“ผมเคยบอกแล้วว่าการชี้แจงอะไรต่างๆ ต้องผ่านมติของ ศบค. ก่อน เนื่องจากสถานการณ์ในกรุงเทพฯ มีการระบาดอยู่มากในขณะนี้ ก็จำเป็นต้องชะลอไปก่อน” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา ถึงกรณี ศบค. ชะลอมติของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ที่ผ่อนปรนเปิดสถานที่ 5 ประเภท ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ ร้านสัก/ทำเล็บ คลินิกเสริมความงาม ร้านนวด และสวนสาธารณะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ภายใต้มาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
โดย กทม. เพิ่งแถลงข่าวในช่วงเที่ยงของวันที่ 31 พฤษภาคม ก่อนที่ ศบค. จะสั่งให้ ‘ชะลอ’ คำสั่งดังกล่าวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ซึ่งบางคนเรียกว่า ‘เบรกหัวทิ่ม’ มากกว่า เพราะผู้ประกอบการเตรียมเปิดให้บริการในวันถัดมา พนักงานโดยเฉพาะร้านนวดเพื่อสุขภาพ/นวดแผนไทยที่อยู่ต่างจังหวัดจองตั๋วกลับกรุงเทพฯ ในขณะที่ลูกค้าก็เตรียมตัวไปใช้บริการ หรือแม้กระทั่งจองคิวล่วงหน้าแล้ว
แต่ร้านดังกล่าวกลับถูกสั่งให้ปิดต่อไปอีก 14 วัน ทำให้หลายคนสงสัยว่าทำไม กทม. และ ศบค. ถึงไม่คุยกันก่อน ซึ่งเป็นปัญหาที่ ‘การสื่อสาร’ ของหน่วยงานรัฐ อย่างช่วงที่ผ่านมาเพจของกรมควบคุมโรคโพสต์บอกว่า เนื้อหาของอีกหน่วยงานหนึ่งเป็น Fake News หรือเมื่อตอนต้นปี 2564 ที่ กทม. ประกาศให้นั่งร้านอาหารได้ไม่เกินเวลา 19.00 น. แต่ต่อมานายกฯ สั่งให้ กทม. ยกเลิกคำสั่งและขยายเวลานั่งร้านอาหารออกไปถึงเวลา 21.00 น.
ทว่า นี่กลับสะท้อนปัญหา ‘โครงสร้างการบริหาร’ ที่ ศบค. มอบอำนาจให้กับแต่ละจังหวัดตัดสินใจ แต่บางเรื่องก็รวบอำนาจไว้เอง รวมถึง ‘การควบคุมโรค’ ที่ไม่มีหลักการที่ชัดเจน
จากประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 31) ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นคำสั่งให้ปิดสถานที่ต่างๆ ที่เคยปิดมาแล้วต่อไปอีก 14 วัน สังเกตว่าเป็นการใช้อำนาจของ ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ตามมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด / กทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด / กทม. มีอำนาจ
‘สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด ไว้เป็นการชั่วคราว’
ดังนั้นเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ครั้งที่ 15/2564 (วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) มีมติผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานที่ 5 ประเภท จึงสามารถออกประกาศตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อได้ แต่ประกาศฉบับนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังอ้างถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 ฉบับที่ 20, 22 และ 23
ซึ่งเปรียบเสมือนแนวทางที่ ศบค. กำกับการใช้อำนาจของแต่ละจังหวัดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่ออีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างฉบับที่ 22 ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่สถานการณ์ (กำหนดให้ กทม. เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม), การยกระดับมาตรการในสถานที่บางประเภท เช่น ร้านอาหาร สนามกีฬา/สถานที่ออกกำลังกาย ร้านสะดวกซื้อ/ห้างสรรพสินค้า, การ Work from Home เป็นต้น
ที่สำคัญหากย้อนไปถึงฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 ซึ่ง กทม. อ้างถึงในการปิดสถานที่ (มีสถานที่ 5 ประเภทที่จะผ่อนปรนรวมอยู่ด้วย) เมื่อปลายเดือนเมษายน ศบค. มอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ‘อาจพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่… ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดได้”
ดังนั้นนอกจากการปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ ศบค. ระบุไว้โดยตรง ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดน่าจะมีอำนาจในการปิด-เปิดสถานที่อื่นๆ โดยไม่ต้องเสนอให้ ศบค. อนุมัติก่อน ทว่า ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นเช่นนั้น อย่างกรณีการผ่อนปรน 5 สถานที่นี้ ถึงแม้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ได้พิจารณาข้อเสนอจากภาคเอกชนแล้วว่าไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดหรือแนวทางของ ศบค.
“แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ เรื่องท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. สามารถมีนโยบายหรือข้อกำหนดที่แตกต่างจากนั้นได้ เพราะว่าท่านมองในภาพรวม” พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 “อันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะเป็นการให้ข่าวในขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่ได้มีการประกาศออกมา”
สำหรับเหตุผลที่คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. มีมติผ่อนปรนสถานที่ 5 ประเภทนี้ เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่พบในชุมชน (น่าจะหมายถึงชุมชนแออัด) ตลาด แคมป์คนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมโรค และสถานการณ์การระบาดยังคงทรงตัวอยู่ในเฉพาะคลัสเตอร์ดังกล่าว ในขณะที่สถานประกอบการบางประเภทไม่พบคลัสเตอร์การระบาดแต่อย่างใด
จึงเห็นชอบให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการบางประเภทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ภายใต้มาตรการของรัฐที่กำหนดอย่างเคร่งครัด (เนื่องจาก กทม. ประกาศปิดสถานที่ จึงไม่พบการระบาดในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ก่อนหน้านี้ ศบค. เคยนำเสนอปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อในเดือนเมษายนไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงถึงสถานที่ 5 ประเภทนี้)
ดังนั้นการปิดสถานที่ 5 ประเภทนี้ต่อจึงไม่มีหลักฐานจากการสอบสวนโรคสนับสนุน และเมื่อประเมินโอกาสเกิดการแพร่เชื้อในแต่ละสถานที่อยู่ในระดับต่ำ-ปานกลาง เพราะทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสามารถสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการให้ไม่แออัด (เหมือนนั่งประชุมในห้องประชุม) และจำกัดระยะเวลาในการให้บริการได้
สวนสาธารณะยังเป็นพื้นที่นอกอาคาร มีคุณสมบัติตรงกับสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ซึ่ง ศบค. อนุญาตให้สามารถเปิดบริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ในข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 22 (โฆษก ศบค. ยกตัวอย่าง สนามกอล์ฟ ในวันที่ชี้แจงข้อกำหนดฉบับนี้) ดังนั้น ศบค. จึงควรผ่อนปรนให้เปิดสวนสาธารณะเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้มติผ่อนปรนของ กทม. นี้เป็นการเปิดอย่างมีเงื่อนไข เช่น ร้านนวดเพื่อสุขภาพ/นวดแผนไทย ให้งดเว้นการอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า เพื่อให้ผู้มารับบริการยังสวมหน้ากากอนามัยอยู่ หรือสวนสาธารณะที่ห้ามนั่งรวมกลุ่มและไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้นน้ำดื่ม แต่ถ้าหาก ศบค. ยังมีความกังวล ก็อาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น
สถานการณ์การระบาดใน กทม. ยังน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลง ข้อเสนอเรื่องผ่อนปรนมาตรการในระหว่างนี้สร้างความลำบากใจให้กับ ศบค. ไม่น้อย แต่ถ้ามาตรการนั้นไม่ได้มีผลต่อการควบคุมโรคตั้งแต่แรกและยังทำให้เกิดผลเสียตามมา ก็ไม่ควรดำเนินมาตรการนั้นต่อไป จึงขอให้ ศบค. ทบทวนการตัดสินใจ ชะลอการผ่อนปรนนี้อีกครั้ง หรือเตรียมการผ่อนปรนในอีก 14 วันข้างหน้า
โดยประเมินความเสี่ยงในการแพร่เชื้อของสถานที่ที่ถูกปิดในขณะนี้ควบคู่กับการประเมินความจำเป็น ซึ่งไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่อาจรวมถึงด้านสุขภาพกายและใจด้วย หากสถานที่นั้นมีความเสี่ยงต่ำ เช่น สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด สวนสาธารณะ ควรอนุญาตให้เปิดได้ ส่วนสถานที่ที่มีความจำเป็น เช่น ร้านนวด ร้านทำเล็บ อาจผ่อนปรนให้เปิดโดยจัดการความเสี่ยง เหมือนกับร้านทำผม
สุดท้ายขอให้ ศบค. เห็นปัญหาโครงสร้างการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ‘ระดับจังหวัด’ ว่ามีความทับซ้อนกันระหว่างอำนาจผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ กับ ผอ.ศบค. ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ความจริงยังมีศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ ผอ.ศบค. แต่งตั้งซ้อนขึ้นมาอีกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564) ทำให้การตัดสินใจของผู้ว่าฯ กทม. ไม่คล่องตัว และสร้างความสับสนให้กับประชาชน
อ้างอิง:
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.