‘ผี’ ในศตวรรษที่ 21: สำรวจแง่มุมจิตวิทยา ศีลธรรม ทุนนิยม และวัฒนธรรม

ในโลกที่เทคโนโลยีนำพามนุษยชาติไปไกลกว่าเส้นขอบฟ้า ‘ผี’ เป็นประสบการณ์หรือแนวคิดแรกๆ ที่ถูกสั่นคลอนในสังคมปัจจุบัน แต่ทำไมมันยังถึงเป็นส่วนหนึ่งของทุกวัฒนธรรมทั่วโลกเรื่อยมา โดยเฉพาะเทศกาลยอดฮิตอย่าง ‘ฮาโลวีน’

จากพิธีกรรมขับไล่ผีเพื่อต้อนรับปีใหม่ของชาวเคลต์ (Celts) สู่ปาร์ตี้ธีมสีดำ-ส้มทั่วทุกแถบถิ่นแว่นแคว้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ‘ผี’ คือตัวเอกของงานเทศกาลเสมอ

บางแง่มุม เราจะพบว่าผีเป็นปรากฏการณ์ทางประสาทวิทยาและจิตวิทยา ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนวคิดเช่นนี้ปฏิเสธการมีอยู่ของผี ทว่าในอเมริกากลับมีผลสำรวจว่า ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ล้วนมีประสบการณ์เจอผีหลอก และความคลุมเครือเลือนรางใน ‘การมีอยู่’ ของผีสาง ก็เย้ายวนโลกคนเป็น และดูจะทำให้ชีวิตประจำวันกระชุ่มกระชวยจนเป็นคอนเทนต์บนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวางไร้พรมแดน 

ถัดจากนี้ คือแง่มุมของจิตวิทยา ศีลธรรม ทุนนิยม และวัฒนธรรม ที่อาจไขคำตอบได้ว่า ทำไม ‘ผี’ ยังอยู่กับเราในศตวรรษที่ 21

สายัณห์สวัสดิ์: ฮาโลวีนและไสยศาสตร์กินได้

หากลองนำคำว่า ‘Halloween’ ไปค้นใน Google Trends เราจะพบว่า ในเดือนตุลาคมของทุกปี คำคำนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง และพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนโลก ย่อมหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา

ความป๊อปของฮาโลวีน ทำให้มี Google Frightgeist เว็บไซต์ที่ช่วยเลือกคอสตูมสำหรับผู้ที่คร้านคิดว่าจะแต่งองค์ทรงเครื่องแบบใด เราพบว่าใน Top 10 มีเพียงชุด ‘แม่มด’ และ ‘แฟรี่’ เท่านั้นที่ดูเชื่อมโยงกับการไล่ผี ขณะที่ชุดไดโนเสาร์ สไปเดอร์แมน หรือตัวละครจาก Stranger Things ดูจะไม่ได้เกี่ยวกับผีสางแต่อย่างใด

“บางทีมันน่าสะอิดสะเอียน (ไม่ใช่ในแง่ที่น่าขนลุกนะ) ฮาโลวีนเหมือนเป็นวันโปรโมตตัวละครของบริษัทอย่าง Disney ไปแล้ว” ปาทริส อะโพดาคา (Patrice Apodaca) อดีตนักเขียน Los Angeles Times แสดงความคิดเห็นบนบล็อกของเธอ กระนั้นก็ไม่ปฏิเสธว่า ตัวเธอเองก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการแต่งตัวให้ลูกน้อยในวันดังกล่าว และฮาโลวีนแบบดั้งเดิมก็ไม่ใช่เทศกาลที่ขับเน้นความสนุกสนานเท่าไรนัก

รากเหง้าของวันฮาโลวีนมีจุดเริ่มต้นจากเทศกาล ‘Samhein’ ในวัฒนธรรมเซลติกที่ครอบคลุมตั้งแต่ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ อังกฤษ และตอนเหนือของฝรั่งเศสในปัจจุบัน

การเฉลิมฉลองจะจัดขึ้นในคืนก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน หลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวและเป็นช่วงต้นของฤดูหนาว ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยจะตั้งกองไฟขนาดใหญ่ พร้อมเผาพืชผลบางส่วนและบูชายัญสัตว์ เพื่อสรรเสริญเทพเจ้าและขับไล่วิญญาณร้าย เนื่องจากชาวเซลติกเชื่อว่าเป็นวันที่โลกคนเป็นและโลกคนตายโคจรใกล้กันมากที่สุด วิญญาณของทั้งสองโลกจึงไปมาหาสู่กันได้ ผีบรรพบุรุษจะถูกต้อนรับ ขณะที่ผีร้ายจะถูกขับไล่ คอสตูมที่ทำจากหนังสัตว์ในยุคแรกจึงมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงวิญญาณร้ายและสร้างความปลอดภัยให้คนเป็น ทว่าความไม่น่าอภิรมย์ของประเพณีต้นฉบับคือ ‘คนเป็น’ ที่ดูเหมือนถูก ‘ผีสิง’ ก็จะถูกเผาเช่นเดียวกับพืชผลและส่ำสัตว์นั่นเอง 

