‘ปิยบุตร’ลั่นรื้อระบอบประยุทธ์ ชงตั้งผู้ตรวจการกองทัพ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 เม.ย. ที่ห้อง LT1 ชั้น 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Re-Solution จัดกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญใหม่  6 เมษา! เริ่มนับหนึ่ง #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์  พร้อมเสวนาวิชาการ โดยมีนายประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.พูดถึง “ระบอบประยุทธ์ : ทหาร ทุน วงจรอุบาทว์การเมืองไทย”  น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระพูดถึงการ “เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป : ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ‘ไอติม’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึง “ล้ม วุฒิสภา : เดินหน้าสภาเดี่ยว” นายปิยบุตร แสงกนกกุล พูดถึงการ “โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ” และ “ล้าง มรดกรัฐประหาร : หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย

นายปิยบุตร กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของพลเมือง ดังนั้นอย่ารังเกียจการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้คนไม่กี่คนเข้ามาตัดสินชะตากรรมของพวกเรา ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 หรือระบอบประยุทธ์คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไม่ได้แก้ทั้งฉบับโดยครอบคลุม 4 ประเด็นทั้งการโละ สว. โละศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่เป็นมรดกของรัฐประหารสืบทอดอำนาจมาสู่ปัจจุบัน เราอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็นรวมทั้งหมด 1 และหมวด 2 แต่ครั้งนี้ทำ 4 ประเด็นก่อนเพราะเป็นใจกลางของปัญหา มีโอกาสเหมาะเราจะทำใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงประชาชนสามารถต่อต้านรัฐประหาร และห้ามศาลรับรอง และเราสนับสนุนสภาเดี่ยวเพื่อติดอาวุธให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วย

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า วันนี้กองทัพเป็นแดนสนธยาตรวจสอบไม่ได้ ตรวจสอบยาก ผู้บัญชาการทหารบกมักบอกว่าปฏิรูปกองทัพอยู่ ดังนั้นถ้าอยากให้กองทัพตรวจสอบได้จริงสอดคล้องกับหลักการรัฐบาลพลเรือนต้องอยู่เหนือกองทัพจริงๆ คิดว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้ ตนจึงเสนอให้มีผู้ตรวจการกองทัพ 10 คน ฝ่ายค้าน 5 คน ฝ่ายรัฐบาล 5 คน เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมาณกองทัพ รายได้จากการเปิดสนามกอล์ฟ สนามมวยไปอยู่ที่ไหน งบฯ แต่ละปีจะไปใช้ทำอะไร ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ค่าส่งเท่าไหร่ ค่าน้ำจิ้มเท่าไหร่ รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนจากทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกผู้บัญชาปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ยังเสนอให้ผู้ตรวจการกองทัพเข้าไปเป็นกรรมการสภากลาโหม จากเดิมที่เป็นทหารทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการตัดสินใจต่างๆ ของสภากลาโหม 

“และที่ผมขอเสนออีกเรื่องคือให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ซึ่งที่จริงตามหลักการระบบรัฐสภานั้น ไม่จำเป็นว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ในต่างประเทศก็ไม่จำเป็น แต่ขอย้ำว่าประเทศไทยจำเป็น เพราะหากไม่เขียนเอาไว้จะเจอนายทหารเข้ามาเป็นนายกฯ ทุกครั้ง ดังที่ปรากฏให้เห็นในกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ดังนั้นเราต้องเขียนให้ชัด” นายปิยบุตร กล่าวและว่า ห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร

This image is not belong to us

นายประจักษ์ กล่าวว่า ระบอบประยุทธ์ มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นระบบที่ให้อำนาจกับทหาร ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และกิจการที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์ อีกด้านคือการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อกลุ่มทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นทางการ คำว่า ระบอบ หมายถึงสิ่งที่ใหญ่กว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบอบประยุทธ์ จึงไม่เท่ากับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น เป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะระบอบประยุทธ์ หมายถึง เครือข่ายผลประโยชน์ที่แวดล้อมพล.อ.ประยุทธ์ ไล่ประยุทธ์อย่างเดียวไม่จบ เพราะจะมี ‘พล.อ.’ อื่นเข้ามาแทน เป็นการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น ต้องทำให้การรัฐประหารเป็นความผิดที่ไม่มีอายุความ สามารถนำผู้ก่อการมาลงโทษพิพากษาได้

