เพราะรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มมองเห็นความมั่งคั่งและอิทธิพลของธุรกิจยักษ์เหล่านี้กำลังจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของผู้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นทุกที
เดือนก่อนมีข่าวว่า แจ็ก หม่า แสดงตนที่ญี่ปุ่น
และได้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ที่นั่นมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว
หลังจาก “หายตัวไปจากสายตาสาธารณะ” เนื่องเพราะทางการปักกิ่งสั่งตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทเทคโนโลยีของจีนหลายแห่ง
โดยเริ่มที่ แจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบานี้แหละ
ข่าวเดือนก่อนบอกว่า แจ็ก หม่า ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแบบ “รักษาความเป็นส่วนตัว” มาก
ใช้เวลากับงานอดิเรกต่างๆ เช่น วาดภาพสีน้ำ สะสมงานศิลปะ แช่น้ำพุร้อน และเล่นสกีในชนบทนอกกรุงโตเกียว
มีคนเห็นแกไปใช้บริการของสโมสรไฮโซสุดพิเศษในย่านกินซ่าและมารุโนะอุจิของโตเกียว
และยังกระทบไหล่กับนักธุรกิจชาวจีนผู้มั่งคั่งที่หลบออกจากจีนและย้ายไปพำนักที่เมืองหลวงของญี่ปุ่นเช่นกัน
ข่าวบางกระแสบอกว่า แจ็ก หม่า ในวัย 58 ปี ได้ส่งไม้ต่อด้วยการมอบอำนาจการบริหารธุรกิจในเครือส่วนใหญ่ให้กับผู้บริหารอายุน้อยแล้ว
และหันไปลงทุนในธุรกิจที่ฉีกแนวเทคโนโลยี โดยเน้นที่กิจกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืนและแก้ปัญหาโลกร้อนแทน
ถามว่าอะไรคือ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้ผู้นำจีนต้อง “จัดการ” กับแจ็ก หม่า
ก็ต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์เมื่อเดือนเดือนตุลาคม ปี 2020
แกขึ้นเวทีวิพากษ์การทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลของจีน
ว่าล้าสมัย ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยที่แจ็ก หม่า จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม คนที่ฟังอยู่ข้างล่างเวทีวันนั้นมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสำคัญทั้งปัจจุบันและอดีตเกี่ยวกับการควบคุมดูแลกฎกติกาทางการเงินของประเทศทั้งนั้น
ไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์วันนั้น ฟ้าก็ผ่าลงที่แจ็ก หม่า ทันที
รัฐบาลจีนสั่งระงับการเสนอขายหุ้น IPO ต่อประชาชนครั้งแรกมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ ของ Ant Group ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเงินออนไลน์ที่ต่อยอดมาจาก Alipay
เป็นแอปชำระเงินผ่านมือถือในเครือของอาลีบาบา
ถือเป็นการ “เบรก” งานใหญ่อย่างกะทันหันที่มีผลทำให้ราคาหุ้นของอาลีบาบาร่วงทันที
แจ็ก หม่า สูญเสียสถานะความเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของจีนอย่างฉับพลันเช่นกัน
ไม่ต้องสงสัยว่าแกรู้ตัวทันทีเช่นกันว่าได้เหยียบตาปลาของผู้มีอำนาจเสียแล้ว
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แจ็ก หม่า ก็เก็บตัวเงียบ ยกเลิกการปรากฏตัวทางทีวีและหลีกเลี่ยงสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมดเช่นกัน
หลังจากเก็บตัวเงียบระยะหนึ่งก็เริ่มมีข่าวว่ามีผู้พบเห็นแกบนเรือยอชต์ลำหนึ่งที่เกาะมายอร์กาของสเปน
และไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยของเนเธอร์แลนด์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