เมื่อจักรวรรดิโรมันยึดครองดินแดนของชาวเซลติก คริสตจักรคาทอลิกจึงมีบทบาทต่อเทศกาล Samhein ทันที พวกเขาเปลี่ยนให้วันสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวเป็นวัน All Souls’ Day และวัน All Saint’s Day เพื่อรำลึกถึงคนตายและยกเลิกจารีตเผาคนทั้งเป็นออกไป All Saint’s Day จึงมีอีกชื่อหนึ่งเป็น All Hallows’ Day ในความหมายที่รำลึกถึงทุกดวงวิญญาณ ทำให้คืนวันที่ 31 ตุลาคม มีชื่อว่า All Hallows’ Evening หรือ Hallowe’en

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การเติบโตของสังคมบริโภคนิยม ทำให้ลูกอม ลูกกวาด เสื้อผ้าหน้าผม ของตกแต่ง รวมถึงเพลย์ลิสต์เพลงตามผับบาร์ทั่วทุกหัวระแหง ล้วนมี ‘Halloween’ เป็นธีมหลักและเป็นเครื่องหมายการค้าของค่ำคืน สิ่งนี้สะท้อนว่า วันฮาโลวีนมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากเสียจน ‘ตัวเอก’ อย่างผียืนไม่ถนัดนัก

ถึงอย่างไร ถ้าเรามอง Halloween เป็นเทศกาลขายของและละเลยแก่นแท้ทางจิตวิญญาณ ก็จะเห็นว่าสังคมทุนนิยมโอบรับทุกอย่างด้วยความเต็มใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ราวต้นทศวรรษ 2000 ชาวอเมริกัน 3 ใน 4 เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ และ 1 ใน 3 อ้างว่าเคยเห็นผีจริงๆ

THE UNINVITED (1944)

ตัวเลขข้างต้นสอดคล้องกับแนวคิด ‘Spiritualism’ ที่ก่อตัวในศตวรรษที่ 19 ซึ่งสาระสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวนี้คือ มนุษย์สามารถติตต่อกับวิญญาณได้ผ่านสารพัดเทคนิค เช่น การทรงเจ้า การใช้กระดานผีถ้วยแก้ว และการถ่ายภาพติดวิญญาณ ซึ่งล้วนสะท้อนว่า มีความพยายามใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์การมีอยู่ของผีเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน 

จิตวิทยาของเรื่องผีๆ

ไม่ว่าผีจะมีอยู่หรือไม่ก็ตาม เดวิด ร็อบสัน (David Robson) ได้เขียนบทความใน BBC Future พร้อมเสนอแนะว่า การยึดถือเรื่องเหนือธรรมชาติไม่ใช่สิ่งใหม่ และใครต่อใครก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์เหนือจริงได้

ร็อบสันเริ่มด้วยเรื่องเล่าของบุคคลนามกระเดื่องในหน้าประวัติศาสตร์โลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เดินทางไปยังทำเนียบขาวและพบผี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีสหรัฐ หลังจากตนอาบน้ำเสร็จและอยู่ในสภาพโป๊เปลือย การเจรจาทางการทูตครั้งนี้ดูท่าอังกฤษจะเสียเปรียบซะแล้ว เมื่อลินคอล์นเพียงส่งยิ้มให้แล้วจากไป ขณะที่ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) นักเขียนชื่อดังชาวสกอตแลนด์ อ้างว่าเขาคุยกับผีผ่านร่างทรงได้ และ อลัน ทัวริง (Alan Turing) เจ้าพ่อ ‘Enigma’ ก็หมกมุ่นอยู่กับการโทรจิต

ผีอับราฮัม ลินคอล์น

จะเห็นว่า แม้แต่คนที่สมาทานหลักเหตุและผลอย่างวิทยาศาสตร์ ก็สามารถข้องแวะกับสิ่งที่ถูกมองว่างมงายได้โดยง่าย

