ฝุ่นตลบ!ชี้ขาด ‘กฟผ.’ ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน.หรือไม่!? สหภาพนัดเคลื่อนพลส่งสัญญาณถึงศาล รธน.



ใกล้ถึงวันที่ศาล รธน.จะวินิจฉัยชี้ขาด ‘กฟผ.’ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน.หรือไม่? ลือสะพัดต่างฝ่ายต่างวิ่งฝุ่นตลบขณะที่ตุลาการศาล รธน.ระมัดระวังตัว ไม่ยอมให้กลุ่มใดพบ ทั้งที่ปิดลับ-สนามกอล์ฟ แต่แสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงรอบด้าน ส่วนสหภาพรัฐวิสาหกิจ ไฟฟ้า-ประปา เตรียมรวมพลเคลื่อนไหวถึงศาล รธน.-ประชาชน   เพื่อรู้ถึงปัญหาหากปล่อยให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่อไป เป็นการขัด รธน.   แถมซ้ำเติมประชาชนต้องเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเพราะค่าไฟฉุดไม่อยู่ !

เรื่องกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่? กำลังเป็นเผือกร้อนในมือศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากันว่าจะมีการวินิจฉัยชี้ขาดในราวสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หรือในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.2566 ซึ่งหลังจากที่ศาล รธน.ได้อาศัยอำนาจตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รธน.2561 มาตรา 27 วรรค 3 สั่งการให้ รมว.พลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาล รธน.กำหนดเสนอมาแล้วนั้น ก็เริ่มมีข่าวลือกันในแวดวงพลังงานและในไลน์กลุ่มวิศวกรไฟฟ้าที่สังกัด กฟผ. กฟน.กฟภ. กระทรวงพลังงานและภาคเอกชน ว่าผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.จะออกมาในทิศทางเสียงข้างน้อย 6 ต่อ 3 ‘ขัด รธน.’

ตรงนี้ก็แปลว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐจะลดลง ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตอยู่ที่ 32% จนเหลือ 1% ก็ตาม เนื่องเพราะเป็นการตีความแบบแยกส่วน นั่นก็คือกำลังผลิตไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างหรือโครงข่ายสาธารณูปโภคไฟฟ้าตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กกพ.ได้ส่งความเห็นไปศาลฯ แล้ว

“ในความเป็นจริง ยิ่งกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลง แต่สัดส่วนไปเพิ่มให้กับภาคเอกชนมากเท่าใด จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนจะต้องจ่ายค่าใช้ไฟแพงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องรับรู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา”



แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน บอกว่า ศาล รธน.ได้มีการสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับแวดวงพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะศาล รธน.ต้องการพิจารณาด้วยความรอบคอบ และต้องอธิบายถึงเหตุผลต่าง ๆ ว่าทำไม? ถึงวินิจฉัยเช่นนี้ ส่งผลให้กลุ่มวิศวกรไฟฟ้าเริ่มมีความหวังที่จะพลิกมติจากเสียงข้างน้อยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ให้มาเป็นเสียงข้างมากว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการขอข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องย้อนหลังเรื่องกำลังผลิต โครงสร้างการลงทุน และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้ง กฟผ.เป็นต้น

“ใครเป็นเพื่อนกับใครที่เป็นตุลาการศาล รธน. ก็พยายามจะต่อสาย พูดง่าย ๆ วิศวกร กฟผ.ก็คอยเช็กว่าแนวโน้มตุลาการ จะตัดสินไปทางไหน บริษัทเอกชนเองก็วิ่งกันให้วุ่น เพราะข่าวลือมันก็มีหลายทิศทาง เอกชนก็กลัวว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกว่าขัด รธน.ก็จะมีปัญหามากมายตามมา ซึ่งกำลังจะมีการประมูลอีก5 พันเมกะวัตต์ ก็จะเป็นปัญหาได้ แต่ถ้าไม่ขัด เอกชนไม่เดือดร้อน มีแต่จะสดใสเพิ่มขึ้น ส่วน กฟผ. กฟน. กฟภ.ก็ทำตามหน้าที่กันต่อไป ประชาชนก็ใช้ไฟแพงขึ้นเท่านั้นเอง”

แหล่งข่าว บอกอีกว่า จากการพูดคุยทำให้รู้ว่าตุลาการศาล รธน.ระมัดระวังตัวมาก ๆ จะไม่ไปพูดคุยกับใครหรือให้กลุ่มใดพบในที่ปิดลับ หรือไปตีกอล์ฟ กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเด็ดขาด โดยเฉพาะบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน เพราะหากใครไปเห็นหรือนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยจะทำให้ภาพลักษณ์ของตุลาการฯเสียหายอย่างยิ่ง ว่ากันว่าในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ตุลาการฯ ทั้ง 9 ท่าน จะมีการหารือกันภายในและอาจมีการส่งสำนวนความเห็นของแต่ละคนให้อ่านกัน แต่จะยังไม่มีการลงมติ

“อาจจะมีการลงมติในวันที่ 30 ธ.ค.หรือในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.ปี 66 ช่วงเวลาตรงนี้ ยิ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเร่งใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อโน้มน้าวศาลฯ ตัดสินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเอง”

 ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ นิด้า

นอกจากนี้การที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เสวนา ประกอบด้วย นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ นิด้า, รศ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากสถาบันนานาชาติสิรินทร, ผศ.ประสาน มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค และนายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

โดยในเวทีเสวนาได้ข้อสรุปชัดว่า การบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าของรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผิดพลาด เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานปล่อยให้เอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนทั้งที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้ามีกำลังผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 68 ขณะที่ กฟผ. ซี่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการผลิตไฟฟ้าของรัฐกลับมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียงร้อยละ 32 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56

ที่สำคัญประเด็นความเห็นของ ศ.ดร บรรเจิด ในวงเสวนา ว่าไปแล้วทำให้กลุ่มวิศวกรและประชาชนที่รับฟัง รู้สึกมีความมั่นใจว่าศาล รธน.จะวินิจฉัยไปในมุมเดียวกับ ศ.ดร.บรรเจิด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและตีความแบบตรงไปตรงมาตามหลักกฎหมายมหาชน ว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.บรรเจิด ตีความในประเด็นการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าว่า การพิจารณาความหมายของ โครงสร้างและโครงข่าย ต้องพิจารณาองค์ประกอบของกิจการสาธารณูปโภคนั้น ๆ ควบคู่ไปกับเนื้อความ ตามมาตรา 56 ของ รธน.ปี2560 วรรค 2 ที่ระบุว่าโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้

ดังนั้นการดำเนินการของรัฐบาล ที่ส่งผลให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าร้อยละ 51 ซึ่งกระทบต่อหลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ



ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มวิศวกร กฟผ.บอกว่า จากข้อมูลเรื่องโครงสร้าง โครงข่าย โรงไฟฟ้าทุกประเภท รวมไปถึงกำลังผลิตไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิง ฯลฯ ที่เรามีอยู่ในมือทั้งของ กฟผ.และบริษัทเอกชนทั้งหมด ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเชื่อว่าจากนี้ไปพวกเราจะหยุดนิ่ง รอศาล รธน.วินิจฉัยชี้ขาดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความเห็นของ ศ.ดร บรรเจิด จุดประกายที่ทำให้กลุ่มวิศวกร กล้าและมีความหวังเพิ่มมากขึ้นว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีโอกาสจะเป็นไปในทิศทางที่ขัดรัฐธรรมนูญได้

“เราคุยกันแล้วว่าจะร่วมเคลื่อนไหวโดยกลุ่มสหภาพรัฐวิสาหกิจทั้งไฟฟ้า ประปา และอาจมีรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ เข้ามาร่วมอีก เพื่อส่งข้อมูลและสัญญาณไปให้ศาลฯได้รับรู้ ก่อนจะมีคำวินิจฉัยออกมาว่าจะปล่อยให้สาธารณูปโภครัฐต้องกลายเป็นของเอกชนไม่ได้ เพราะนอกจากจะขัด รธน.แล้ว ยังจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน สาหัสมาก”

จากนี้ไปต้องจับตาการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันศาล รธน.ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ว่ากันว่าจะมีทั้งม็อบสหภาพลงถนน และขบวนการแบบใต้ดิน บนดิน เพื่อให้ตุลาการศาล รธน. มีคำวินิจฉัยออกมาว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องกำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับพวกพ้องหรือประชาชนกันแน่ เพราะข่าวลือล่าสุดทุกฝ่ายยังพอมีความหวังจะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการได้อีก…จริงหรือไม่!?

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline?utm_medium=copy_link

Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv