เผยแพร่: ปรับปรุง:
สนามฝึกซ้อมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้แห่งใหม่ที่ ‘ซีเกรฟ’ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเลสเตอร์เชียร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2562 (ค.ศ.2019) เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของสนามกอล์ฟพาร์ค ฮิลล์
‘ซีเกรฟ’ นับเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของสโมสรฯ และครอบครัวศรีวัฒนประภา ตั้งแต่เข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2533 (ค.ศ.2010) โดยนับได้ว่าเป็นสนามฝึกซ้อมระดับเวิลด์คลาส และศูนย์กีฬาที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกบนพื้นที่กว่า 180 เอเคอร์ หรือ 455 ไร่ ด้วยเงินลงทุนมูลค่ากว่า 100 ล้านปอนด์ หรือกว่า 4,100 ล้านบาท ทั้งนี้ สโมสรฯ ได้ย้ายไปสนามฝึกซ้อมแห่งใหม่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2563 (ค.ศ.2020) เป็นต้นมา
“ณ ตอนนี้ต้องถือว่า ซีเกรฟเป็นสนามซ้อมที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป พร้อมที่สุด สำคัญคือ การมีสนามซ้อมที่ดีทำให้เราค่อนข้างได้ประโยชน์ตรงที่เราได้เยาวชนจากทั่วอังกฤษ และทั่วยุโรปแสดงความสนใจที่จะมาอยู่ นั่นก็เป็นแนวทางที่เราคิดว่าการลงทุนแบบนี้เป็นเรื่องระยะยาว ก็อยากให้นักกีฬาทั่วอังกฤษ และยุโรปเข้ามาอยู่ในอะคาเดมีของเรา คงไม่ต้องไปซื้อตัวเป็นร้อย ๆ ล้านปอนด์เหมือนทีมอื่น ซื้อตัวน้อย ๆ แต่ว่าปั้นเด็กดีกว่า” คุณต๊อบ อัยยวัฒน์ ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ เปิดเผยกับทีมข่าว MGR Online
“สำหรับสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เราเตรียมไว้ เราเตรียมไว้ตั้งแต่นักเตะระดับ 9 ปี 12 ปี 15 ปี 18 ปี 21 ปี 23 ปี จนถึงทีมชุดใหญ่ (First Team) ซึ่งถ้ามองจากด้านบน โครงสร้างตึกนั้นถูกกออกแบบมาให้เป็นรูปตัวจิ้งจอก ซึ่งก็จะไล่จากฝั่งเยาวชน ขึ้นมาจนถึงทีมชุดใหญ่ การออกแบบอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ถ้าคุณอยู่ฝั่งเยาวชน คุณจะเข้ามาใช้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ของฝั่งทีมชุดใหญ่ไม่ได้ เพื่อที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กหรือเยาวชนค่อย ๆ เห็นพัฒนาการของตัวเอง ซึ่งถ้าอยากจะสำเร็จในชีวิตในการค้าแข้ง ก็จะต้องมาอยู่ฝั่งทีมชุดใหญ่ให้ได้
“ห้องแต่งตัวแต่ละห้องไล่ขึ้นมาไม่เหมือนกันเลย การออกแบบ ตั้งแต่ห้องแย่สุดก็เหมือนโรงเรียนในไทย คือ แย่สุด ตอนเด็กสุด พอผ่านการพัฒนา ได้ทุนต่อก็ขึ้นเป็น ยู-12 ห้องก็จะเปลี่ยนไป ดีขึ้น นักเตะก็จะเห็นและสัมผัสได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อคุณเข้าใกล้ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็เหมือนอาชีพที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามห้องอาหารของเรายังคงความเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ ก็คือ ทุกคนมากินข้าวรวมกัน เหมือนที่ซ้อมเก่า แต่ใหญ่ขึ้น และทุกคนเดินมาเจอกันได้ ทีมชุดใหญ่ ชุดเล็ก ทีมอะคาเดมี แต่เวลาซ้อมก็จะเป็นของใครของมัน โดยทีมชุดใหญ่ก็จะมีสนามซ้อมเฉพาะของตัวเอง แล้วที่ล้อมรอบสนามซ้อมเอาไว้ก็คือ สนามกอล์ฟขนาด 9 หลุม เพื่อกันไม่ให้คนมาแอบดู (หัวเราะ) เพราะเดี๋ยวทีมซ้อมแล้วคนอื่นรู้หมดว่าซ้อมอะไรกัน”
นอกจากนี้ โทนี คาวาเนอร์ (Tony Kavanagh) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการสนามซ้อม สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเราว่า สำหรับการบ่มเพาะนักเตะทีมเยาวชนนั้น สนามซ้อมแห่งนี้สามารถรับจำนวนนักเตะได้มากถึง 200 คน โดยบางคนนั้นที่พักอยู่ในแถบเลสเตอร์ก็สามารถเดินทางไป-กลับเองได้ แต่บางคนที่มาจากภาคพื้นยุโรปก็มีการจัดสรรที่พักให้อย่างครบครัน
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่นักเตะเยาวชนจากอะคาเดมีที่จะสามารถก้าวขึ้นมาติดทีมชุดใหญ่ได้เหมือน ฮาร์วีย์ บาร์นส์ หรือ เคียร์แนน ดรูว์สเบอร์รี่ ฮอลล์ 2 กองกลางชาวอังกฤษ นั้นมีโอกาสน้อยนิดมาก เรียกได้ว่าเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ทั้งนี้ ความเพียบพร้อมของ สนามฝึกซ้อมซีเกรฟแห่งนี้ ประกอบไปด้วย
1.อาคาร วิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นศูนย์กลางหลักของศูนย์ฝึกซ้อม ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับอดีตประธานสโมสรฯ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของสโมสรฯ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญของคุณวิชัย ที่มีต่อสโมสร ซึ่งปัจจุบันได้รับ การสานต่อโดยคุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ภายในอาคารมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับทีมฟุตบอลชาย สำนักงาน ที่พัก ห้องอาหาร และห้องสันทนาการของทีมชุดใหญ่ มีระเบียงที่มองเห็นวิวที่สวยงามของสนามฝึกซ้อมของทีมชุดใหญ่
2.คิง เพาเวอร์ เซ็นเตอร์ ศูนย์ที่มีสถาปัตยกรรมรูปโดมที่โดดเด่นตัดกับภูมิทัศน์ที่สวยงาม พร้อมสนามหญ้าเทียมในอาคาร รวมถึงศูนย์อำนวยการสื่อมวลชน ห้องแถลงข่าว ห้องถ่ายทอดสด และพื้นที่สันทนาการ
3.สนามแข่ง 1 สนาม แข่งขันย่อยที่จุผู้ชมได้ถึง 499 ที่นั่ง ใช้สำหรับการแข่งขัน เอฟเอ ยูธ คัพ และพรีเมียร์ลีก 2
4.สนามฝึกซ้อม 21 สนาม แบ่งเป็นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 14 สนาม
5. สนามกอล์ฟส่วนตัว แบบ 9 หลุม
6. ระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย
7. ศูนย์ฟิตเนสและระบบวารีบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย (Hydrotherapy)
8. สปอร์ต เทิร์ฟ อะคาเดมี่ (Sports Turf Academy: STA) ศูนย์วิจัย และศูนย์การเรียนรู้ เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมการจัดการสนามหญ้าสำหรับการแข่งขัน สำหรับทีมงานมืออาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่สนามกีฬาจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันดูแล โดย จอห์น เลดวิดจ์ (John Ledwidge) หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ และอบรมการสร้าง และดูแลสนามหญ้าเพื่อการแข่งขันกีฬา สโมสรเลสเตอร์ซิตี้ โดยน้อยคนนักที่จะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากปัจุบันค่าใช้จ่ายเรื่องหญ้าที่แข่งขันจริงสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียมนั้นมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านปอนด์ (หรือกว่า 120 ล้านบาท) ไม่นับรวมถึงหญ้าที่ใช้ในสนามฝึกซ้อมต่าง ๆ อีก 21 สนาม
“คุณพ่อมีความรัก และความเชื่อมั่นในชาวเมืองเลสเตอร์ ท่านทุ่มเททั้งหัวใจให้กับเมืองเลสเตอร์เพราะท่านเห็นถึงความเข้มแข็งของเมืองนี้ ที่ทุกคนพร้อมจะก้าวไปด้วยกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ผมภูมิใจ นั่นคือสิ่งที่ผมยังคงก้าวไปพร้อมกับทุกคน เพื่อช่วยกันเติมเต็มวิสัยทัศน์เหล่านั้นในนามของคุณพ่อ” คุณต๊อบ อัยยวัฒน์ เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ในวาระที่เมืองเลสเตอร์ ได้มอบรางวัลบุคคลยอดเยี่ยมแห่งเมืองเลสเตอร์ หรือ City of Leicester Award ให้กับคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา อดีตประธานสโมสรผู้ล่วงลับ และคุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรคนปัจจุบัน ที่ได้อุทิศตนเพื่อเมืองเลสเตอร์
Seagrave อะคาเดมี ฟุตบอลระดับโลกที่เลสเตอร์ ซิตี้ จากหัวใจ และวิสัยทัศน์ของ คุณวิชัย-คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความเชื่อมั่น และความทุ่มเทของคนไทยคนหนึ่งที่มีให้กับฟุตบอล ซึ่งผลิดอกออกผลออกมาเป็นความงดงาม และผลงานที่ทุกคนทั่วโลกต้องยอมรับ