นายประจักษ์ กล่าวว่า โครงการที่สำคัญคือ นโยบายประชารัฐ ทุนนิยมแบบช่วงชั้น ทั้งแจกเงิน และแจกขัน การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ให้เข้ามาคุมอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้เสียสมดุล เปิดให้กลุ่มทุนในเครือข่ายเข้าถึงทรัพยากร และข้อมูลของรัฐ ทั้งยังมีตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยังพบกลุ่มทุนเหล่านี้ในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ที่มีนอมินีเป็นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงเป็นระบอบที่ชะลอการกระจายอำนาจ ทำให้ระบอบราชการอ่อนแอ ให้ทหารใช้อำนาจแบบสมบูรณาการ ที่มีการออกคำสั่ง คสช. จำนวนมากไปย้ายข้าราชการแบบไม่มีการสอบสวน และไม่เป็นธรรม ตรงข้ามกลับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ย้ายข้าราชการแค่คนเดียวก็หลุดจากตำแหน่ง

“ระบอบประยุทธ์เป็นรัฐที่ใช้ความรุนแรง และกฎหมายเพื่อกำจัดคนเห็นต่าง ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยลดลง เป็นระบอบ ขุนศึก-ศักดินา-พ่อค้า วันนี้คือจุดนับหนึ่งเพื่อรื้อถอนเงื่อนไขของระบอบคณาธิปไตย ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนให้ออกจากอำนาจไป” นายประจักษ์ กล่าว

น.ส.สฤณี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นโซ่ตรวนล่ามประเทศเอาไว้ วันนี้เรามียุทธศาสตร์ชาติแต่กลับเป็นชาติที่ยังไม่มียุทธศาสตร์อะไร ผูกมัดไม่ให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เสี่ยงที่จะเป็นเครื่องมือแกล้งขั้วตรงข้าม ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติมีการวางเป้าหมายไว้ทุก 5 ปี ซึ่งปี 2565 ก็จะเป็นหมุดหมายแรกที่ประกาศใช้ แต่รายงานสรุปการดำเนินงานประจำปี 2563 ทำโดยสภาพัฒน์ปรากฏว่า จะมีแผนแม่บทและแผนแม่บทย่อยทั้งหมด 177 เป้าหมาย บรรลุผลเพียง 19% เท่านั้น ดังนั้นเหลืออีก 1 ปี 8 เดือนที่จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย ที่เหลืออยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางออกคือเลิกใช้สิ่งเหล่านี้และกลับไปสู่ครรลองของประชาธิปไตยปกติ ปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ มีอิสระเสรีแข่งขันการสร้างนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่าการมีสภาเดี่ยวจะทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น แต่ถ้ายังไม่เป็นสภาเดี่ยวระบอบประยุทธ์ก็ยังสามารถแต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนมาร่วมลงชื่อกับเรา โดยขอฝากข้อความถึงกลุ่มคนที่กำลังพยายามจะดึงสังคมไปข้างหน้า ว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง ถึงแม้เราจะไม่รู้อนาคตอีก 6 เดือนหลังจากครบแคมแปญนี้แล้วไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่หากมีจังหวะเวลาที่เราพร้อมจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เข้าไป และหากผ่านได้จริงก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ดีกว่าเราไม่ทำอะไร จึงขอให้กำลังใจทุกคนที่พยายามจะต่อสู้

ส่วนกลุ่มที่คิดว่าเป็นผู้ควบคุม เป็นเจ้าของ หรือได้ประโยชน์จากระบบที่ล้าหลัง หรืออาจจะคิดว่ามีปืน มีอำนาจ มีกองทัพอยู่ในมือ แต่เกมชักเย่อนี้สังคมมีแต่จะก้าวหน้าไปข้างหน้า วัฒนธรรมประชาธิปไตยมีแต่จะเบ่งบานก็เรื่อยๆ หากยังพยายามรั้ง ไม่เดินไปข้างหน้า สักวันหนึ่งเชือกจะขาด คนที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือพวกคุณ ดังนั้นขอให้เดินไปพร้อมกัน และกลุ่มสุดท้ายที่อยากฝากคือกลุ่มที่ออกตัวเป็นคนกลาง ซึ่งคำว่า resolution นั้นไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่ต้องการจะรื้อระบอบประยุทธ์ ต้องการให้คนมี 1 สิทธิ์1 เสียงเท่าเทียมกันในการเลือกใครมาเป็นนายกฯ ไม่ใช่ คสช.ที่มีอำนาจมาเลือกไม่ว่าจะเป็นใคร แต่สามารถแข่งขันบนกติกาการที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี สว. 250 คนมาให้ท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. พิธีกรได้มีการประกาศว่า การนับยอดล่าสุด เวลา 18.00 น. วันที่ 6 เม.ย. มีผู้ร่วมลงรายชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้ว 1,000 คน.