ชัชชาติ แจง สวนป่าเบญจกิติ ไม่ใช่สนามกอล์ฟ จะให้เขียวตลอดเวลาไม่ได้

สยามรัฐออนไลน์ 10 มกราคม 2566 16:01 น. กทม.

วันที่ 10 ม.ค.66 ที่สำนักระบายน้ำ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความแห้งแล้งทรุดโทรมของสวนป่าเบญจกิติ ว่า จากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ พบว่า สวนป่าเบญจกิติเป็นสวนที่มีความหลากหลายตามธรรมชาติ ตามสภาพความเป็นจริง ดังนั้น จุดที่มีหญ้าแห้งตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่าเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับป่าไม้บนภูเขาทั่วไป ยามฤดูแล้งมักพบหญ้าแห้ง และจะกลับมาเขียวขจีอีกครั้งในฤดูฝน เพราะเป็นการออกแบบให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ซึ่งมีความหลากหลายในตัวเอง ส่วนเรื่องน้ำเสียส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากน้ำในสวนป่าเบญจกิติมาจากน้ำในคลองไผ่สิงโต ซึ่งมีคุณภาพไม่ดี จึงได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องคุณภาพน้ำในคลองไผ่สิงโตให้ดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลถึงคุณภาพน้ำในสวนป่าเบญจกิติทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่มีการติชมเข้ามา เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า สวนป่าไม่เหมือนสนามกอล์ฟที่จะต้องเขียวตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เรื่องคุณภาพน้ำอาจต้องมีการแก้ไขต่อไป

นางสาวปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โดยภาพรวม สวนเบญจกิติมีพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สวนน้ำ 130 ไร่ พื้นที่สวนป่า 320 ไร่ โดยพื้นที่สวนป่าแบ่งเป็นสวนป่าระยะที่ 1 จำนวน 61 ไร่ และสวนป่าระยะที่ 2 และ 3 จำนวน 259 ไร่ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นวิจารณ์อยู่ขณะนี้ เนื่องจากสวนป่าระยะที่ 2 และ 3 มีบ่อน้ำจำนวน 4 บ่อ ซึ่งออกแบบขุดดินให้เป็นเกาะแก่งเล็กๆ เพื่อการเก็บน้ำในฤดูฝนตามแบบฟองน้ำเพื่อสามารถดูดซับน้ำได้ ส่วนในฤดูแล้งน้ำในบ่อต่างๆ จะถูกนำมาใช้งานในสวนเพื่อบำรุงต้นไม้ พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึง พืชต่างๆ ที่นำมาปลูกถูกคัดเลือกและออกแบบตามลักษณะสวนป่าซึ่งให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ เพื่อให้สวนสามารถดูแลตัวเองได้ โดยมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องน้อยที่สุด จุดประสงค์เพื่อสะท้อนความเป็นป่าธรรมชาติกลางเมืองให้ประชาชนได้สัมผัส ดังนั้น ทั้ง 4 บ่อที่เป็นประเด็น จะพบเกาะแก่งเล็กๆ อย่างที่เห็น ซึ่งคนอาจมองว่ามีต้นหญ้าแห้ง หรือดูทรุดโทรมลงผิดตา ซึ่งขอย้ำว่าเป็นเรื่องตามธรรมชาติ เนื่องจากเป็นฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง ดังนั้น ต้นไม้ในสวนจึงเหลือน้ำอยู่ในบ่อเท่านั้น และหญ้าที่แห้งดังกล่าวคือหญ้ารูซี่ ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งไม่ต้องการการตัดแต่งเหมือนหญ้านวลน้อยในสนามหญ้าทั่วไป เมื่อถึงฤดูแล้งจึงแห้งไปตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันส่วนที่ยังพอมีน้ำอยู่ก็ยังไม่เหี่ยวแห้งลงไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ เมื่อฤดูเปลี่ยนไปต้นไม้ในสวนก็จะเปลี่ยนสภาพไปตามนิสัยและธรรมชาติของต้นไม้

ส่วนเรื่องน้ำเสีย สวนเบญจกิติเริ่มรับน้ำมาจากคลองไผ่สิงโต โดยเปิดเข้ามาทางด้านสวนสุนัขของสวนเบญจกิติ ไหลผ่านระบบบำบัดน้ำตามธรรมชาติ ไม่ได้กรองโดยสิ่งประดิษฐ์หรือสารเคมี สิ่งสำคัญคือการใช้พืชน้ำในการบำบัดพร้อมใช้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคตลอดการไหลเข้ามาจนถึงบ่อที่ 1 ซึ่งมีพืชบำบัดน้ำหลายชนิด ก่อนไหลลงบ่อที่ 2, 3 และ 4 ต่อไป ดังนั้น น้ำในคลองไผ่สิงโตมีคุณภาพตามฤดูกาล ประกอบกับไม่มีฝนเติมลงมา จึงอาจมีกลิ่นเป็นธรรมดาวิธีแก้ไขคือ จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความเข้มข้นของบ่อบำบัดน้ำตามธรรมชาติต่างๆ หากพบความเข้มข้นมากจะสูบน้ำในบึงเพื่อมาเจือจางต่อไป