จากประสบการณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นทางเลือกใหม่ ผนวกกับประสบการณ์การดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยมานาน ทำให้ในวันนี้ กฟผ. เดินหน้าพัฒนาบริการภายใต้ธุรกิจใหม่ของ กฟผ. EGAT EV Business Solutions โดยเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ที่มุ่งสร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยความรวดเร็วในการชาร์จแบบ DC Fast Charge ที่จ่ายไฟถึง 120 กิโลวัตต์ภายใน 15–30 นาที และยังชาร์จแบบ AC Normal Charge ที่รองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ทุกค่าย โดยมีเครื่องชาร์จคุณภาพสูงทำให้ผู้ใช้บริการมั่นใจตลอดการเดินทาง
ทั้งนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยถึงความร่วมมือ ระหว่าง กฟผ. และ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PT เป็นครั้งแรกในไทย 5 สถานี โดยจะให้บริการประชาชนชาร์จไฟฟ้าฟรีถึงสิ้นเดือน เม.ย.2564 นี้ เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยช่วง “สงกรานต์ 2564” ซึ่งครอบคลุมสถานีชาร์จ EV ในเขื่อนและสถานีไฟฟ้าของ กฟผ. 13 แห่งด้วย และตั้งเป้าขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EleX by EGAT ให้ได้ 35 แห่งในปี 2564 จะส่งผลให้ กฟผ.มีสถานีชาร์จ 48 แห่งภายในปีนี้ จะใช้เงินลงทุน 90 ล้านบาท
สำหรับ สถานีชาร์จ EV ทั้ง 35 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และเส้นทางหลักสายสำคัญ โดยสถานีชาร์จ EV เหนือสุดจะไปถึงที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานไกลสุดจะไปถึง จ. อุดรธานี และจ.อุบลราชธานี ภาคตะวันออกไกลสุดจะไปที่ จ.จันทบุรี และภาคใต้สุดจะไปถึง อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา ส่วนในปี 2565 จะขยายเพิ่มอีก 35-40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดขนาดใหญ่ คือ เชียงใหม่ และภูเก็ต
สำหรับอัตราค่าบริการจะอยู่ใกล้เคียงกับตลาดที่ 6-8 บาทต่อหน่วย หรือ 1.30 บาทต่อกิโลเมตร โดยในช่วง 3 ปีนี้ กฟผ. จะขยายสถานีชาร์จ EV สำหรับในส่วนของพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PT และพันธมิตร นอกนั้นจะเป็นการติดตั้งในสนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และโรงพยาบาล เป็นต้น โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 3-5 ล้านบาทต่อสถานี
รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย เพื่อสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน
“กฟผ. หารือกับบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาจำหน่วยในไทย เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการตั้งสถานีชาร์จ ให้สอดคล้องกับแผนการตลาด พบว่านอกจาก กทม. แล้วในจังหวัดสำคัญที่จะขยายอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต ดังนั้นจึงเร่งขยายสถานีชาร์จ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด” นายบุญญนิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ปริมาณการใช้รถยนต์ EV จะสูงขึ้นมาก ซึ่งเว็บไซต์บลูมเบิร์ก ได้ประเมินว่าในอีก 4 ปี ข้างหน้า หรือในปี 2568 ราคารถยนต์ EV จะใกล้เคียงกับราคารถยนต์สันดาปทั่วไป เพราะราคาแบตเตอรี่ลดลงมาก จะทำให้ยอดการใช้รถยนต์ EV จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีการใช้รถยนต์ EV 7 แสน ถึง 1 ล้านคัน ดังนั้นจึงต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้พัฒนา Mobile Application Platform “EleXA” เสมือนเป็นผู้ช่วย เพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนา Application นี้ ให้เชื่อมโยงทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ.เพื่อเป็นประโยชน์แก่กลุ่ม และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อมกันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. คือ EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดย EGAT Wallbox เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ารถ EV ขนาดเล็ก ซึ่ง กฟผ. ได้รับสิทธิ์จำหน่ายรายเดียวในไทย ในการเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาให้ลูกค้า ซึ่งเหมาะสมทั้งการติดตั้งในบ้านเรือน และให้บริการกับลูกค้าในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟ ที่มีระยะเวลาในการจอดรถชาร์จไฟฟ้าได้นานกว่าในสถานีบริการน้ำมัน ส่วน EGAT DC Quick Charger เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วฝีมือคนไทยขนาด 120 กิโลวัตต์ จึงช่วยลดต้นทุนให้ผู้ลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Backend EGAT Network Operator Platform (BackEN) จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีเสถียรภาพ และมั่นคง ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.
เผยแพร่: 31 พ.ค. 256…
This website uses cookies.