โดย PPTV Online
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
การกักตัวในรูปแบบต่างๆ ทั้ง การกักตัวในสนามกอล์ฟ กักตัวในรีสอร์ตหรือโรงแรม ไปดูการกักตัวรูปแบบใหม่บนเรือยอชต์เป็นแบบ 4.0 ด้วย
ไทยผุดไอเดียรับนักท่องเที่ยว กักตัวบนเรือยอชต์ 14 วัน
เรือยอชต์มูลค่านับพันล้านบาท ที่จอดอยู่กลางผืนน้ำอันดามัน เคยเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของทะเลภูเก็ต สุดยอดแห่งเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่วันนี้ถูกคลื่นโควิด-19 ซัดจนเสียหายอย่างหนัก เฉพาะปี 2563 ภูเก็ตสูญรายได้จากภาคการท่องเที่ยวไปกว่า 3.2 แสนล้านบาท ทำให้ผู้คนในจังหวัดต้องขาดรายได้ ตกงานกันเป็นจำนวนมาก
แต่ล่าสุดก็มีความหวังใหม่อีกครั้ง กับโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ หรือ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย โดยใช้ศักยภาพโครงข่าย AIS NB-IoT และนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ มาใช้กับมาตรการสาธารณสุขเพื่อกักตัวนักท่องเที่ยวบนเรือยอชต์กลางทะเลก่อนเดินทางขึ้นบก ซึ่งเครือข่าย Narrow Band IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม.
ขณะที่ผู้ประกอบการสมาคมเรือยอชต์ ก็ยอมรับว่าโครงการดังกล่าว จะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาโดยเรือยอชต์เป็นนักท่องเที่ยวระดับ อีลิท เพียงแค่มูลค่าเรือแต่ละลำก็สูงถึง 800-1,000 ล้านบาทแล้ว สิ่งสำคัญคือมีการใช้จ่ายสูง เช่น ค่าอาหารระดับแสนบาทต่อครั้ง ค่าจอดเรือหลายหมื่นบาท รวมถึงเมื่อขึ้นฝั่งก็ยังมีการท่องเที่ยวพักวิลล่าหรูระดับหลายสิบล้าน ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้รายได้ที่หายไปกว่า 50- 60% เริ่มกลับมา
เมื่อมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามา ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีอาชีพกันอีกครั้ง ขณะเดียวกันมาตรการสาธารณสุข ก็ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือ ซึ่งโมเดลนี้ก็อาจจะต่อยอดไปได้ในอีกหลายพื้นที่
อีกสิ่งหนึ่งน่าชื่นชมไม่แพ้กัน คือ ความมุ่งมั่นร่วมมือกันเพื่อการแก้ไขอุปสรรค ที่นำให้หลายหน่วยงานสำคัญของไทยมาร่วมมือกันฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นแสงสว่างที่ประเทศไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโต และให้คนไทยได้มีรอยยิ้มอีกครั้ง
การเดินทางวิถีใหม่ เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19