มีข้อถกเถียงมากมายสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คำอธิบายที่น่าสนใจคือ มันอาจเป็นปรากฏการณ์ทางประสาท ร็อบสันยกตัวอย่างนักจิตวิทยาหนุ่มชาวอิตาเลียน ซึ่งพยายามจ้องมองกระจกเพื่อค้นหาผีที่อาจจ้องเขากลับมา การทดลองนี้ยืนยันว่าการที่เราเห็นใบหน้าครึ่งเดียวของตนในกระจก โดยปิดหน้าอีกซีกไว้ สมองจะเริ่มร่างภาพตัวเราอีกครึ่งเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ภาพอีกซีกอาจปรากฏขึ้นตามความทรงจำที่เรามี และเมื่อผสมกับความเหนื่อยล้า เหล้ายา แสงสลัว-แสงสว่าง ตลอดจนความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย นั่นจึงทำให้เราเห็นภาพหลอนของเงา ปิศาจร้าย คนชรา หรืออะไรก็ตามแต่ที่จินตนาการจะพาไปถึง

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสายศาสนายังมีสมมุติฐานว่า เรื่องอาถรรพ์ลึกลับอาจเป็นเกราะป้องกัน ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นกับปัจเจกอย่างคาดไม่ถึง เช่น ความตายของคนใกล้ชิด ภัยพิบัติ หรือการต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ สมองจะดิ้นรนหาคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่ทั้งสับสนและไร้เหตุผลสำหรับตัวปัจเจกเอง

เจนนิเฟอร์ วิทสัน (Jennifer Whitson) จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้ศึกษารูปแบบการรับรู้ (pattern perception) กล่าวว่า หากเราไม่สามารถควบคุมสภาวะวุ่นวายเหล่านั้นได้ เราจะโอบรับโครงสร้างหรือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา (แม้จะไม่มีอยู่จริงก็ตาม) จากนั้น คือการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่ ตัวอย่างคือ ‘ภาพลวงตาของคนทำงานตลาดหุ้น’ ซึ่งตลาดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่คนทำงานกลับคิดว่าตนสามารถอธิบายสิ่งที่ ‘กำลัง’ หรือ ‘เคย’ เกิดขึ้นได้ มันคือการเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันให้เป็นเรื่องเดียวกัน หรือก็คือความคิดที่ว่าเราสามารถทำนายเหตุการณ์อนาคตได้จากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าจิ้งจกร้องทัก หุ้นจะตก เป็นต้น

ขณะที่ อดัม เวทซ์ (Adam Waytz) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (อิลลินอย) อธิบายว่า เรามักละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ธรรมชาติอยู่เหนือการควบคุม เราจึงคิดว่ามีวิญญาณและปิศาจอยู่เบื้องหลังพายุฟ้าคะนอง เสียงกิ่งไม้เคาะหน้าต่าง หรือเสียงตู้เย็นทำน้ำแข็งท่ามกลางความเงียบสงัดของบ้าน “เราสร้างความเชื่อเรื่องผีขึ้นมา เพราะเราไม่ซื้อความคิดที่ว่าจักรวาลเป็นแบบสุ่ม” เขาสรุป และเรื่องผีๆ ดูจะจริงมากขึ้นเมื่อเราสูญเสียการควบคุมในชีวิตตัวเอง

ฉะนั้น หากมองมุมนี้ เราจะพบว่าบุคคลผู้มีนามกรอย่างเชอร์ชิล โคนัน ดอยล์ และทัวริง ก็สามารถเผชิญภาพหลอน ภาพลวง หรือปรากฏการณ์ทางประสาทได้เหมือนคนทั่วไป

‘ใบหน้าซ่อนเร้น’ ภาพหลอน จินตนาการ และการทำงานของสมอง

การเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การนิยามความหมาย และแรงจูงใจเบื้องหลัง ล้วนเป็นคำอธิบายว่า ทำไมบางคนถือโชคลางอาถรรพ์เสมือนลมหายใจของตน แล้วทำไมบางคนก็เฉี่ยวไปเฉี่ยวมากับโลกทางจิตวิญญาณ หรือบางคนก็ไม่เชื่อเลย

ทาปานี ริเยคกิ (Tapani Riekki) จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ใช้เวลาหลายปีเพื่อตอบคำถามข้างต้น

“มักมีคนพูดเสมอว่า ฉันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนอื่นถึงไม่รู้สึกแบบที่ฉันรู้สึก หรือเชื่อในแบบที่ฉันเชื่อ” เขากล่าว

