โตโยต้า-เทสลา: จากรักสู่แค้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   



การผลัดเปลี่ยนผู้นำสูงสุดของ “โตโยต้า มอเตอร์” สะท้อนความพ่ายแพ้ของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ในศึกรถยนต์ไฟฟ้า โตโยต้ากับเทสลา เคยร่วมมือกันมาก่อน แต่สุดท้ายกลับต้องตัดสัมพันธ์กัน และทำให้นายใหญ่โตโยต้าเจ็บฝังใจจนกลายเป็นอคติกับรถยนต์ไฟฟ้า

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2553 โทโยดะ อากิโอะ นายใหญ่ของโตโยต้า มอเตอร์ ได้พบกับอีลอน มัสก์ ซึ่งขณะนั้นกำลังหาหนทางที่จะผลิตรถเทสลาให้ได้ในจำนวนมาก เจ้าพ่อเทสลาได้ส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นบุกเบิก Roadster ไปให้นายใหญ่ของโตโยต้าทดลองใช้

เมื่อมือหนึ่งแห่งยานยนต์ญี่ปุ่นได้ทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยถูกปรามาสว่าเหมือน “รถในสนามกอล์ฟ” โทโยดะ อากิโอะประทับใจมาก และตกลงที่จะลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ซื้อหุ้น 2.4% ของเทสลา และยังให้ดัดแปลงโรงงานโตโยต้าที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น RAV4

แต่ทว่าเทสลาในยุคบุกเบิกยังคงแก้ปัญหาเสถียรภาพของแบตเตอรีไม่ตก ทำให้รถไฟฟ้ารุ่น RAV4 เผชิญกับปัญหามากมาย ประกอบกับบรรดาผู้อาวุโสในบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ โดยเฉพาะ อุจิมาดะ ทาเกชิ ผู้ให้กำเนิด “โตโยต้า พรีอุส” ฟันธงว่า รถไฟฟ้าไม่มีอนาคตอย่างแน่นอน ทำให้โตโยต้าต้องยุติความร่วมมือกับเทสลา และขายหุ้นที่ถือไว้ทั้งหมด



ความล้มเหลวของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น RAV4 และแรงกดดันจากบรรดาโชกุนเฒ่าในบริษัท ทำให้โทโยดะ อากิโอะ ต้องล้มเลิกแนวคิดเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และหันไปพัฒนารถยนต์ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจนแทน

ความผิดหวังจากการร่วมมือครั้งแรกกับอีลอน มัสก์ และปัญหาที่มากมายที่เกิดขึ้นระหว่างโตโยต้ากับเทสลา เป็นเหมือน “รอยแค้นหลังอกหัก” จากมิตรกลายเป็นศัตรู ความคิดต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าฝังอยู่ในหัวของโทโยดะ อากิโอะ โตโยต้าได้เปลี่ยนจากพันธมิตรผู้ร่วมบุกเบิก กลับมายืนตรงข้ามรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว

นายใหญ่ของโตโยต้าได้โจมตีรถยนต์ไฟฟ้าหลายต่อหลายครั้ง ทั้งบอกว่า ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าเกิดจากการปั่นกระแส, รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และยังบอกว่า หากรถยนต์ในญี่ปุ่นเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้ากันหมดจะทำให้เกิดไฟฟ้าขาดแคลน

แต่เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และได้รับการสนับสนุนจากทั้งผู้ใช้รถและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ นายใหญ่โตโยต้าก็อ้างว่า คนในวงการรถยนต์ส่วนใหญ่ยังสงวนท่าทีต่อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่คนในวงการรถยนต์ญี่ปุ่นยังปิดปากเงียบ ก็เพราะตระหนักว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นกระแสที่มาจริง แต่ว่าไม่อาจจะงัดข้อกับโตโยต้าที่เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น



นิตยสารไทม์ฉบับส่งท้ายปีเก่า 2564 ได้นำอีลอน มัสก์ขึ้นปก พร้อมระบุว่า เขาคือผู้ที่หวังจะช่วยกอบกู้โลก และจะนำพาโลกเข้าสู่ยุคของพลังงานใหม่

การที่นายใหญ่ของเทสลาได้เป็นบุคคลแห่งปี ทำให้นายใหญ่ของโตโยต้านั่งไม่ติด เขาได้บัญชาให้โตโยต้าเข้าสู่ยุคของพลังงานใหม่อย่างเต็มตัว โดยทุ่มเงิน 35,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้าให้โตโยต้าเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 30 รุ่น ภายในปีค.ศ. 2030 รวมทั้งตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 3.5 ล้านคัน

โตโยต้ายังครองแชมป์ขายรถยนต์ได้มากที่สุดในโลก แต่หากมองเฉพาะการแข่งขันในสนามของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ค่ายรถยนต์จากตะวันตกและจีนได้วิ่งนำไปแล้ว ถึงแม้ในวันนี้โตโยต้าได้ตระหนักว่าไม่สามารถต้านทานกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าได้ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะสายเกินไปแล้วหรือไม่



โทโยดะ อากิโอะ ยอมรับในวันที่ประกาศลุกจากตำแหน่งนายใหญ่ของโตโยต้า มอเตอร์ ว่า “ผมเป็นคนรุ่นเก่า” และ “วงการรถยนต์กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ”

ในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะเมทริกซ์” ตัวละครต้องเลือกระหว่างการกิน “ยาเม็ดสีแดง”🔴 ซึ่งจะนำมาซึ่งอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่จะปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสของโลกแห่งความฝัน หรือเลือก “ยาเม็ดสีน้ำเงิน” 🔵 ซึ่งหมายถึงเรือนจำที่สวยงาม แต่จะทำให้เราอยู่ภายใต้ความโง่เขลาที่หลีกหนีจากความเป็นจริง

อีลอน มัสก์ ได้ยืมคำกล่าวในภาพยนตร์ดังมาใช้ โดยระบุผ่านทวิตเตอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ว่า เราต้องยอมรับความจริง แม้ว่าอาจทำให้ชีวิตไม่มั่นคงหรือเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Take the red pill)

นายใหญ่ของเทสลาและค่ายรถยนต์หลายแห่งได้กลืน “ยาเม็ดสีแดง” แล้ว….แต่ไม่รู้ว่า โตโยต้าจะยังคงติดกับดักความสำเร็จเดิม ๆ เลือกกลืน “ยาเม็ดสีน้ำเงิน” ต่อไปอีกนานแค่ไหน.