และไปปรากฏตัวที่สนามกอล์ฟในสาธารณรัฐเช็กด้วย
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางการจีนต้องมีความหวาดหวั่นต่ออิทธิพลของธุรกิจเทคโนโลยีของแจ็ก หม่า และเจ้าอื่นๆ คือ การที่ชีวิตประจำวันของคนจีนส่วนใหญ่ผูกติดกับบริการผ่านมือถือมากขึ้นทุกที
ไปๆ มาๆ ชาวบ้านจีนอาจจะมีความผูกพันกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากกว่าศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้
นั่นเท่ากับเป็นการสั่นคลอนฐานอำนาจรัฐอย่างน่าสะพรึงกลัวสำหรับผู้นำของจีนทั้งในพรรคและในรัฐบาล
คนจีนหลายร้อยล้านคนยอมรับว่า ต้องใช้บริการผ่านมือถือ เช่น แอป Alipay ของ Ant Group เพื่อจ่ายค่ากาแฟ หรือแม้แต่สั่งเกี๊ยวมาที่ประตูบ้านหรือเติมมิเตอร์ไฟฟ้า
รวมถึงใช้แอปเพื่อการออมเงิน, กู้เงินและการจับจ่ายใช้สอยทุกประเภท
Alipay มาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันมากขึ้นตลอดเวลาจนแทนบัตรเครดิต
นอกจากนี้ผู้บริโภคจีนก็ยังใช้จ่ายเงินในตลาดออนไลน์ของอาลีบาบามากขึ้นทุกที
เช่น กรณีแอป Taobao ซึ่งแปลว่า “ตามล่าหาสมบัติ” นำเสนอผลิตภัณฑ์เกือบทุกอย่างสำหรับตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของคนจีน
วิธีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่จะ “ต้อนเข้าคอก” บรรดาอภิมหาเศรษฐีทางเทคโนโลยีก็คือ การเน้นถึงนโยบาย “รุ่งเรืองร่วมกัน” (Common prosperity) อันเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการบริหารของเขา
นั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ภาพที่เห็นความมั่งคั่งกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีไม่กี่กลุ่มที่เริ่มส่อไปในทางการผูกขาดตลาดในหลายๆ มิติ ขณะที่ประชาชนคนจีนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ที่ต่ำกว่าที่ควรจะมีนั้นทำให้ สี จิ้นผิง ต้องใช้อำนาจในการ “ปรับดุลยภาพ” ของสังคม
ไม่ช้าไม่นาน บรรดาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของจีนก็ประกาศบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยรัฐบาลในการพัฒนาส่วนอื่นๆ ของประเทศ
ไม่ต้องสงสัยว่าความเคลื่อนไหวพร้อมๆ กันของเหล่ามหาเศรษฐีเหล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะของความบังเอิญ
หากแต่มีแรงกดดันอย่างแรงจากผู้มีอำนาจที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า หากผู้ร่ำรวยทั้งหลายในประเทศจีนไม่แสดงความพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลสร้าง “ความเป็นธรรม” ให้กับสังคมเมืองและชนบท ธุรกิจเทคโนโลยีก็จะถูกมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นอย่างมาก
แจ็ก หม่า กลายเป็นตัวอย่างของกรณี “เชือดไก่ให้ลิงดู” ครั้งนี้อย่างกระจ่างชัด
เราจึงเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในพฤติกรรมของธุรกิจเทคโนโลยีของจีนในช่วงหลังนี้
ที่ต้องแสดง “ความรักชาติ” ด้วยการเสียสละเงินทองเพื่อ “ช่วยชาติ”
เท่ากับว่าใคร “ช่วยรัฐบาล” และ “ช่วยพรรค” ก็เท่ากับ “ช่วยชาติและประชาชน” ไปในตัว
เรายังเห็น แจ็ก หม่า มาเดินเที่ยวในกรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในฐานะ “นักท่องเที่ยว” แทนที่จะเป็น “นักธุรกิจระดับโลก” ที่มาต่อรองเรื่องสร้างเครือข่ายธุรกิจอย่างที่เราเห็นเมื่อหลายปีก่อน.
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.