ริเยคกิทำการทดลองโดยให้ผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาตินอนลงบนเครื่องสแกนสมอง พลางให้ดูภาพเคลื่อนไหวแอนิเมชัน ผลการทดลองพบว่า คนที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ มีแนวโน้มมองเห็นอะไรบางอย่างเบื้องหลังภาพเคลื่อนไหว เช่น จินตนาการว่าเหมือนตนกำลังเล่นเกมอยู่ กลุ่มตัวอย่างนี้ยังมีการทำงานของสมองมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนที่มีผลต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือส่วนที่สัมพันธ์กับทฤษฎีทางจิต (theory of mind) ซึ่งก็คือความสามารถในการระบุสถานะทางจิตของตัวเองและคนอื่น

มากไปกว่านั้น ริเยคกิยังพบว่า กลุ่มที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ มีแนวโน้มมองเห็น ‘ใบหน้า’ ที่ซ่อนอยู่ในรูปถ่าย รวมถึงเห็นภาพหลอนมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่เชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมที่แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเห็นเงาเดินไปมาในแสงที่สลัวเลือนราง และเห็นตัวเลขซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

ภาพจากเฟซบุ๊คเพจ พี่มองเห็นหนูเหรอ

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยึดถือความเชื่อเช่นนี้ พวกเขามีแนวโน้มที่จะจัดการความคิดด้านลบได้ดีและเด็ดขาดกว่า เช่น ถ้าคุณคิดถึงใครสักคน แล้วเขาคนนั้นติดต่อมาพอดี คนกลุ่มนี้จะบอกว่า “มันก็เป็นแค่เรื่องบังเอิญ” ตัดจบสัญญาณจักรวาลและใช้ชีวิตต่อไป ขณะที่เหตุการณ์เดียวกันนี้จะเพิ่มความมั่นใจให้คนที่เชื่อเรื่องโชคลาง แม้ท้ายสุดมันจะอยู่บนชุดข้อมูลที่คลุมเครือก็ตาม

อย่างไรก็ดี อย่าได้ปรามาสเรื่องโชคลางมากเกินไป งานศึกษาเรื่อง Keep Your Fingers Crossed!: How Superstition Improves Performance ชี้ว่า ความเชื่อเรื่องโชคลางสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่สนามกอล์ฟจะบอกว่า “นี่คือลูกนำโชค” หรือกล่าวคำพูดด้านบวกอื่นๆ ก่อนวางบนแท่น จะทำให้นักกอล์ฟมีแนวโน้มทำคะแนนจากลูกนี้ได้ดีกว่าลูกทั่วไป

ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อในปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ การจัดการกับความรู้สึกที่ ‘ตัวตน’ ของเราถูกสั่นคลอน นับเป็นเรื่องสำคัญเพราะโลกวัตถุนิยมสอนให้เราเป็นเช่นนั้น

งานวิจัยของวิทสันเรื่อง Lacking Control Increases Illusory Pattern Perception อธิบายว่า เมื่อรู้สึกไม่มั่นคง เราจะจินตนาการถึงเหตุการณ์แปลกๆ ได้ง่ายขึ้น และนั่นทำให้ ‘ความหวัง’ ที่ควรจะเป็นอารมณ์เชิงบวก สามารถนำไปสู่แนวโน้มในการเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดได้ เพราะความหวังคืออารมณ์ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และหากเราสามารถให้เหตุผลกับไสยศาสตร์ อาถรรพ์ อาคม หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ นั่นเท่ากับว่า ‘ภาพลวงตาแบบอื่น’ อาจทำงานกับเราได้เหมือนกัน 

“การคิดว่าตัวคุณถือไพ่เหนือกว่าเป็นเรื่องง่าย แต่จะฉลาดกว่า หากจะทำความเข้าใจใหม่ว่า เราทุกคนก็ทำพลาดได้เมื่อเสียศูนย์ ฉะนั้น เราควรตรวจสอบและประเมินความคิดความเชื่อของตนเองมากขึ้น” วิทสันกล่าว 

‘ผี’ ความเชื่อที่ร้อยรัดทุกคนบนโลก

ในบทความ How to Live With a Ghost ของ แอนนา โคเด (Anna Kodé) เผยว่า คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่า มีผีอยู่ในบ้านของพวกเขา เดือนตุลาคมปีนี้ Vivint บริษัทรักษาความปลอดภัยในรัฐยูทาห์ เผยผลการสำรวจว่า เจ้าของบ้านราว 500 ราย เชื่อว่ามีผีสิงสู่อยู่ในบ้าน ขณะที่การศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ของ Real Estate Witch แพลตฟอร์มศึกษาข้อมูลสำหรับซื้อ-ขายบ้าน ก็ให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน คือ ร้อยละ 44 ของกลุ่มตัวอย่าง บอกว่าพวกเขาเคยอาศัยในบ้านที่มีผีสิง

นักวิจัยชี้ว่า ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาถรรพ์ชวนขนลุกที่เพิ่มขึ้นและความผูกพันทางศาสนาที่ลดลง คำถามในบทความของโคเดคือ คนจะอยู่กับผีอย่างไร?

สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาแทบไม่มีข้อแตกต่างระหว่างวัย การสำรวจของ Vivint เผยว่า Gen Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012) คิดว่า พวกเขาเคยถูกผีหลอกร้อยละ 65 ขณะที่เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964) คิดเป็นร้อยละ 35

“ด้วยคอนเทนต์มากมายบน TikTok พอดแคสต์ล่าท้าผี และสารคดีเกี่ยวกับอาชญากรรม เราคิดว่าเทรนด์ผีๆ อาจแพร่กระจายไปในคนหนุ่มสาวด้วยเหตุนี้” แมดดี้ ไวร์แมน (Maddie Weirman) หนึ่งในนักวิจัยของ Vivint กล่าวกับ The New York Times 

ตัดภาพมาที่ดินแดนเอเชีย เราจะพบคติเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและวิญญาณร้าย แฝงฝังอยู่ในจารีตประเพณีอยู่เป็นนิตย์ อาทิ เทศกาลสารทจีน ประเพณีชิงเปรต ผีตาโขน ตลอดจนความเชื่อเรื่อง ‘นัต’ หรือ ‘ขวัญ’

การอยู่ร่วมกับผีอาจสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ ‘ผีในห้อง’ มีมของเยาวรุ่นแดนสยาม ซึ่งไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากอะไร สิ่งนี้สะท้อนการยอมรับว่า ผีเป็นสสารตามธรรมชาติที่มีอยู่จริง สอดคล้องกับผลสำรวจของมหาชนชาวอเมริกัน

ทั้งในบทความของโคเดและข้อถกเถียงของชาวไทย-ทวิตเตอร์ ล้วนได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่า ขั้นแรกของการอยู่ร่วมกับผี คือการยอมรับว่า ผีมีอยู่จริง และหาวิธีการจัดการต่อไปตามเงื่อนไขของผีแต่ละตัว

โทค ทอมป์สัน (Tok Thompson) นักวิชาการด้านตำนานวิทยา (mythology) ที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เปิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่า ผีมีแนวโน้มจะหลอกหลอนคนด้วยเหตุผลที่ดี ผีตนนั้นอาจมีความคั่งแค้นจากคดีฆาตกรรมที่คาราคาซัง พิธีศพที่ไม่ให้เกียรติคนตาย การถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งล้วนเป็นโศกนาฏกรรมที่ ‘คนเป็น’ มีศักยภาพป้องกันได้ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนความล้มเหลวเชิงจริยธรรมของคนเป็น ผีจึงมีหน้าที่ทวงคืนความยุติธรรมเหนือหลุมศพและกองขี้เถ้าของตน

เอลิซาเบ็ธ ทัคเกอร์ (Elizabeth Tucker) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน (นิวยอร์ก) เผยว่า มีรายงานการเห็นผีทาสชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และชนพื้นเมืองรอบๆ วิทยาเขตของเธอ ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การสังหารกลุ่มชนเหล่านั้นในพื้นที่นี้จริง

อาจกล่าวได้ว่า ผี คือสภาวะย้ำเตือนศีลธรรมของคนเป็น ว่าในอดีตมนุษย์เคยมีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ไม่ว่าผีจะเป็นเพียงความคลุมเครือไร้ข้อสรุป เป็นกลไกการป้องกันตนเองทางจิตวิทยา หรืออาจเป็นเพียงสินค้าในโลกยุคบริโภคนิยม ท้ายสุด หากมองในมิติวัฒนธรรม ‘ผี’ ใกล้ชิดกับมนุษย์ทุกชาติพันธุ์หลากหลายเทศกาล ทั้ง ‘Día de Los Muertos’ ของเม็กซิโก ‘Samhain’ ของคนไอริชและสกอต ‘Gai Jatra’ ของเนปาล ‘Fed Gede’ ของเฮติ ‘Noaptea Strigoilor’ ของโรมาเนีย ฯลฯ

ราวกับว่า สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างผี อาจเป็นเครื่องย้ำเตือนว่าแท้จริงแล้วมนุษน์นั้นเท่าเทียมและเชื่อมโยงกัน แม้ผีจะไร้ตัวตน แต่ก็ดำรงอยู่อย่างผูกติดแนบชิดกับโลกเสมอมา

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา

ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง