ทางการไทยยอมรับให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศสามารถกักตัวบนเรือยอชต์ได้ในเวลาที่กำหนด 2 สัปดาห์ ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอลดการกักตัวผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเหลือ 7-10 วัน
รัฐบาลหวังว่าการให้กักตัวบนเรือยอชต์ได้จะสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวทางเรือยอชต์เพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านบาท และจะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ ลดลงจาก 40,000-50,000 คนต่อวัน เหลือเพียงไม่กี่ร้อยคน
นอกจากโครงการนี้ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ไทยเพิ่งประกาศโครงการให้นักท่องเที่ยวใช้ช่วงเวลากักตัวที่สนามกอล์ฟได้
โครงการกักตัวบนเรือยอชต์ซึ่งมีการประกาศเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) จะอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางเยือนประเทศไทยที่มีผลการตรวจโควิดเป็นลบ สามารถใช้เวลากักตัวบนเรือยอชต์ หรือเรือสำราญขนาดเล็กในภูเก็ตได้
ช่วงทดลอง
โครงการนี้เริ่มรับผู้ให้บริการเรือยอชต์สำหรับทดลองให้บริการแล้ว และคาดว่าเมื่อเริ่มโครงการจริงจะมีเรือยอชต์ราว 100 ลำ เข้าร่วมโครงการ
ผู้ที่เดินทางจำเป็นต้องสวมสายรัดข้อมืออัจฉริยะที่ใช้ในการจับสัญญาณชีพ รวมถึงอุณหภูมิและความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีจีพีเอสติดตามตำแหน่งของผู้สวมใส่อุปกรณ์ด้วย รัฐบาลไทยระบุว่า อุปกรณ์นี้สามารถส่งข้อมูลได้แม้แต่อยู่กลางทะเล ภายในรัศมี 10 กม.
หลังจากไทยกำหนดห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังค่อย ๆ เปิดพรมแดนตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของไทย ระบุว่าจะเสนอแผนให้ชาวต่างชาติเข้ารับการกักตัวตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รวมถึงรีสอร์ตริมทะเล
แผนการการกักตัวในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งรวมถึง ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ ยอดนิยมนี้ คาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือน เม.ย. หรือ พ.ค.
เสนอลดเวลากักตัวเหลือ 7-10 วัน
ด้านสื่อไทยหลายสำนักรายงานผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มี.ค. โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 3 ประเด็น รวมถึงเรื่องการลดวันกักตัวเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่
1.ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วน อย่างน้อย 14 วัน และไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทางถึงไทย และมีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงต้องกักตัว 14 วัน ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์
2.ผู้มีสัญชาติไทยมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบถ้วน อย่างน้อย 14 วัน และไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทางถึงไทย แต่ไม่มีเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
3.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน มีเพียงเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กักตัวเหลือ 10 วัน
โดยทั้งสามกรณีให้เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้
ส่วนอีก 2 เรื่องที่ที่ประชุมเห็นชอบคือ การออกใบรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการขอวัคซีนพาสปอร์ต หรือ “สมุดเล่มเหลือง” ได้ที่สถานพยาบาล และการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมาซึ่งมีความกังวลว่า จะทำให้มีคนข้ามชายแดนเข้ามาในไทยมากขึ้น จึงได้มีการเน้นย้ำเรื่องให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมรับมือ และให้หน่วยงานความมั่นคงเพิ่มความเข้มงวดบริเวณพรมแดน โดยไทยรัฐรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบให้มีการจัดสถานกักกันตามชายแดนไว้รองรับเป็นการเฉพาะ
หลังจากนี้จะมีการนำเสนอ 3 เรื่องนี้ต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อเห็นชอบต่อไป