการณ์กรือเซะ เยียวยา 302 ล้านบาท (เฉพาะผู้เสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะ คนละ 4 ล้าน เยาวชนทีมฟุตบอลสะบ้าย้อย 19 ศพ ศพละ 7.5 ล้าน ที่เหลือศพละ 5 แสน)

-เหตุการณ์ตากใบ เยียวยาทั้งหมด 641 ล้านบาท (ผู้เสียชีวิต 85 ศพ ศพ 7.5 ล้าน + ทุพพลภาพ 7.5 ล้าน) พิการ 4.5 ล้าน และที่เหลือลดหลั่นกันลงมา รวมแล้ว 987 ราย

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ โทษใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะทุกคนทุกฝ่าย ทุกหน่วย ล้วนมีส่วนผิด คำถามคือ การออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ จิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ หรือคนที่เคยถูกจับจะเป็นอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือ ผลสะเทือนจากเหตุการณ์ตากใบ ทำให้เกิดนักรบรุ่นใหม่ที่ก่อเหตุสร้างความสูญเสียอีกมากมายหลายเหตุการณ์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไฟใต้ยืดเยื้อ ไม่ยอมจบเสียที!

Golf Sponsored
กอล์ฟ

กอล์ฟ (อังกฤษ: Golf) คือกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า "กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมโดยการสโตรคหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ" กอล์ฟเป็นหนึ่งในกีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นที่แน่นอน (สนามกอล์ฟแต่ละแห่งสามารถมีรูปร่างและขนาดต่างกัน)

This website uses cookies.