ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินขาเข้า กทม. จะได้เห็นวิวที่เปลี่ยนไปในช่วงการนำเครื่องลงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง
สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางบ่อยครั้ง ช่วง 3 นาที ก่อนที่ล้อเครื่องบินจะแตะพื้น จะคุ้นเคยกับภาพของถนนวิภาวดีรังสิต ทอดยาวเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับผู้โดยสารที่เพิ่งเดินทางด้วยเครื่องบินครั้งแรก หรือนานๆครั้ง อาจจะไม่ทันสังเกตว่า วิวทิวทัศน์ของ กทม. ในช่วงนี้ ช่างดูแปลกตาเสียจริงๆ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ กัปตัน ธิติวัฒน์ พจนานนท์ นักบินจากสายการบินแห่งหนึ่ง กัปตัน ธิติวัฒน์ อธิบายถึงการเปลี่ยนรันเวย์ลงจอดของเครื่องบินที่บินเข้าดอนเมืองในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานี้ ให้เข้าใจง่ายๆว่า
เดิมทีการสร้างสนามบินนั้น จะต้องดูทิศทางลมเป็นสำคัญ ในปีๆหนึ่ง หากลมที่พัดมาอยู่ในทิศทางเดิมทั้งปี ก็เป็น 1 ในปัจจัยหลักในการสร้างสนามบินได้ “สนามบินดอนเมือง” ก็เช่นกัน ที่ตลอดปีมีลมที่พัดมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ กทม.
ถ้าเอาเข็มทิศมาตั้ง ตัวเลข 360 องศาคือทิศเหนือ ทิศทางลมที่พัดโดยปกติของ กทม. อยู่ในองศาที่ 210 ซึ่งตรงกับทิศตะวันตกเฉียงใต้
รันเวย์ของสนามบินดอนเมือง จึงสร้างโดยหันทิศทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ กทม. ทั้ง 2 รันเวย์ และตั้งชื่อสำหรับการบินว่า
“21L” คือรันเวย์ทางซ้ายมือของสนามบินดอนเมือง เมื่อหันหน้าเข้าใจกลางเมือง กทม.
“21R” คือรันเวย์ทางขวามือของสนามบินดอนเมือง
โดยทั้ง 2 เส้นทางจะมีสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือ สนามงู อยู่ตรงกลางเป็นแนวกั้น
ในสถานการณ์ปกติ เครื่องบินจะ Take-off ขึ้นไปเส้นทางเดียวกับ ถ.วิภาวดีรังสิต มุ่งหน้าสู่ใจกลางเมือง กทม. และจะ Landing ด้วยเส้นทางจาก อยุธยา – ปทุมธานี – รังสิต – สนามบินดอนเมือง
แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพัดผ่านลงมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลด้วย คืออุณหภูมิที่ลดลง และ ทิศทาง-ความเร็วลมที่เปลี่ยนไป
อนึ่ง หลักการการบินของเครื่องบิน หากจะให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ให้นึกภาพว่า เครื่องบินจะพยายามพุ่งตัวไปข้างหน้าเสมอ และ ให้มีพัดลมตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลังเครื่องบิน หันหน้าเข้าหาเครื่องบินทั้ง 2 เครื่อง
ถ้าเปิดพัดลมเครื่องหน้าเบอร์ที่แรงที่สุดใส่ด้านหน้าเครื่องบิน
และปิดพัดลมเครื่องหลังไว้
เครื่องบินจะปลิวไปด้านหลังทันที
แต่ถ้าเปิดพัดลมเครื่องหน้าเบอร์ที่เบาที่สุด
และเปิดพัดลมเครื่องหลังแรงที่สุด
เครื่องบินก็เสี่ยงที่จะถูกดันไปด้านหน้าจนชนเข้ากับพัดลมได้ เป็นเพราะกำลังลมจากด้านหลังที่มีมากกว่า
ดังนั้น ปัจจัยอันดับต้นที่ต้องพิจารณาคือ ลมที่ดันด้านหลัง หรือ “ลมที่พัดส่งเข้าทางหางเครื่อง (Tail wind)” นั่นเอง
ตามมาตรฐานที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินกำหนดไว้ในการทำการบินที่ปลอดภัยสูงสุด คือลมที่พัดส่งเข้าทางหางเครื่อง (Tail wind) จะต้องมีความเร็วไม่เกิน 10 น๊อต ในขณะการนำเครื่องขึ้นหรือลงจอด แต่หากมีความเร็วที่มากกว่านั้น จะต้องทำการลงจอดในอีกทิศทางหนึ่งแทน
จาก 21L จะถูกเรียกชื่อใหม่เป็น 03R
และ 21R จะถูกเรียกชื่อเป็น 03L
และเส้นทางการนำเครื่องลงจอดทั้งหมด จะยังใช้รันเวย์เดิม แต่สวนทางกับเส้นทางปกติในทันที
เครื่องบินจะต้องไปตั้งต้นจากบริเวณพุทธมณฑล บินอ้อมเป็นตัว U หักเข้ามาที่บริเวณ พระประแดง และค่อยๆบินผ่านใจกลางเมือง กทม. เพื่อลงจอดที่สนามบินดอนเมือง
ในมุมของการทำการบิน ถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน การบินผ่านเมืองใหญ่ ที่มีตึกสูงเป็นจำนวนมาก รวมถึงเขตพื้นที่สำคัญต่างๆใจกลางเมือง เป็นภารกิจที่ต้องใช้สมาธิสูงอีกภารกิจหนึ่ง และการสื่อสารให้ผู้โดยสารทั้งลำเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
ส่วนในมุมของผู้โดยสารเอง ก็คาดหวังว่าผู้โดยสารจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ของใจกลางกรุงเทพอีกมุมหนึ่ง เป็นประสบการณ์ใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง ได้เห็นสถานที่สำคัญๆต่างๆ ถ้าในช่วงนี้ที่น่าประทับใจก็คือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มีการทำสวนกลางน้ำเป็นรูปสัญลักษณ์เอเปค 2022 ที่ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ
แต่การบินลงจอดโดยผ่านใจกลางเมืองในช่วง 1-2 วันนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติใดๆ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ในปีนี้ (2565) ก็ลงจอดแบบนี้มาแล้วบ้าง แต่ไม่ได้บ่อยและถี่เหมือนช่วง 1-2 วันมานี้
เหตุปัจจัย ต้องขึ้นอยู่กับอิทธิพลของฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงไทย ถ้ามานานก็อาจจะต้องบินสวนทางนาน แต่ถ้ามาสั้นๆ ก็ยิ่งเป็นโอกาสพิเศษให้ผู้โดยสารที่จะได้เห็นวิวของ กทม. ในแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยๆนั่นเอง
ในขณะที่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด แจ้งปรับทิศทางการวิ่งขึ้นและร่อนลงของอากาศยาน จากกระแสลมเปลี่ยนทิศทางในช่วง ฤดูหนาว คนกรุงเทพฯ อาจเห็นเครื่องบินผ่านใจกลางเมือง
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.