วันนี้ (22 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 3/2563 ว่า คณะกรรมการชุดนี้รวม 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนมาตรการนำนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเข้าประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และเรามั่นใจว่าระบบคัดกรอง ป้องกันและควบคุมโรคของไทยสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้อย่างดี
นายอนุทิน กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีการพิจารณาเปิดสนามกอล์ฟให้เป็นสถานกักกันโรค (Golf Quarantine) ของผู้เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนปรนสถานกักกันโรครูปแบบเพื่อสุขภาพ (Wellness Quarantine) เนื่องจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นฤดูท่องเที่ยวของกีฬากอล์ฟในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมรายได้ให้กับประเทศไทย พร้อมยังช่วยเหลือผู้ประกอบการสนามกีฬา และแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เช่น จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์
“ในการจัดทำสนามกอล์ฟเพื่อการกักตัว ผู้ประกอบการก็จะสามารถมาขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ ซึ่งจะเหมือนกับการขึ้นทะเบียนสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) เพื่อรับทราบมาตรการป้องกันโรคและนำไปใช้ในสถานที่กักตัว” นายอนุทิน กล่าวและว่า ส่วนในกรณีการลดระยะเวลากักตัวนั้น ตนและ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมนำเรื่องนี้ขึ้นเสนอกับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ด้วยการลดเวลาให้เหลือ 10 วันจากเดิม 14 วัน” นายอนุทิน กล่าวและว่า สธ.กล้าพูดว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมให้มีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ โดย สธ.จะเข้าไปสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อให้ ศบค.รีบดำเนินการอนุมัติมาตรการ
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ได้ประชุมกับ ศบค.ชุดเล็ก ในหลักการของการนำชาวต่างชาวเข้ามารูปแบบของ กลุ่มที่ 1 กลุ่มเมดิคัล สปา (Medical Spa-Spa Quarantine) เพื่อกักตัวและรักษา ผ่อนคลายให้กับนักท่องเที่ยวไปในเวลาเดียวกัน กลุ่มที่ 2 กลุ่มลองเทอมแคร์ (Long Term Care) เป็นนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในไทย ที่ประชุมอนุมัติในรายละเอียดไปแล้ว โดยคาดว่าจะเปิดรับชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศสีเขียวเข้ามาก่อน เพื่อความปลอดภัย ขณะนี้แผนการดำเนินงานสำเร็จแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จให้เห็นได้ใน 1 เดือน และพร้อมเปิดรับชาวต่างชาติกลุ่มแรก
นพ.ธเรศ กล่าวว่า กลุ่มที่ 3 กลุ่มสถานกักกันรูปแบบกีฬากอล์ฟ เบื้องต้นนำเสนอ ศบค.ชุดเล็ก และเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยกำหนดว่าจะต้องมี 1.ที่พัก โรงแรมในสนามกอล์ฟ 2.มีคลับเฮ้าท์ ที่มีร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก 3.สนามมีลักษณะเป็นสนามปิด และ 4.มีข้อกำหนดมาตรการ เช่น จำกัดจำนวน 150-200 คนต่อรอบการออกสนาม การควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA) มีโรงพยาบาลรองรับการดูแลผู้กักตัว เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 3 ครั้ง ในเวลาการกักตัว 14 วัน มีระบบติดตามตัว
“โดยมีสนามกอล์ฟหลายแห่งในไทย ที่ไม่มีการสมัครสมาชิกประจำ ดังนั้น หากเข้ามาร่วมในโครงการเพื่อทำสถานกักกันโรค ก็จะมีเพียงกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่ภายในสนาม โดยเราจะให้กลุ่มหนึ่งอยู่ในสนาม 14 วัน และหากไม่มีการพบผู้ติดเชื้อ เมื่อครบกำหนด ก็สามารถผลัดเปลี่ยนนำกลุ่มต่อไปเข้ามาได้ทันที แต่หากว่ามีการติดเชื้อ สธ.จะต้องเข้ามากำกับดูแลตามมาตรฐาน แต่สิ่งที่ยากคือ การทำความเข้าใจกับชุมชนรอบข้าง เราต้องสื่อสารทำความเข้าใจว่า การทำงานร่วมกันนี้จะส่งเสริมรายได้เข้าชุมชน” นพ.ธเรศ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หลักสำคัญคือ จะต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มที่เดินทางเข้ามากักตัวในสถานกักกันต่างๆ ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่จะต้องเข้ากักตัวตามมาตรการของ สธ. จึงจะต้องนำผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามาก่อน เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้มีแนวคิดในการจัดทำสถานกักตัวแบบกำหนดพื้นที่ (Area Quarantine) เป็นการกักตัวในระยะเวลา 14 วัน ที่ผู้กักตัวสามารถไปในพื้นที่และเส้นทางที่กำหนดได้ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ในสถานที่ท่องเที่ยวและสับหลีกเวลากัน การจัดให้เฉพาะกลุ่มผู้กักตัวเข้าพื้นที่ตามกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
“คุยเรื่องนี้บางจังหวัดแล้ว เช่น ชลบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต ซึ่งมีความคิดเห็นตรงกัน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องไปคุยกับคนในพื้นที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น จัดเส้นทางท่องเที่ยว หาผู้ประกอบการ ฟังเสียงจากคนในพื้นที่ หรือทำประชาคมในเรื่องนี้ ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้ได้ และต้องกระจายรายได้ไปสู่คนในท้องถิ่นด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.